รีวิว ใช้เงินแค่ 1,600 บาทซื้ออาหารกินกัน 2 คน ใน 1 เดือน แบบอยู่ดีกินดี ไม่ยากและทำได้จริง

          สาวแชร์แผน ใช้เงินค่ากินแค่เดือนละ 1,600 บาทกินกัน 2 คน กับการซื้อของมาตุน แบ่งใส่ถุงแช่ฟรีซเอาไว้ ซื้อผักจากตลาดได้ราคาดี เห็นแบบนี้คือกินอย่างราชา
วิธีประหยัดค่าอาหาร

          เงินเฟ้อในปัจจุบันอยู่ในอัตราที่สูงมาก ส่งผลกับชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะค่าอาหารที่หลายร้านอาจจะขึ้นราคา ลดปริมาณ และยังมีเรื่องรสชาติอีก ซึ่งล่าสุด ได้มีสาวคนหนึ่งมาแชร์ทริกเกี่ยวกับแผนการใช้เงิน โดยที่ค่าอาหารของเธออยู่ที่ 1,600 บาท และใช้กัน 2 คน ที่สำคัญคือ แม้ราคาเท่านี้ แต่อยู่กินประหนึ่งราชา

ซื้อเนื้อสด - อาหารสด จากห้างดังหลัง 2 ทุ่ม เสร็จแล้วมาแพ็กใส่ฟรีซ จะทำก็หยิบมาใช้ทีละถุง อยู่ได้นาน


          ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก Amphika Chaikoed ได้มาเผยในกลุ่ม พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถึงการบริหารเงินเรื่องค่าอาหาร ที่ ใช้เงินเพียง 1,600 บาท เป็นค่าอาหาร 2 คนต่อเดือน นับว่าถูกมาก ๆ

          เธอซื้อของสด อาหาร เช่น หมู ไก่ เนื้อ ลูกชิ้น ไข่ไก่ไซซ์ S เครื่องแก้ว เส้นแก้ว วุ้นเส้น เส้นหมี่ เส้นสปาเกตตี นม น้ำหวาน ผลไม้ ที่ห้างโลตัส โดยจะไปรอในช่วง 20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ทางห้างเคลียร์ของและจะเริ่มแปะป้ายเหลือง ลดประมาณ 50-80%

วิธีประหยัดค่าอาหาร

          เมื่อได้เนื้อสดมาแล้ว เช่น หมูสามชั้น เศษไก่ โครงไก่ ปลา เธอจะหั่นใส่ถุงให้พอดีกับที่กิน และเอาถุงใส่กล่องแยกเอาไว้และแช่ช่องฟรีซ เมื่อจะกินก็เอาออกมาละลายน้ำแข็ง นอกจากนี้ เธอยังเอา ไก่-ไข่ และเนื้อหมูมาปั่นรวมกัน ทำเป็นลูกชิ้นหมูเวลาที่จะกินชาบูน้ำดำได้ หมูบางส่วนเธอจะหมักเอาไว้ เทใส่ถุง, หั่นปลาหมึกใส่ถุงใส่กล่อง,  แกะหัวกุ้งออกและเอาเนื้อกุ้งเข้าช่องฟรีซ หัวกุ้งเอาไปทำต้มยำ เวลากินสุกี้ก็แค่หยิบหมูและอาหารทะเลลงไป และใส่เส้นที่แยกเอาไว้ลงไป ง่ายและสะดวกมาก ๆ

          อย่างไรก็ตาม อาหารสดป้ายเหลืองจะเป็นของที่แพ็กมาแล้ว 2 วัน วันที่ 2 ทางห้างจะเอาของมาลด ถ้าอยากได้ต้องเลือกให้ดี และเมื่อได้ของมาแล้วต้องแพ็กใส่ถุงเล็ก ๆ และเอาเข้าช่องฟรีซ เวลาจะใช้ก็ใช้ทีละถุง หากใส่ถุงใหญ่แล้วเวลาจะทำค่อยแบ่งมาทำแล้วเอาของที่เหลือกลับไปแช่อีก จะทำให้ของเสียไว

วิธีประหยัดค่าอาหาร

ซื้อผักจากตลาด ไปตอนร้านปิดได้ราคาดี - ซื้อข้าวต้องดูโปรโมชั่น เทียบกันกับร้านค้าส่ง


          ผักแนะนำให้ไปซื้อที่ตลาดยิ่งเจริญ 3 กำ 10 บาท ถุงละ 20 บาท 3 ถุง 50 บาท หากไปเจอตอนใกล้จะเก็บร้านช่วง 18.30-19.00 น. จะเหลือประมาณถุงละ 10 บาท ผักสลัดครึ่งกิโลกรัมแค่ถุงละ 50 บาท และไปตลาดนี้ง่ายมาก รถเมล์แดงเที่ยวละ 8 บาท รถแอร์เที่ยวละ 15 บาท และบ้านของเธออยู่ในละแวก ม.ศรีปทุม ก็แค่นั่งบีทีเอสไปเที่ยวละ 15 บาท คุ้มมาก

          เมื่อได้ผักมาแล้วก็เอามาใส่ถุงซีล หรือหั่นไว้เป็นถุง เวลาจะใช้ก็หยิบมาใช้ได้เลย ส่วนซื้อพริกมาให้ใส่ทิชชูเอาไว้และเอาใส่กล่อง สามารถอยู่ได้เป็นเดือน

          เลือกซื้อข้าวตามโปรโมชั่น โดยเลือกอันที่ถูกและเอาราคาไปเทียบกับร้านค้าส่ง บ้านของเธอกินกันเดือนละ 5 กก. แต่จะเหลือตลอดเพราะมีบางวันที่กินเส้นแห้ง ซึ่งต่อมาได้มีคนแนะนำว่า หากอยากกินข้าวอร่อย ๆ ลองไปที่ ธกส. ใกล้บ้าน ข้าวหอมสุรินทร์ 5 กก. 100 บาทเท่านั้น

วิธีประหยัดค่าอาหาร

แชร์เมนูอาหาร เห็นแล้วตาลุกวาว อาหารดี ๆ ไม่มีอดอยาก อยากกินอะไรทำเลย


          ในส่วนของเมนูอาหาร จะแบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ 1. ประเภทที่เป็นเมนูหม้อใหญ่และอาหารที่ทำกินเป็นครั้ง ๆ

เมนูแบบหม้อใหญ่ ทำครั้งเดียวกินได้หลายครั้ง ตักแบ่งใส่ตู้เย็น มีดังนี้


          1. พะโล้

          2. แกงส้ม (ตอนจะกินให้ทอดไข่เจียวหรือใส่เนื้อสัตว์ ก่อนเวฟหรือก่อนอุ่น)

          3. ต้มจับฉ่าย

          4. ต้มซุปไก่

          5. มัสมั่น

          6. แกงกะหรี่

          7. ต้มข่าไก่

          8. ต้มแซ่บ/เล้ง (ตอนจะกินค่อยเอามาปรุง)

          9. ไก่ต้มน้ำปลา

          10. ต้มจืด

          11. น้ำพริกกะปิ (ใส่กล่องเล็ก ๆ)

วิธีประหยัดค่าอาหาร

เมนูทั่วไป ที่ทำกินเป็นครั้ง ๆ ได้แก่


          1. ยำวุ้นเส้น/เส้นแก้ว/ลาบเส้นแก้วใส่เห็ด

          2. สุกี้/ชาบูน้ำดำ

          3. ผัดกะเพรา

          4. กุ้งทอดกระเทียม ไก่ทอดกระเทียม หมูทอดกระเทียม (เปลี่ยนทุกอย่างตามความอยากกิน)

          5. ทำน้ำซุปไว้ทำข้าวต้ม เมื่อจะกินแค่เอาของสดและข้าวลงไป

          6. ข้าวตุ๋น ใส่ทุกอยากที่เหลือลงไปต้มให้นัว

          7. สลัด จะโรล จะยำได้หมดเอาตามชอบ ส่วนมากเธอจะโรลกับลูกชิ้น ถ้ายำกินกับผลไม้

          8. ข้าวน้ำพริกกะปิ ผักต้ม ผักทอด ไข่เจียว ไข่ต้มก็ได้ ถ้าเหลือน้ำพริกเยอะช่วงสิ้นเดือน เอาไปทำแกงรัญจวน

          9. ปลาทอดราดน้ำปลา ปลานึ่งก็อร่อย ตำน้ำจิ้มแซ่บ ๆ

          10. ข้าวไข่ดาว/ไข่ต้ม/ไข่เจียวราดซอส

          11. ถ้าไข่ต้มเหลือเยอะ เอาไปทำไข่ลูกเขย

          12. ยำไข่ดาว/ลาบไข่ดาว

          13. ข้าวผัดไข่/ผัดหมู

          14. ข้าวไข่ข้น

          15. ข้าวไก่ทอด ทงคัสสึ/ไก่ทอดเทอริยากิ

          16. ข้าวหน้าหมู/ไก่ (ต้มไข่ลวกก)

          17. ไข่ตุ๋น

          18. ไข่กระทะ

          19. ไข่น้ำ

          20. ไก่ทอด เอามากินคู่กับน้ำจิ้มแจ่ว

          21. ไก่ใต้น้ำ

          22. เมี่ยงหมูสามชั้น

วิธีประหยัดค่าอาหาร

คนชื่นชมอย่างหนัก เอาไปทำตามได้ไม่ยาก ลงทุนตู้เย็นแค่หลักพัน ประหยัดไปได้หลายพัน


          ทั้งนี้ ได้มีคนเข้ามาแชร์เรื่องนี้กันออกไปมหาศาล และชื่นชมถึงการจัดการเงินที่มีประสิทธิภาพและทำได้จริง ซึ่งเธอได้ออกมาเพิ่มเติมเรื่องราว เช่น ทั้งหมดนี้ที่ทำได้เพราะเธอมีตู้เย็น และเธอเพิ่งไปซื้อตู้เย็นขนาดใหญ่ ราคาแค่หลักพันเท่านั้น ส่วนการทำอาหารก็มีหม้อทอดไร้น้ำมัน ไมโครเวฟ เตาปิ้งขนมปัง กาน้ำร้อน และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ก็มี เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องซักผ้า ทว่าค่าไฟแค่ 1,250 บาท และการวางแผนค่ากินแบบนี้ ทำให้แม้กระทั่งช่วงปลายเดือน เธอก็ยังมีของกินเหลืออยู่เพียบ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รีวิว ใช้เงินแค่ 1,600 บาทซื้ออาหารกินกัน 2 คน ใน 1 เดือน แบบอยู่ดีกินดี ไม่ยากและทำได้จริง อัปเดตล่าสุด 1 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 11:07:27 78,701 อ่าน
TOP
x close