x close

ศาลอาญายกฟ้องดารุมะ ซูชิ ชี้ ไม่มีเจตนาโกง 100 ล้าน เจ้าของวลี ขายดีจนเจ๊งได้ยังไง

          ศาลอาญายกฟ้อง ดารุมะ ซูชิ ปิดกิจการเป็นเพราะความผิดพลาดด้านการบริหาร ไม่ได้มีเจตนาทุจริต หลังเป็นข่าวดังปี 2565 มีความเสียหายมูลค่า 100 ล้านบาท

บอลนี่ ดารุมะ ศาลอาญายกฟ้อง
ภาพจาก hisogossi

          วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ไทยพีบีเอส รายงานว่า ศาลอาญามีการอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 5 ฟ้องบริษัทร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดัง และนายเมธา (สงวนนามสกุล) หรือบอนนี่ วัย 41 ปี ในฐานะจำเลยที่ 1 และ 2 ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ฟอกเงิน และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

          อัยการโจทก์ ระบุคำฟ้องว่า ช่วงปี 2564-2565 จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงประกาศขายอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์ มีโปรโมชั่นต่าง ๆ แล้วให้ลูกค้าโอนเงินผ่านบัญชีบริษัท มีผู้เสียหาย 988 คนหลงเชื่อ เป็นความผิด 988 กรรม แต่ความจริง พวกจำเลยไม่ได้มีเจตนาประกอบกิจการร้านอาหารญี่ปุ่นอยู่แล้ว


          อีกทั้งจำเลยยังมีการหลอกขายแฟรนไชส์ให้ผู้ร่วมลงทุนราคาตั้งแต่ 2 - 2.5 ล้านบาทต่อสาขา มีผู้เสียหาย 11 รายหลงเชื่อ มีความผิด 11 กรรม รวมถึงคดีฟอกเงินที่ได้รับโอนจากการกระทำผิดอีก 150 ล้านบาท เข้าบัญชีธนาคารของตัวเอง เพื่อปกปิดอำพรางลักษณะที่แท้จริง

          ศาลพิเคราะห์และเบิกความ พบว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นระเภทดังกล่าว และขายแฟรนไชส์จริง ต่อมาร้านได้ปิดปรับปรุงกิจการชั่วคราว เพราะเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้ลูกค้าที่ซื้อคูปองไม่สามารถใช้บริการได้

ศาลพิพากษา ยกฟ้อง

          ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองเปิดร้านอาหารตั้งแต่ปี 2559 และมีผู้บริโภคสนใจจำนวนมาก สามารถขยายกิจการได้หลายสาขา มีการขายคูปองทำโปรโมชั่น และลูกค้ายังนำคูปองมาใช้บริการได้ตามปกติ จนกระทั่งเกิดความผิดพลาดในการบริหารงาน ประกอบกับเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาปลาแซลมอน วัตถุดิบหลักราคาสูงขึ้น จนเกิดการขาดสภาพคล่อง ถือว่าไม่ได้มีเจตนาทุจริตหลอกหลวง

          เรื่องการขายแฟรนไชส์ เป็นความพอใจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ข้อเท็จจริงจึงไม่รับฟังได้ว่าเจตนาธุรกิจหลอกลวง ส่วนเรื่องการฟอกเงิน พบว่า นายเมธา มีการโอนเงินบางส่วนให้แม่บุญธรรมเป็นประจำทุกเดือน รวมถึงโอนเข้าบัญชีเพื่อนสนิท แต่เป็นการชำระหนี้ที่กู้ยืมมา พร้อมกันนั้นยังโอนเงินไปบัญชีแห่งหนึ่งเพื่อเปลี่ยนเงินบาทเป็นเงินสกุลดอลลาร์ เอาไว้ใช้ตอนอยู่ต่างประเทศ จึงไม่สามารถรับฟังได้ว่ามีความผิดฟอกเงิน ศาลพิพากษายกฟ้อง

ดารุมะ
ภาพจาก ช่อง 3

ย้อนคดีดารุมะ กับปรากฏการณ์ ยิ่งขายดียิ่งเจ๊ง

          เมื่อปี 2565 เกิดเหตุการณ์ดารุมะ ซูชิ ปิดสาขาทุกแห่งแบบไม่มีกำหนด ทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมาก มีมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท ผู้ได้รับผลกระทบมีดังนี้

          - ลูกค้าที่ซื้อวอยเชอร์ โดยคาดว่าวอยเชอร์ขายออกไปแล้วมากกว่า 2 แสนใบ คาดว่ามูลค่าความเสียหาย 20 ล้านบาท

          - ซัพพลายเออร์ที่ขายปลาแซลมอนให้ร้าน โดยจากกระแสข่าวว่า มีการค้างค่าปลากว่า 30 ล้านบาท

          - นักลงทุนที่ลงทุนซื้อแฟรนไชส์ไปเปิด คนละ 2.5 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าตกแต่งและค่าเช่าสถานที่ มีทั้งหมด 20 สาขา คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท

          - พนักงานที่ไม่ได้รับเงินเดือน คาดว่าอย่างน้อยพนักงานประมาณ 270 คน ที่ตกงาน

          ส่วนสาเหตุวลีขายดีจนเจ๊ง มาจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ปลาแซลมอนราคาสูงขึ้น จากเดิมที่ขายในราคา 499 บาท ผู้บริหารจึงตัดสินใจขายคูปองส่วนลดเหลือ 199 บาท เพื่อดึงเงินเข้าสู่ระบบ และหวังว่าราคาแซลมอนจะลดลงหลังจากนี้ แต่สถานการณ์ไม่เป็นไปอย่างที่คิด แซลมอนราคาไม่ได้ลดลง กลายเป็นว่า ยิ่งขายมาก ยิ่งขาดทุนมาก เพราะราคาขายไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

          จากนั้น นายเมธา หรือบอลนี่ เจ้าของดารุมะที่อยู่ต่างประเทศในช่วงที่เป็นข่าวดัง ก็เดินทางกลับมาประเทศไทย และถูกจับกุมตัวในที่สุด โดยให้การสารภาพว่า ทำธุรกิจแล้วเกิดปัญหาสภาพคล่อง จึงขายคูปองออนไลน์ในราคา 199 บาท ถูกกว่าความเป็นจริง ได้เงินวันละ 1 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาหมุนในกิจการ แต่ธุรกิจก็ไม่สามารถเดินต่อไปได้ จึงคิดหลบหนี กระทั่งรู้สึกกดดัน จึงตัดสินใจกลับไทยมามอบตัว

ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยพีบีเอส

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศาลอาญายกฟ้องดารุมะ ซูชิ ชี้ ไม่มีเจตนาโกง 100 ล้าน เจ้าของวลี ขายดีจนเจ๊งได้ยังไง โพสต์เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 19:31:25 8,526 อ่าน
TOP