สนามสอบวิชาการระดับชาติที่เด็กไทยใฝ่ฝัน สร้างโปรไฟล์เทพ ๆ จากการแข่งขัน

          แนะนำสนามสอบวิชาการระดับมัธยมศึกษา ที่เด็กไทยหลายคนใฝ่ฝันอยากเข้าร่วมแข่งขัน เพื่อพิสูจน์ศักยภาพของตนเอง และยังสร้างความภาคภูมิใจในฐานะที่เป็นตัวแทนโรงเรียน
สนามสอบวิชาการ

          ในการเตรียมความพร้อมทางวิชาการ นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน การอ่านหนังสือตำราเรียน และการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว การสอบแข่งขันทางวิชาการก็นับเป็นกิจกรรมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง โดยมีจุดประสงค์เพื่อวัดระดับความรู้ของเด็ก เปิดโลกให้รู้จักการแข่งขันที่กว้างขึ้น และไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโรงเรียน สำหรับในไทยนั้นมีการสอบแข่งขันทางวิชาการมากมายในหลายสาขาวิชาทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งวันนี้เรามีตัวอย่างการสอบแข่งขันวิชาการระดับมัธยมศึกษา มาแนะนำว่ามีสนามสอบวิชาการอะไรบ้าง รายละเอียดต่าง ๆ เป็นอย่างไร และการสอบแข่งขันวิชาการแบบไหนที่เหมาะกับเราที่สุด ไปดูกันเลย

การสอบแข่งขันทางวิชาการ
ระดับชาติ

          สนามสอบแข่งขันในระดับชาติมีทั้งแบบที่โรงเรียนสนับสนุนงบประมาณ แต่คัดเลือกโดยหน่วยงานภายนอก และแบบที่โรงเรียนสนับสนุนงบประมาณและคัดเลือกโดยเกณฑ์ตัดสินของโรงเรียนเอง ยกตัวอย่างเช่น

Young Scientist Competition (YSC)

           การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ซึ่งหลังจากการแข่งขัน YSC รอบชิงชนะเลิศเสร็จแล้ว น้อง ๆ นักเรียนผู้พัฒนาบางส่วนจะมีโอกาสได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขัน Regeneron ISEF ซึ่งประกอบไปด้วยสาขาหลักและสาขาย่อย จำนวน 21 สาขา

โครงงานวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษา-สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ

           กิจกรรมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษา ที่สนับสนุน ส่งเสริม และกระตุ้นให้เยาวชนของชาติได้ฝึกการใช้ทักษะ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อเป็นการส่งเสริมเยาวชนให้ใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาและใช้ประโยชน์ในชีวิตประจําวันต่อไป

Thailand Innovation Awards (TIA)

          การประกวดนวัตกรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการใหม่ โดยให้ความสำคัญประเด็นหลัก STEAM for Creative Economy คือ เป็นนวัตกรรมที่ใช้ศาสตร์ด้าน Science, Technology, Engineering, Art และ Mathematics แบบผสมผสาน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ เป็นรูปธรรม อาทิ ทางด้านการเกษตร อาหาร สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน หรืออื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลให้สังคมดี ประชาชนมีสุข อย่างยั่งยืน

CANSAT หรือ CUBESAT Competition

           การแข่งขันสร้างดาวเทียมจำลองที่มีขนาดเล็กจิ๋วเท่ากระป๋องเครื่องดื่ม หรือที่เรียกว่า “CANSAT” โดยปฏิบัติตามภารกิจที่กำหนด

I-New Gen Award

           โครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจและมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นนักวิจัยและนวัตกรในอนาคตได้มีเวทีในการแสดงความสามารถพิเศษด้านการประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งจะนำไปสู่ช่องทางในการขยายฐานบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงประเทศในอนาคต โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 5 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ การเกษตร, อาหาร, สุขภาพและการแพทย์, พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยว

การแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนเครือข่าย

          เป็นเวทีที่ให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในประเทศไทยได้นำเสนอผลงานโครงงาน เพื่อสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากกระบวนการทำโครงงาน เรียนรู้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงวิชาการอย่างสร้างสรรค์ เพิ่มพูนประสบการณ์ในการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ และขยายโลกทัศน์ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งประกอบไปด้วย โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย, โรงเรียนในโครงการ วมว. รวมถึงโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำในอาเซียน และโรงเรียนเครือข่ายของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

การสอบแข่งขันทางวิชาการ
ระดับนานาชาติ

           ส่วนสนามสอบแข่งขันในระดับนานาชาติ มีทั้งแบบที่หน่วยงานภายนอกในระดับนานาชาติเป็นเจ้าภาพจัดงาน รวมถึงสนับสนุนงบประมาณและคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันเอง หรือเป็นเพียงเจ้าภาพจัดงานและเป็นผู้คัดเลือกผู้เข้าแข่งขัน แต่โรงเรียนจะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ และหน่วยงานภายนอกอย่างโรงเรียนในเครือข่ายหรือ Partner ในระดับนานาชาติร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงาน แต่โรงเรียนเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณและคัดเลือกผู้เข้าแข่งขัน ยกตัวอย่างเช่น

International Science Olympiads

           การสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ในด้าน 8 สาขาวิชา ได้แก่ ฟิสิกส์โอลิมปิก (IPhO), เคมีโอลิมปิก (ICho), ชีววิทยาโอลิมปิก (IBO), คอมพิวเตอร์โอลิมปิก (IOI), คณิตศาสตร์โอลิมปิก (IMO), ดาราศาสตร์โอลิมปิก (IAO), ภูมิศาสตร์โอลิมปิก (iGeo) และภาษาศาสตร์โอลิมปิก (IOL)

Regeneron International Science and Engineering Fair (ISEF)

           การประกวดโครงงานด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระหว่างประเทศ ที่จัดประจำปีในเดือนพฤษภาคม ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Society for Science ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในแต่ละปีนักเรียนมัธยมศึกษามากกว่า 1,500 คน จากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก จะเข้าร่วมการประกวดเพื่อชิงทุนการศึกษา ค่าเล่าเรียน การฝึกงาน การทัศนศึกษาทางวิทยาศาสตร์ โดยรางวัลทั้งหมดมีมูลค่ารวมถึง 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

International Young Physicists' Tournament (IYPT)

           การแข่งขันเกี่ยวกับวิชาฟิสิกส์ระดับนานาชาติประจำปี สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา ผู้เข้าแข่งขันจะแบ่งเป็นทีมตามประเทศ ประเทศละไม่เกิน 5 คน โดยเป็นการแข่งขันความสามารถในการแก้ปัญหาปลายเปิดที่ซับซ้อนในทางวิทยาศาสตร์ ผ่านการนำเสนอวีธีทางแก้ไขปัญหาเพื่อหาคำตอบ โดยการแข่งขันมีทั้งการนำเสนอ ซักค้าน และการวิพากษ์ จึงเรียกการแข่งขันว่า “Physics Fights”

Genius Olympiad

           การแข่งขัน GENIUS Olympiad จัดโดย Terra Science and Education และจัดโดยสถาบันเทคโนโลยีโรเชสเตอร์ ในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดโครงการใน 8 สาขาวิชาทั่วไป โดยเน้นด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ หุ่นยนต์ การเขียน ธุรกิจ ดนตรี ภาพยนตร์สั้น

Conrad Spirit Of Innovation Challenge Finalist

           การแข่งขันประกวดนวัตกรรมทางด้าน STEM โดย 2 รอบแรกจะเป็นการคัดเลือกผลงานจากผู้เข้าร่วมแข่งขันทั่วโลก และคัดเลือกทีมผู้แข่งขันจากสาขาต่าง ๆ เหลือสาขาละ 5 ทีม เพื่อเข้ารอบสุดท้าย โดยไปแข่งขันที่ Kennedy Space Center Visitor Complex, Florida ประเทศสหรัฐอเมริกา

Canadian-Wide Science Fair (CWSF)

           งานวิทยาศาสตร์ประจำปีในประเทศแคนาดา ซึ่งจะมีการแข่งขันนำเสนอผลงานโครงงานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) เพื่อให้เยาวชนเรียนรู้วิธีแก้ปัญหา STEM ซึ่งจะเชื่อมโยงกับปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริง

Seoul International Invention Fair (SIIF)

            เป็นมหกรรมจัดแสดงการประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2002 โดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา สาธารณรัฐเกาหลี (KIPO) ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์ สาธารณรัฐเกาหลี (KIPA) มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ และประชาสัมพันธ์ด้านการตลาดของนวัตกรรม

Korea Science Academy Science Fair (KSASF)

           เวทีโครงงานวิทยาศาสตร์และกิจกรรมวิชาการระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสนำเสนอผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งพัฒนาทักษะและความคิดสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้น ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกัน โดยจัดขึ้น ณ Korea Science Academy of KAIST (KSA) เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี

Japan Super Science Fair (JSSF)

           การนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสได้ร่วมแลกเปลี่ยนผลการวิจัยและร่วมนำเสนอโครงงานด้วยกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ร่วมงานได้เห็นถึงผลการวิจัยที่มีกระบวนการที่คล้ายคลึงกันแต่มีตัวอย่างที่ศึกษาต่างกัน จัดขึ้น ณ Ritsumeikan High School เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

International Student Science Fair (ISSF)

           เป็นเวทีสำหรับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศในด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ โดยงานนี้จะรวบรวมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีความหลงใหลในคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมถึงครูและผู้นำโรงเรียน เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาการเรียนการสอนด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์และการศึกษา เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนได้มีโอกาสตีพิมพ์ผลงานวิจัย เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของครูและนักเรียนระหว่างโรงเรียน และทำวิจัยร่วมกัน

Thailand-Japan Student Science Fair (TJ SSF)

          นำเสนอผลงานผ่านการประชุมวิชาการ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและศิลปวัฒนธรรม

The National Consortium of Secondary STEM Schools (NCSSS)

           คือ การรวมตัวของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นโรงเรียนอันดับต้น ๆ ทางด้าน STEM ของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยมีสมาชิกเข้าร่วมประมาณ 100 โรงเรียน นอกจากนี้ NCSSS ยังเปิดโอกาสให้โรงเรียนวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติจากประเทศอื่นอีก 9 โรงเรียนเข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยหนึ่งในนั้นคือโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนจากประเทศไทยเพียงโรงเรียนเดียวที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งในโครงการนี้นักเรียนจะได้นำเสนอผลงานวิจัยของตัวเองและแลกเปลี่ยน รวมถึงการสร้างเครือข่ายกับนักเรียนโรงเรียนอื่น ๆ อีกด้วย
           ไม่เพียงเท่านี้ เพราะในแต่ละปียังมีสนามสอบแข่งขันวิชาการอีกหลากหลายเวทีที่รอให้นักเรียนที่มีความสามารถได้เข้าร่วมแข่งขัน เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถ โดยติดตามรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เลย

นักเรียน KVIS
ประกาศศักดาบนเวทีระดับโลก

           แต่ละสนามสอบแข่งขันวิชาการที่ว่ามาข้างต้นนั้นถือว่าโหดและหินสุด ๆ ต้องใช้ทั้งความรู้ทางวิชาการ ประสบการณ์ ความขยันตั้งใจ ความพยายาม และความอดทนอย่างมาก ซึ่งเด็กนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ก็มีผลงานในการเข้าร่วมการแข่งขันรายการต่าง ๆ ในปีที่ผ่าน ๆ มา เพื่อเป็นการตอกย้ำศักยภาพของเด็กนักเรียนและโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ในฐานะสถาบันที่มุ่งมั่นปลุกปั้นเด็กนักเรียนทุกคนให้กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ จนสามารถส่งนักเรียนไปแข่งขันแล้วได้รางวัลกลับมามากมาย เรามีตัวอย่างผลงานและความสำเร็จบางส่วนมาฝากกันค่ะ

           ทีมผู้แทนประเทศไทยจากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ คว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ให้แก่ประเทศ จากการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 36 ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-25 กรกฎาคม 2566 ณ Kohsar University เมือง Murree สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน

สนามสอบวิชาการ

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก กำเนิดวิทย์ KVIS Today

         รางวัลรองชนะเลิศ การแข่งขันภาษาญี่ปุ่นและความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับญี่ปุ่นระดับประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประจำปี 2566 (J-Challenge 2023) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566

สนามสอบวิชาการ

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก กำเนิดวิทย์ KVIS Today

          รางวัลการประกวดโครงงานในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ภาคตะวันออก ครั้งที่ 40 ในสาขากายภาพ สาขาชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์
สนามสอบวิชาการ

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก กำเนิดวิทย์ KVIS Today

สนามสอบวิชาการ

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก กำเนิดวิทย์ KVIS Today

สนามสอบวิชาการ

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก กำเนิดวิทย์ KVIS Today

สนามสอบวิชาการ

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก กำเนิดวิทย์ KVIS Today

          ทีมนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขัน The 6th International Chemistry Tournament (6th IChTo) ระหว่างวันที่ 18-23 สิงหาคม 2566 ณ เมืองทบิลิซี ประเทศจอร์เจีย (Tbilisi, Georgia)
สนามสอบวิชาการ

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก กำเนิดวิทย์ KVIS Today

         2 ผู้แทนประเทศไทย จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เดินทางกลับจากการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (IOAA) ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 10-20 สิงหาคม 2566 ณ เมืองคอร์ซอว์ สาธารณรัฐโปแลนด์

สนามสอบวิชาการ

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก กำเนิดวิทย์ KVIS Today

           2 นักเรียน KVIS คว้ารางวัลการแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (IOL) ประจำปี พ.ศ. 2566 ณ เมืองบันสโก สาธารณรัฐบัลแกเรีย ระหว่างวันที่ 24-29 กรกฎาคม 2566
สนามสอบวิชาการ

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก กำเนิดวิทย์ KVIS Today

           นักเรียนกำเนิดวิทย์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดทักษะภาษาจีน PIM Young Chinese Contest 2023 ภายใต้หัวข้อ “ร้อง เล่า เล่น เป็นภาษาจีน” ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2566
สนามสอบวิชาการ

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก กำเนิดวิทย์ KVIS Today

          สนามสอบแข่งขันทางวิชาการ ถือเป็นโครงการที่เปิดโอกาสและเป็นพื้นที่ให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพทางการเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหา และการทำงานเป็นทีม รวมถึงเป็นการเปิดโลกกว้างให้ได้เห็นว่าภายนอกโรงเรียนนั้นยังมีคนเก่ง ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้การแข่งขันในสนามสอบสำคัญต่าง ๆ ยังเป็นสะพานข้ามไปสู่การเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศได้อีกด้วย
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สนามสอบวิชาการระดับชาติที่เด็กไทยใฝ่ฝัน สร้างโปรไฟล์เทพ ๆ จากการแข่งขัน อัปเดตล่าสุด 28 พฤศจิกายน 2566 เวลา 17:04:23 30,929 อ่าน
TOP