ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
โคราชวิกฤต เจอโรคไข้หูดับระบาด ยอดพุ่งป่วย 99 ราย ตาย 5 ส่วนทั้งประเทศป่วย 592 ราย เสียชีวิต 32 ราย เตือนอย่ากินหมูดิบ เลือดดิบ ยิ่งปิ้งย่างต้องใช้อุปกรณ์คีบแยกเพื่อความปลอดภัย
วันที่ 5 มกราคม 2567 เรื่องเล่าเช้านี้ รายงานว่า นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ออกมาเตือนเรื่องโรคไข้หูดับ พร้อมนำเสนอข้อมูลล่าสุด นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 16 ธันวาคม 2566 ว่า มีผู้ป่วยโรคนี้ถึง 592 ราย เสียชีวิต 32 ราย
โดยจังหวัดที่มีคนเสียชีวิตมากที่สุดคือ นครราชสีมากับมหาสารคาม จังหวัดละ 5 ราย เมื่อเจาะสถิติเฉพาะผู้ป่วย นครราชสีมามีผู้ป่วยมากที่สุดถึง 99 ราย เกือบ 1 ใน 5 ของยอดผู้ป่วยทั้งหมด (592 ราย) ถ้าคิดอัตราส่วนผู้เสียชีวิตของนครราชสีมา พบว่า ผู้ป่วย 100 คน ตาย 5 คน หรือเท่ากับ 5%
ทั้งนี้ โรคไข้หูดับ เกิดจากการกินเนื้อหมูหรือเลือดหมูสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบหมูดิบหรือลาบเลือดดิบ ซึ่งมีเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส อยู่ในทางเดินหายใจหรือเลือดของหมูที่ติดเชื้อ ส่วนวิธีการติดเชื้อสู่มนุษย์ นอกจากการรับประทานแล้ว ยังมีการติดเชื้อผ่านทางบาดแผลถลอก และเยื่อบุตา
อาการผู้ติดเชื้อ จะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดหัว หนาวสั่น สับสน กระสับกระส่าย ปวดข้อ คอแข็ง และหูหนวก ความสามารถในการได้ยินลดลงเฉียบพลัน หายใจผิดปกติ การทรงตัวแย่ มีจ้ำเลือดทั่วตัว มองเห็นภาพไม่ชัด หนักสุดคือ เสียชีวิตได้เลย ทางป้องกันมีวิธีเดียวคือ กินเนื้อหมูและเลือดที่สุก ผ่านความร้อน 70 องศาเซลเซียสนานถึง 10 นาที
ส่วนคนที่ทานอาหารปิ้งย่าง ควรจะแยกอุปกรณ์ที่คีบหมูดิบกับเนื้อหมูสุกออกจากกัน และไม่ควรทานหมูดิบร่วมกับการดื่มสุรา
ขอบคุณข้อมูลจาก เรื่องเล่าเช้านี้