เด็ก 5 ขวบเผลอดื่มสารไซยาไนด์ ไร้ยาแก้พิษ จึงเกิดเคสร่วมมือ 2 รพ. ส่งยาให้ทันกลางทาง

          เด็ก 5 ขวบเผลอดื่มสารไซยาไนด์ โรงพยาบาลชุมชนไม่มียาแก้พิษ งานนี้ต้องประสานร่วมมือกัน 2 โรงพยาบาล พบกันครึ่งทาง แม้ทางคดเคี้ยวแค่ไหนก็ต้องแข่งกับเวลา เหตุเกิดที่แม่ฮ่องสอน สุดท้ายหมอชนะ


          วันที่ 10 มกราคม 2567 เฟซบุ๊ก ธีรดา วงค์ใจ แพทย์จากโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน มีการเล่าเคส "วิ่งแข่งไซยาไนด์" เมื่อคนไข้วัย 5 ขวบรายหนึ่ง มาโรงพยาบาลขุนยวมด้วยอาการแน่นิ่ง ไม่ตอบสนอง แม่ให้ประวัติว่า น้องดื่มยาแช่เครื่องเงินประมาณ 1 อึก และน้ำยานี้เป็นสารไซยาไนด์


          โรงพยาบาลที่รับเคส เป็นโรงพยาบาลชุมชน ย่อมไม่เจอเคสแบบนี้มาก่อน หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลจังหวัดก็ไม่เคยเจอ ดังนั้นหมอจึงแก้สถานการณ์ด้วยการโทรศัพท์หาศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้กว่าทันที


          ทางอาจารย์แพทย์ ให้คำปรึกษาวิธีการรักษา ต้องใช้ยาหลายอย่าง ยาบางตัวโรงพยาบาลก็มี แต่ยาพระเอกคือ ยาแก้พิษไซยาไนด์ ไม่มีในโรงพยาบาลขนาดเล็กแบบนี้ ต้องรักษาที่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ ที่เป็นโรงพยาบาลจังหวัด ห่างออกไป 60 กิโลเมตร ซ้ำร้ายเส้นทางการเดินทางก็ค่อนข้างคดเคี้ยวเลี้ยวลด จะขับรถไปส่งแบบทำเวลาก็ไม่ได้อีก

          แพทย์ประเมินไว้ว่า ถ้าขับรถไปส่งที่โรงพยาบาลจังหวัด กว่าเด็กจะไปถึงที่หมาย ไซยาไนด์คงทำร่างกายเสียหายไปมาก และเด็กอาจจะเสียชีวิตระหว่างทาง ด้วยเหตุนี้ ทางโรงพยาบาลจังหวัดจึงมีคำสั่งให้พนักงานขับรถ นำยาแก้พิษไซยาไนด์ไปส่งให้โรงพยาบาลชุมชนที่กำลังเดินทางมา จนทั้งสองฝั่งเจอกันระหว่างทาง

          หลังจากเด็กได้รับยาแก้พิษ ก็เริ่มได้สติขึ้นมาบ้าง จากการที่นอนแน่นิ่งไม่ตอบสนองใด ๆ จากนั้นก็ขับรถไปโรงพยาบาลจังหวัดต่อ โดยมีหมอเด็กมารอรับผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉิน แล้วให้ยาแก้พิษซ้ำอีกรอบ ส่งเด็กรักษาตัวที่ห้องไอซียู ติดตามพิษในเลือดจนเช้าอีกวันก็ถอดท่อช่วยหายใจแล้ว

          เคสการรักษานี้ เปรียบเสมือนการวิ่งแข่งกับสารพิษที่เข้าไปทำลายเซลล์ในร่างกาย เรามีหน้าที่ปล่อยยาแก้พิษเข้าสู่กระแสเลือดให้วิ่งเขาไปจับไซยาไนด์ให้มันสิ้นพิษ การแข่งครั้งนี้หมอชนะ


          เฟซบุ๊ก Ramathibodi Poison Center มีการโพสต์ถึงเรื่องดังกล่าวเช่นกันว่า ขอเป็นตัวแทนเจ้าหน้าที่ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ในการขอบคุณโรงพยาบาลทั้ง 2 ที่ช่วยเหลือเด็กได้สำเร็จ พร้อมอธิบายความรุนแรงของพิษไซยาไนด์ไว้ว่า มีความรุนแรงที่ยับยั้งการหายใจระดับเซลล์ ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว และอาจเสียชีวิตหากไม่ได้รับยาต้านพิษทันเวลา และยาต้านพิษนี้สำคัญกับชีวิตเด็กคนนี้มาก เรียกว่าทุกวินาทีมีค่า

          ด้วยความที่เหตุการณ์แนวนี้เกิดไม่บ่อย ยาต้านพิษนี้จึงไม่ได้มีทุกโรงพยาบาล แต่มีระบบการเก็บไว้ในโรงพยาบาลจังหวัดทั่วประเทศให้มีการส่งหรือยืมเพื่อช่วยผู้ป่วยตามระบบของโครงการยาต้านพิษ

          การที่ 2 โรงพยาบาลวางแผนกันช่วยเหลือเด็กด้วยการรับยาแก้พิษระหว่างทาง แล้วส่งตัวน้องไปที่ห้องไอซียู ทำให้ประหยัดเวลาและรักษาชีวิตคนไข้ได้ทันท่วงที แม้เส้นทางจะคดเคี้ยว ทำเวลาได้ยาก การพบกันระหว่างทางก็ยังคงสามารถช่วยคนไข้ได้เป็นผลสำเร็จ

          เรื่องเล่าเช้านี้ รายงานว่า พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย อาจารย์ประจำศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงกรณีนี้ว่า เคสดังกล่าวมาในวันเสาร์ที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา คนไข้อยู่ในอาการเลือดเป็นกรดแล้ว ทางแก้คือ ต้องรีบเอายาต้านพิษไปให้อย่างไวที่สุด ซึ่งต้องชมทั้ง 2 โรงพยาบาลที่ทำได้ดี

          1. วิเคราะห์ได้เร็วว่าเป็นไซยาไนด์

          2. ต้องหาวิธีเร็วที่สุดแข่งกับเวลา


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เด็ก 5 ขวบเผลอดื่มสารไซยาไนด์ ไร้ยาแก้พิษ จึงเกิดเคสร่วมมือ 2 รพ. ส่งยาให้ทันกลางทาง อัปเดตล่าสุด 10 มกราคม 2567 เวลา 16:48:15 10,012 อ่าน
TOP
x close