ผู้ใช้สิทธิบัตรทองใน กทม. เดือดร้อน ปรับกฎจนคลินิกอ่วม กระทบส่งตัวคนป่วยไป รพ. ด้าน สปสช. ชี้แจงแนวทางแก้ไข ถ้าอยากรักษาต้องทำอย่างไร ดูเลย
จากปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2567
กรณีประชาชนบางส่วน ที่ใช้สิทธิรักษากับคลินิกบัตรทองในพื้นที่ กทม.
แต่กลับพบความยุ่งยากในขั้นตอนการส่งตัวจากคลินิกไปยังโรงพยาบาล
จากการตรวจสอบพบว่า ปัญหาดังกล่าวสืบเนื่องจาก ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา สปสช. เขต 13 กทม. ปรับเปลี่ยนขั้นตอนการให้บริการในหน่วยปฐมภูมิ จากเดิมที่ผู้ป่วยไปรับบริการในหน่วยปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ จากนั้นหน่วยงานต่าง ๆ มาเบิกเงินจาก สปสช. เอง เป็นรูปแบบใหม่คือ จ่ายตามรายการรักษามาเป็นเหมาจ่ายรายหัว กำหนดให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับบริการในหน่วยปฐมภูมิต้นสังกัดก่อน ซึ่งจะให้การรักษาและเป็นผู้พิจารณาส่งต่อเอง
หลังจากขั้นตอนดังกล่าวถูกบังคับใช้
ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้าไปรับใบส่งตัวที่คลินิกชุมชนอบอุ่นทุกครั้ง
และก็เจอปัญหาเช่น ถูกปฏิเสธขอใบส่งตัว ถูกปฏิเสธสิทธิ
ถูกเรียกเก็บค่ารักษา และให้ย้ายหน่วยบริการ
เนื่องจากหลายคลินิกต้องแบกรับค่าใช้จ่ายกรณีได้รับเงินค่าบริการจาก สปสช.
ไม่ครบ และคลินิกต้องรับผิดชอบเรื่องการตามจ่ายกรณีส่งต่อผู้ป่วย
ทำให้ยิ่งรักษามากก็อาจถึงขั้นขาดทุน
ทำให้เรื่องนี้กระทบทั้งประชาชนและคลินิกบัตรทอง
สปสช. สรุปประเด็น ส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองไม่ได้ เกิดจากอะไร พร้อมแนะแนวทางแก้ไข
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 15 มีนาคม 2567 สปสช. ชี้แจงแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองใน กทม. ว่า ในปีที่ผ่านมาเกิดปัญหางบประมาณผู้ป่วยนอกที่คลินิกชุมชนอบอุ่น ทำให้มีข้อเสนอจากคลินิกเอง ในการปรับวิธีการจัดสรรงบประมาณและได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ทำให้เกิดการร้องเรียนของผู้ป่วย ที่มีใบส่งตัวเพื่อรับบริการที่โรงพยาบาลรับส่งต่อใช้ไม่ได้ และ โรงพยาบาลแนะนำให้ผู้ป่วย กลับไปขอใบส่งตัวที่คลินิกฯ ที่ได้ลงทะเบียนไว้ ขณะที่คลินิกฯ ขอประเมินผู้ป่วยก่อน และจะออกใบส่งตัวให้ผู้ป่วยที่เกินศักยภาพดูแลเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ 3 ประเด็นคือ
1.
กลุ่มผู้ป่วยที่ถึงวันนัดแล้วแต่รับบริการที่โรงพยาบาลไม่ได้
เพราะใบส่งตัวที่เคยใช้ไม่สามารถใช้ได้แล้ว มีประมาณ 10%
ถือเป็นกลุ่มเร่งด่วนที่ต้องดูแล
2 .กลุ่มมีนัดเข้ารับการรักษาในระยะเวลาอันใกล้ และเกิดความกังวลว่าจะไม่สามารถเข้ารับบริการได้
สปสช. ขอความร่วมมือในช่วงนี้ให้ผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนเข้ารับบริการโทร. เข้ามาสอบถามที่สายด่วน 1330 ก่อน เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ขณะเดียวกัน สปสช. เองได้เพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่อคอยรับสายเพิ่มเติมอีก 100 คน เพื่อให้บริการประชาชนได้เพิ่มขึ้น หรือฝากข้อความผ่านระบบออนไลน์ของ สปสช.
ขณะนี้ สปสช.ได้รับการประสานจากหน่วยบริการภาคเอกชน เพื่อขอเข้าร่วมจัดเครือข่ายคลินิกชุมชนอบอุ่นให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่ว กทม. เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวกเพิ่มขึ้น
ภาพจาก ไทยพีบีเอส
สปสช. รับ มีการเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงิน แนะประชาชน รับบริการตามปกติ
ด้าน พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ช่วงก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2567 สปสช. ใช้ระบบการจ่ายชดเชยค่าบริการที่เรียกว่า Model 5 มีศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. เป็นหน่วยบริการประจำ และมีคลินิกชุมชนอบอุ่นเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ในเครือข่าย โดยจัดสรรเป็นงบประมาณรวม (Global budget) ที่แบ่งจัดสรรงบเป็น 2 ส่วน คือ งบจ่ายค่าบริการให้กับคลินิกชุมชนอบอุ่นตามรายการปลายปิด (FS.) และงบสำหรับกรณีส่งตัวผู้ป่วยรักษาที่โรงพยาบาล โดยคลินิกได้รับเงินตามจำนวนที่เรียกเก็บ และได้รับเงินคงเหลือในช่วงปลายปีเป็นจำนวน 412 ล้านบาทในปี 2564 และ 618 ล้านบาทในปี 2565
อย่างไรก็ดี ในปี 2566 ด้วยจำนวนการส่งต่อผู้ป่วยไปรับบริการที่โรงพยาบาลรับส่งต่อเพิ่มมากขึ้น หลังการหักค่าใช้จ่าย จากการส่งต่อ ทำให้งบที่จ่ายค่าบริการแก่คลินิกชุมชนอบอุ่นไม่เพียงพอ ทางคลินิกชุมชนอบอุ่นจึงรวมตัวและมีข้อเสนอเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินเป็น OP New Model 5 ให้เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว ที่โอนให้คลินิกชุมชนอบอุ่นทั้งก้อน โดยคลินิกฯ จะทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในพื้นที่และส่งต่อผู้ป่วย โดย อปสข. เขต 13 กทม. ได้มีมติตามข้อเสนอและได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
ขณะที่ ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น สปสช. เขต 13 ได้เร่งทำการสื่อสารไปยังโรงพยาบาลและคลินิกชุมชนอบอุ่นแล้ว โดยเน้นไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้รับบริการ ขอให้ความมั่นใจกับประชาชนทุกท่านว่ายังสามารถเข้ารับบริการได้เหมือนเดิม แม้จะเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการ แต่ระบบการให้บริการไม่ได้เปลี่ยน เพียงแต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ คลินิกชุมชนอบอุ่นที่ผู้มีสิทธิบัตรทองได้ลงทะเบียนไว้อยากจะขอดูแลท่านก่อน เพื่อประเมินอาการ หากเกินศักยภาพก็จะมีการส่งต่อโรงพยาบาล
ทั้งนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการปฐมภูมิของตนเองได้ในแอปพลิเคชันหรือ ไลน์ สปสช. หรือผ่าน สายด่วน 1330 และในกรณีต้องการย้ายหน่วยบริการปฐมภูมิให้ใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงาน เพื่อความสะดวกการรับบริการก็สามารถย้ายได้ถึงปีละ 4 ครั้ง
ขอย้ำว่า วันนี้ประชาชนที่มีใบนัด มีใบส่งตัวเดิม ท่านไม่ต้องกังวล ขอให้ไปที่โรงพยาบาลรับส่งต่อได้เลย สามารถรับบริการได้ตามปกติ ส่วนกรณีที่มีใบนัด แต่ไม่มีใบส่งตัวก็ให้โรงพยาบาลพิจารณาให้การรักษาแล้วแต่กรณี ซึ่งก็สามารถเบิกกับ สปสช. ได้เช่นกัน
ส่วนปัญหาประเด็นสำคัญคือเรื่องการส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งเป็นจะเป็นดุลยพินิจของหน่วยบริการปฐมภูมิ แต่ในฝั่งประชาชนก็มีความกังวล เพราะด้วยคลินิกชุมชนเป็นผู้ตามจ่าย ดังนั้นในระยะยาวจะต้องมีการจัดทำกลไกระบบส่งต่อเพื่อรองรับประชาชนที่จำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลช่วยลดความขัดแย้งกรณีการส่งต่อ โดยเฉพาะประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่มีความซับซ้อนหรือต้องใช้ยาราคาแพง ซึ่งเกินศักยภาพการดูแลของคลินิกชุมชนอบอุ่นอยู่แล้ว จัดระบบเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่เห็นชอบร่วมกัน เพื่อให้ผู้สามารถเข้ารับบริการได้ตามระบบ โดยไม่ต้องรอดุลยพินิจของหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือขอใบส่งตัว นอกจากนี้ในอนาคตจะมีการเสนอตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อชี้ขาดกรณีผู้ป่วยไม่ได้รับใบส่งตัวด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก สปสช., สปสช. , สปสช.