ไขคำตอบ รถไฟฟ้าสายสีชมพู-สีเขียว จะเชื่อมสายทำไมต้องลงไปอ้อม ?

 

            เพจดังไขคำตอบ รถไฟฟ้าสายสีชมพู กับสายสีเขียว ทำไมยังไม่เปิดให้ผู้โดยสารเดินเชื่อมต่อบนสถานี ชี้ลงไปอ้อมแค่ชั่วคราว เผยซื้อตั๋วข้ามสายนี้ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน
            เปิดให้ใช้บริการแล้ว สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู เส้นทางระหว่าง มีนบุรี - ศูนย์ราชการนนทบุรี ประชาชนสามารถทดลองนั่งได้ฟรีจนถึงสิ้นปี 2566 โดยรถไฟฟ้าสายสีชมพูนั้น ยังเป็นอีกตัวเลือกสำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าเมืองด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว ซึ่งสามารถเชื่อมต่อได้ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ

            อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ยังไม่เปิดให้ผู้โดยสารสัญจรผ่านทางเชื่อมโดยตรงระหว่างเปลี่ยนสถานี ส่งผลให้ประชาชนต้องเดินลงจากสถานีหนึ่งแล้วขึ้นบันไดกลับไปเพื่อขึ้นรถไฟฟ้าอีกสาย จนทำให้มีผู้คนบางส่วนตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดจึงยังเกิดความไม่สะดวกดังกล่าวนั้น


            เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 เพจเฟซบุ๊ก Bangkok Sightseeing ได้ให้ข้อมูลถึงเหตุผลที่ยังไม่เปิดให้ใช้ทางเชื่อมระหว่าง รถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยืนยันว่าการก่อสร้างทางเชื่อมและระบบการจ่ายเงินเสร็จเรียบร้อย และเตรียมพร้อมแล้ว โดยทั้ง 2 สายนี้เชื่อมต่อกันตรง PAID Area (จุดซื้อตั๋ว) ไม่ว่าจะซื้อตั๋วมาจากที่ไหน เมื่อมาถึงที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สามารถเดินไปขึ้นรถขบวนใหม่ได้เลย เหมือนกรณีการใช้งาน สายสีม่วง กับสายสีน้ำเงิน เชื่อมต่อกันที่สถานีเตาปูน โดยที่ไม่ต้องออกจากระบบของสายใดสายหนึ่งก่อน
 
            แต่สาเหตุที่ในปัจจุบันผู้โดยสาร 2 สาย ไม่สามารถเดินเชื่อมถึงกันได้ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เพราะสายสีชมพูยังอยู่ในช่วงทดลองนั่งฟรี ในขณะที่สายสีเขียวนั้นเก็บค่าบริการตามปกติ หากปล่อยให้ผู้โดยสารที่มาจากสายสีชมพูทะลักเข้าไปในระบบของสายสีเขียวผ่านทางเชื่อมต่อที่เป็น PAID Area เมื่อมีผู้โดยสารขึ้นไปใช้บริการของสายสีเขียวต่อ ก็จะมีปัญหาในการจ่ายค่าโดยสารที่ปลายทาง จะทำให้เกิดปัญหาตอนที่จะออกจากระบบ ดังนั้นเมื่อหมดช่วงเปิดให้บริการสายสีชมพูฟรี ก็จะสามารถเดินเชื่อมกันได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องลงมาด้านล่าง

           เรื่องการซื้อตั๋วโดยสารที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เมื่อต้องเปลี่ยนเส้นทางไปอีกสี ผู้โดยสารสามารถซื้อตั๋วของสายสีชมพูได้จากเครื่องจำหน่ายตั๋วของสายสีเขียว และสามารถซื้อตั๋วของสายสีเขียวได้จากเครื่องจำหน่ายตั๋วของสายสีชมพู ยกตัวอย่างคือ การซื้อตั๋วระหว่าง สายสีน้ำเงิน กับ สายสีม่วง ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้

            ทางเพจเฟซบุ๊ก Bangkok Sightseeing ยังระบุด้วยว่า ขณะนี้บีทีเอสได้ดำเนินการอัปเกรดเครื่องจำหน่ายตั๋วไว้รองรับสายสีเขียว สีเหลือง สีชมพู ให้ใช้ร่วมกันได้เหมือนที่สายสีน้ำเงินกับสายสีม่วงใช้ร่วมกันอยู่ในปัจจุบัน



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขคำตอบ รถไฟฟ้าสายสีชมพู-สีเขียว จะเชื่อมสายทำไมต้องลงไปอ้อม ? โพสต์เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2566 เวลา 17:33:14 27,900 อ่าน
TOP
x close