x close

ลงทุน 2 ล้าน เปิดร้านสุกี้ กลับเจอเจ้าใหญ่มาเปิดแข่ง แย่งลูกค้าหาย คนแนะหนทางล้มยักษ์

         ความทุกข์ SME เปิดร้านสุกี้ค้าขายกำไรดี ทางเจ้าของพื้นที่ให้สุกี้เจ้าดังขนาดใหญ่ มาเปิดแข่งข้าง ๆ กัน ที่ลงทุนไป 2 ล้านแทบสูญเปล่า ลูกค้าหายเรียบ แบบนี้ทางตลาดทำถูกไหม ใครผิดกันแน่
         หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การเปิดธุรกิจร้านอาหารประสบผลสำเร็จ ต้องมีทั้งฝีมือ ทำเลที่ตั้งที่ดี รวมถึงสภาพแวดล้อมว่า รอบข้างมีคู่แข่งค้าขายสินค้าประเภทเดียวกันไหม ถ้าหากผ่านเกณฑ์เหล่านี้ ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ

         วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เฟซบุ๊ก Pichaya Kairos มีการโพสต์ภาพที่ตลาดแห่งหนึ่งใน อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เป็นร้านสุกี้ขายติดกัน 2 ร้าน ร้านหนึ่งเป็นร้านธรรมดาของเจ้าของธุรกิจแนว SME ในขณะที่อีกร้านเป็นร้านสุกี้ชื่อดัง เมื่อมองดูจำนวนคนแล้ว คนต่อแถวร้านดังเพียบ ส่วนร้านคนธรรมดานั้นว่างเปล่า เจอแบบนี้น่าเห็นใจมาก

         ต่อมา เฟซบุ๊ก ฮองเฮาสุกี้หม่าล่า ซึ่งเป็นร้านที่อยู่ในรูป มาคอมเมนต์ระบายความในใจ ถึงความยากลำบากหลังจากเจอสุกี้เจ้าดังมาเปิดด้านข้าง ทำให้ประสบปัญหามากมาย โดยทางร้านเล่าว่า ร้านของตนได้มีการลงทุนก่อสร้างรวมตกแต่งต่าง ๆ เป็นเงินไปแล้วเกือบ 2 ล้านบาท เพื่อเปิดร้านสุกี้ที่ตลาดแห่งหนึ่งในย่านลำลูกกา ทว่า ทางตลาดกลับไม่เคยมาแจ้งว่า จะมีสุกี้เจ้าดังมาเปิดข้าง ๆ แทบจะติด ๆ กัน จนกระทั่งมารู้ตอนที่เปิดร้าน และมีการลงทุนสร้างทุกอย่างเสร็จแล้ว


         นอกจากนี้ ข้อตกลงต่าง ๆ ที่เคยตกลงกันไว้ในเรื่องการลดค่าเช่า ตอนนี้ตลาดกลับมาคิดค่าเช่าเต็มราคา ทางร้านก็ขอให้ตลาดเห็นใจ เพราะการที่ตลาดอนุญาตให้ร้านดังมาเปิดข้าง ๆ แบบนี้ ทำให้ร้านประสบภาวะวิกฤตอย่างหนัก จึงอยากขอให้คนในเพจช่วยเสนอแนะวิธีจัดการแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย

คนแนะกลยุทธ์ ให้ SME สู้ไหวกับปลาใหญ่ เปลี่ยนจากขายเป็นถาดมาเป็นบุฟเฟต์ - ไปขายอย่างอื่นแทน


         ทั้งนี้ ชาวเน็ตหลายคนมองว่า เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ใครเจอก็ต้องเซ็ง โดยเฉพาะคนตัวเล็ก SME ที่เอาเงินมาลงทุน ที่ถ้าเจ๊งขึ้นมาคงแย่แน่นอน บ้างก็ตำหนิว่า ทำไมตลาดถึงมาให้สุกี้เจ้าดังมาเปิดแข่งกันแบบนี้ได้โดยที่ไม่แจ้งก่อน ทำให้ร้านสุกี้ร้านอื่นเสียหาย

         ในขณะเดียวกัน ก็มีบางคนได้แนะนำกลยุทธ์ เพื่อสู้กับเจ้าใหญ่ ดังนี้

         1. สู้ด้วยราคา รสชาติ และโปรโมชั่น โดยที่ร้านนี้จะขายสุกี้เป็นไม้และเป็นถาด ราคามากน้อยแตกต่างกันออกไป ซึ่งถ้าจะขายแบบนี้เพื่อสู้กับสุกี้เจ้าดังที่เป็นบุฟเฟต์อาจจะไม่ไหว เพราะต้นทุนสุกี้เจ้าดังน้อยกว่าแน่นอน และปัจจุบันคนนิยมทานบุฟเฟต์ ทางร้านต้องเปลี่ยนมาเป็นสุกี้บุฟเฟต์แทน เพราะคนกินจะรู้สึกว่าทานแบบบุฟเฟต์คุ้มกว่าทานแบบสั่งต่อถาด และเมื่อดึงลูกค้ามาได้และมาถัวเฉลี่ยกับที่ลูกค้ากินไป อาจจะคุ้มกว่าที่จะปล่อยให้ร้านดังแย่งลูกค้าไปหมด

         หรือมิเช่นนั้น ก็ปรับให้ฝั่งหนึ่งเป็นแบบบุฟเฟต์ อีกฝั่งเป็น a la carte ราคาไม่ต้องถูกกว่าเจ้าใหญ่แต่ต้องตั้งราคาได้สูสี และมีตัวเลือก เช่น ไส้เป็ด กุ้ง ปลาหมึก และคิดทีเด็ดน้ำจิ้มให้ดี อาจจะช่วยได้ การทำธุรกิจสุกี้ให้อยู่รอด ต้องอาศัยรสชาติ ราคา การบริการที่เป็นตัวกำหนดคุณภาพและปริมาณลูกค้าที่เข้าร้าน ร้านจะอยู่ได้ถ้าร้านดึงดูดลูกค้าได้

         2. เลิกทำสุกี้ ไปขายอย่างอื่นที่ไม่ใช่สุกี้ แต่เป็นอาหาร เช่น ขายข้าวต้ม มีอาหารจีนปน หรือร้านอาหารไทยรสชาติจัดจ้าน ซึ่งตอนนี้ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อสู้กับปลาใหญ่ให้ได้

สุกี้ฮองเฮา

สุกี้ฮองเฮา

สุกี้ฮองเฮา

สุกี้ฮองเฮา








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลงทุน 2 ล้าน เปิดร้านสุกี้ กลับเจอเจ้าใหญ่มาเปิดแข่ง แย่งลูกค้าหาย คนแนะหนทางล้มยักษ์ อัปเดตล่าสุด 8 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17:16:20 127,195 อ่าน
TOP