วราวุธ เผยสาเหตุที่ปรับเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทไม่ได้ จำเป็นคงอัตราเดิม เพราะรายได้ไม่สัมพันธ์กัน มีคนเสียภาษีน้อย ชี้ถ้ามีเงิน 3,000 บาทก็ให้ได้ โดยก่อนหน้านี้นโยบายหาเสียงคือ เบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา
วันที่ 5 มกราคม 2567 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ว่า ขอบคุณฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องสังคมที่กระทรวงดูแลอยู่ ทางเราจะนำไปปรับปรุงและเร่งรัดการทำงาน ตนเชื่อว่าข้อมูลที่จะน่าให้ความชัดเจนกับข้อสังเกตของฝ่ายค้านได้
สำหรับเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก ๆ ข้อมูลล่าสุดที่ตนได้มาในเดือนธันวาคม 2566 เรามีผู้สูงอายุเกิน 20% ของประเทศ เทียบกติกาสากล ถ้าอยู่ระหว่าง 7-14% เป็นสังคมผู้สูงอายุ, 14-20% เป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ และถ้าหากเกิน 20% เมื่อใด เป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด ซึ่งในตอนนี้เราอยู่ในระดับสุดยอดเทียบเท่าประเทศญี่ปุ่นเรียบร้อย
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา
สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ การดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำ แต่ศักยภาพในการดูแลเทียบกับเด็กเกิดใหม่ ในปี 2565 มีประมาณ 4 แสนคน จากนี้ไป คนรุ่นหลังจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้มีสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุที่นับวันมีมากขึ้น
ตนไม่อยากให้ประเทศไทย เหมือนบางประเทศในทวีปยุโรปที่คนวัยทำงานเริ่มถอดใจ ขอเกษียณก่อนวัยอันควร ดังนั้นตนคิดว่า สังคมไทยต้องเสริมสร้างศักยภาพให้กลุ่มเปราะบางให้มีความเข้มแข็งมาร่วมพัฒนาสังคม
ตนไม่อยากให้มองว่า ผู้สูงอายุจะต้องเป็นฝ่ายรับฝ่ายเดียว เพราะสังคมผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปี ขึ้นไป หลายคนก็มีสุขภาพกายและใจที่ดี เกิดจากสาธารณสุขไทยที่พัฒนา ดังนั้นสังคมควรให้ความสำคัญกลุ่มนี้ เพราะสามารถทำงานเป็นกำลังสำคัญได้ เหมือนเป็นการยิงกระสุนนัดเดียว ได้นกสองตัว ประเทศได้เงินภาษีเพิ่ม ผู้สูงอายุก็มีกิจกรรมทำหลังวัยเกษียณ เป็นผลดีที่ไม่ต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียง
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวไทย