x close

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รอดคดีหุ้นไอทีวี ไม่ถือว่าเป็นสื่อ เตรียมกลับเข้าสภา ทำงานต่อไม่รอแล้ว

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

          พิธา เตรียมฟังคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ คดีหุ้นไอทีวี ยังมั่นใจในข้อเท็จจริง มั่นใจในบรรทัดฐานการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าผลเป็นคุณหรือโทษ ล่าสุดคำตัดสิน พิธาพ้นความผิด เพราะไอทีวีไม่ถือเป็นสื่อ



          วันที่ 24 มกราคม 2567 ไทยพีบีเอส รายงานว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางมายังศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมเปิดใจกับสื่อมวลชนในคดีหุ้นไอทีวีว่า ยังรู้สึกมั่นใจในข้อเท็จจริงและความบริสุทธิ์ตลอดมา และขอโอกาสนี้ขอบคุณประชาชนและสมาชิกพรรคที่เป็นกำลังใจในการต่อสู้ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นคุณหรือโทษ ก็มีแผนดำเนินงานตลอดทั้งปี ทำงานลงพื้นที่เพื่อประชาชน

          ทั้งนี้ หากคำวินิจฉัยเป็นคุณ และได้กลับเข้าสภาฯ ก็จะหารือประธานสภาฯ ถึงเอกสารต่าง ๆ แต่ขอฟังคำวินิจฉัยวันนี้ก่อน


          ส่วนคำนิยาม ไอทีวี เป็นสื่อหรือไม่ ตนยังมั่นใจในบรรทัดฐานการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกเลือกตั้ง และศาลปกครองสูงสุด ซึ่งรายละเอียดจะเห็นว่าการเป็นสื่อมวลชนต้องมีใบประกอบกิจการ หรือมีข้อแม้ใดบ้าง โดยนำประเด็นนี้ต่อสู้ในชั้นศาลแล้ว แต่เปิดเผยรายละเอียดมากกว่านี้ไม่ได้

          หลังจากนี้ จะมีการแถลงโรดแมปของพรรคโดยวันที่ 25 มกราคม จะมีแขกต่างประเทศมาเยี่ยม ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์นี้ มีลงพื้นที่ภาคเหนือ

          ทั้งนี้ ประชาชนที่มาให้กำลังใจนายพิธา ต่างตะโกนเรียกว่า "นายกฯ พิธา" อีกด้วย

ศาลตัดสิน พิธาไม่พ้นสภาพการเป็น สส. เพราะไอทีวีไม่ใช่สื่อ

          ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญ มีการอ่านคำพิพากษาเกี่ยวกับคดีหุ้นไอทีวี โดยระบุว่า สาเหตุที่นายพิธาไม่พ้นสภาพการเป็น สส. เป็นเพราะไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ ไม่มีรายได้จากกิจการสื่อตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550

เอกสารคำวินิจฉัยฉบับเต็ม พิธารอด 8 ต่อ 1

          เฟซบุ๊ก สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีการลงประกาศเกี่ยวกับคดีดังกล่าว มีรายละเอียดคำวินิจฉัยฉบับเต็ม โดย กกต. ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในการเป็น สส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ เนื่องจากมีการร้องว่านายพิธาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนในวันที่สมัครรับเรื่องตั้ง สส.

          ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คำร้องถูกต้องครบถ้วน จึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง หลักฐานทะเบียนผู้ถือหุ้น วัตถุประสงค์ตามหนังสือบริคณห์สนธิและงบการเงินของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นเหตุเพียงพอให้ผู้ร้องควรเชื่อว่า นายพิธามีลักษณะต้องห้ามในการรับสมัครเป็น สส. รวมถึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

          ขณะที่นายพิธา ขอขยายเวลาการยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาออกไปอีก 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2566 และคำร้องฉบับวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ขอขยายเวลายื่นคำชี้แจงครั้งที่ 2 อีก 30 วัน นับตั้งแต่ครบกำหนดระยะขยายเวลาครั้งแรก ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตตามคำขอ

          จากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เอกสารหลักฐานของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งไต่สวนพยานและรับคำแพลงการณ์ปิดคดีของคู่กรณีรวมไว้ในสำนาน เห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานพิจารณาเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนและกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัย

ผลการพิจารณา

          ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 สามารถรับฟังได้ว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ผู้ถูกร้องจึงไม่ได้มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง สส.

          ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 1 คน ได้แก่ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เห็นว่า สมาชิกภาพของนายพิธาสิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ


ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยพีบีเอส


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รอดคดีหุ้นไอทีวี ไม่ถือว่าเป็นสื่อ เตรียมกลับเข้าสภา ทำงานต่อไม่รอแล้ว อัปเดตล่าสุด 31 มกราคม 2567 เวลา 16:23:37 25,245 อ่าน
TOP