ทลายโกดังทุนจีน ขายเครื่องสำอางปลอม ส่องชัด ๆ ก๊อปยี่ห้ออะไรบ้าง พีคสุดยาสีฟันดัง

          ตำรวจพร้อม อย. ร่วมทลายโกดังทุนชาวจีน ส่งขายเครื่องสำอางปลอม เผยทำมากว่า 2 ปี ยอดขายหมื่นชิ้นต่อวัน อึ้งมีแบรนด์ดังเพียบ ซื้อของจากทางร้านโดยตรงดีที่สุด


          วันที่ 29 มกราคม 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมเจ้าหน้าที่คณะกรรมการอาหารและยา ร่วมแถลงผลการปฏิบัติกรณี ทลายโกดังทุนจีนขายเครื่องสำอางปลอม และเครื่องสำอางเถื่อน โดยลวงขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตรวจยึดของกลาง


          สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ ครีมทารักแร้ ยี่ห้อ "ELA REA" ให้ทำการตรวจสอบกรจำหน่ายเครื่องสำอางปลอมผ่าน TikTok ร้านหนึ่ง เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากลูกค้าที่ซื้อกับทางร้านว่าเนื้อครีมมีลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิม


          เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจสอบร้านค้าออนไลน์ดังกล่าวพบว่า ผลิตภัณฑ์ครีมทารักแร้ ELA RAE ที่จำหน่ายเป็นสินค้าปลอมจริง โดยมีจุดสังเกตหลายจุด เช่น เนื้อครีมมีลักษณะข้น เหนียว สีคล้ำกว่าของแท้ ฉลากพิมพ์ข้อความภาษาไทยไม่ถูกต้อง เช่น เนียนบุ๋ม กลี่น สะอาต เป็นต้น และยังพบว่าร้านค้าดังกล่าวมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอื่น ๆ ที่ราคาถูกกว่าท้องตลาดอีกหลายรายการ จึงทำการสืบสวนจนทราบถึงสถานที่จัดเก็บสินค้าและกระจายสินค้าดังกล่าว

          ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกันนำหมายค้นของศาลอาญามีนบุรี เข้าทำการตรวจค้นโกดังซึ่งเป็นสถานที่จัดเก็บและกระจายสินค้าที่ผิดกฎหมาย ในพื้นที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ โดยขณะตรวจค้นมี น.ส.ชไมพร แสดงตัวเป็นผู้ดูแลโกดังดังกล่าว ตรวจยึดของกลางรวม 36 รายการ รวม 14,720 ชิ้น มูลค่ากว่า 3,600,000 บาท โดยเป็นเครื่องสำอางปลอม และเครื่องสำอางต้องสงสัยว่าปลอม จำนวน 16 รายการ และเป็นเครื่องสำอางไม่มีเลขที่ใบรับจดแจ้งและเครื่องสำอางไม่แสดงฉลากภาษาไทย จำนวน 20 รายการ ประกอบด้วย

          1. ครีม ยี่ห้อ ELA RAE ปลอม

          2. ยาสีฟัน Amway Glister ปลอม

          3. เจเค เอกซ์แลป EX-A เอ็กซ์เอ บอดีครีม (ต้องสงสัยว่าปลอม)

          4. โลชั่น PWB Prink White Bumm (ต้องสงสัยว่าปลอม)

          5. เซรั่ม Neo Hair นีโอแฮร์ แฮร์ทรีทเมนต์ (ต้องสงสัยว่าปลอม)

          6. NAKIZ LIVELY BUTT (ต้องสงสัยว่าปลอม)

          7. KOSE Softymo Speedy Cleansing Oil (ต้องสงสัยว่าปลอม)

          8. CERAVE Foaming Cleanser (ต้องสงสัยว่าปลอม)

          9. CERAVE SA Smoothing Cleanser (ต้องสงสัยว่าปลอม)

          10. CERAVE Moisturising Lotion (ต้องสงสัยว่าปลอม)

          11. CERAVE Hydrating Hyaluronic Acid Serum (ต้องสงสัยว่าปลอม)

          12. CERAVE Resurfacing Retinol Serum (ต้องสงสัยว่าปลอม)

          13. CERAVE AM Facial Moisturizing Lotion (ต้องสงสัยว่าปลอม)

          14. CERAVE PM Facial Moisturizing Lotion (ต้องสงสัยว่าปลอม)

          15. CERAVE Skin Renewing Retinol Serum (ต้องสงสัยว่าปลอม)

          16. ครีมกันแดด BIORE UV 50+PA+++ (ต้องสงสัยว่าปลอม)

          17. เครื่องสำอาง RESTORIA DISCREET COLOUR RESTONG CREAM

          18. น้ำหอม VICTORIA S FLEUR ROSE

          19. น้ำหอม VICTORIA S FLEUR VIOLET PLUM

          20. ครีมทามือตราม้า HORSE OIL

          21. ครีม RTOPR MANGO EXFOLIATING GEL ขนาด 40 กรัม

          22. ครีม AICHUM BEAUTY WHITENING CREAM

          23. ผลิตภัณฑ์ XOERMIOY

          24. กระดาษทิชชูเปียก

          25. ผลิตภัณฑ์ MEIDIAN LOT 23E20A

          26. ผลิตภัณฑ์ YAQINUO AVOCADO MOISTURZING EYE CREAM

          27. ผลิตภัณฑ์ LESSXCOCO CHARMING FRARANCE SOLID BALM

          28. ผลิตภัณฑ์ PSORIASIS CREAM

          29. ผลิตภัณฑ์ CANDY BELLA

          30. ผลิตภัณฑ์ KILO .COTE

          31. ผลิตภัณฑ์ GENITAL WART REMOVER CREAM

          32. ผลิตภัณฑ์ ADVANCED BEAUTIFUL CURVE

          33. ผลิตภัณฑ์ LIPOMA CREAM

          34. ผลิตภัณฑ์ SEOMOU DEEP HYDRATION SERIRS

          35. ผลิตภัณฑ์ MSYAHO VIVID BAKED TERRACOTTA

          36. ผลิตภัณฑ์ SUMIFUN WART REMOVER OINTMENT



          จากการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า โกดังเก็บสินค้าดังกล่าว มีการบริหารจัดการในลักษณะ "เก็บ แพ็กส่ง" หรือ Fulfllment โดย น.ส.ชไมพรฯ พนักงาน แจ้งว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นของ Mr. Shanke (สงวนนามสกุล) นายทุนสัญชาติจีน ซึ่งจะเป็นผู้สั่งสินค้าเครื่องสำอางที่เป็นกระแส และกำลังเป็นที่นิยมในสื่อออนไลน์มาจากประเทศจีน จากนั้นจะนำมาฝากไว้ที่โกดังเก็บสินค้าย่านลาดกระบังเพื่อรอแพ็กส่งให้ลูกค้าชาวไทย

          โดยกลุ่มนายทุนชาวจีนดังกล่าวจะเปิดร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อใช้โฆษณาสินค้า เป็นจำนวนมาก รวม 9 ร้าน เพื่อกระจายการโฆษณาหากถูกปิดกั้นเพจ จากนั้นจะส่งออร์เดอร์-ที่อยู่การจัดส่ง ให้ น.ส.ชไมพรฯ ทำการแพ็กบรรจุ และส่งให้กับลูกค้าชาวไทย โดยจะได้ค่าส่งชิ้นละประมาณ 10 บาท และทำมาแล้วประมาณ 2 ปี โดยมียอดการส่งสินค้าสูงถึง 5,000 - 10,000 ชิ้นต่อวัน


          กรณีผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยว่าปลอมอื่น ๆ อยู่ระหว่างติดต่อให้ บริษัท เจ้าของผลิตภัณฑ์ตรวจสอบและยืนยันเพิ่มเติม และในส่วนตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึด พนักงานสอบสวนจะส่งตรวจพิสูจน์กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หากผลการตรวจวิเคราะห์พบวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง จะเป็นความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง 2558 ฐาน "ขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้" ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          การดำเนินการในครั้งนี้เป็นการจับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม และเครื่องสำอางไม่มีเลขที่ใบรับจดแจ้ง ไม่แสดงฉลากภาษาไทย จึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทางสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีราคาถูกเกินกว่าปกติ หรือโฆษณาโปรโมชั่นการตลาดที่ราคาลดลงจนไม่น่าเป็นไปได้ ให้ระลึกไว้เสมอว่าท่านกำลังเสี่ยงต่อการได้ของปลอม ของไม่มีคุณภาพ

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ข่าว บก.ปอท.

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทลายโกดังทุนจีน ขายเครื่องสำอางปลอม ส่องชัด ๆ ก๊อปยี่ห้ออะไรบ้าง พีคสุดยาสีฟันดัง อัปเดตล่าสุด 29 มกราคม 2567 เวลา 16:00:03 43,523 อ่าน
TOP
x close