ดราม่าปลูกต้นไม้จนเหลือถนนแค่เลนเดียว ทำเพื่ออะไร หวั่นการจราจรไม่สะดวก งานนี้ผู้เกี่ยวข้องแจงแล้ว ไม่ใช่ไทยทำแค่ที่เดียว ฝรั่งเศสกับสเปนก็ทำ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ฮาลำพูน
วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 เฟซบุ๊ก ฮาลำพูน มีการโพสต์คลิปบนถนนรถแก้ว เขตเทศบาลเมืองลำพูน ด้านหลังวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ซึ่งยาวกว่า 200 เมตร มีการปลูกต้นไม้ทับเลนขับรถกว่า 20 ต้น จนทำให้ถนนเหลือเลนขับรถเพียงเลนเดียว เรื่องนี้หลายคนวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม และรู้สึกอึดอัดกับเรื่องนี้
เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า นางสาวอัญมณี มาตยาบุญ หัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์ ลำพูนซิตี้แลป เปิดเผยว่า โครงการนี้ต่อยอดจากโครงการเมืองเดินได้เดินดีของ UDDC จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ทำวิจัยกับเทศบาลเมืองลำพูนตั้งแต่ปี 2565 จนเป็นโครงการลำพูน ฮีลลิ่ง ทาวน์ การพัฒนาพื้นที่แห่งความสุขกายสบายใจบนถนนรถแก้วและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง
โครงการนี้มีแนวคิดการออกแบบเมือง ใช้ถนนรถแก้วเป็นถนนนำร่อง เพราะมีความเหมาะสมในแง่สภาพการจราจรที่ต่ำ มีระยะทางถนน 250 เมตร มีบ้านอาศัย 5 หลัง มีความกว้างถนน 6 เมตร สามารถปลูกต้นไม้และขุดหลุมขนาดความกว้าง 1.8 เมตรได้
ต้นไม้ที่ปลูกมี 2 กลุ่ม คือ ริมรั้วตลอดแนวถนนทั้ง 2 ข้าง แต่ที่เป็นดราม่าคือ หลุมปลูกต้นไม้บนถนน 12 จุด ซึ่งการปลูกต้นไม้เลือกปลูกต้นไม้ที่เป็นต้นไม้ดั้งเดิมที่เคยเป็นภาพเก่าของ จ.ลำพูน เช่น พะยอม พะวา แคนา เป็นต้น ต้นไม้เหล่านี้จะใช้เวลา 3 ปีให้ร่มเงา ระยะเวลาเท่ากับการที่เราเอาต้นไม้ล้อมมาลง ใช้เวลา 3 ปีในการแผ่ใบให้ร่มเงา ถ้าหากใช้ต้นไม้ที่โตมา จะต้นงอมีเสาค้ำยันตลอด แม้คนแก่จะอยากเห็นต้นไม้โตในช่วงมีชีวิตก็ตาม
ส่วนคนที่ดูแลต้นไม้คือ คณะกรรมการถนนรถแก้ว นำน้ำจากบ่อโบราณที่อยู่ตามบ้านคนภาคเหนือมาสูบ ไม่ได้ใช้น้ำประปา และสูบนั้นด้วยระบบโซลาร์เซลล์ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าจากรัฐ และโครงการนี้ ต่างประเทศก็มี เช่น ถนนช็องเซลิเซ่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส, ถนนในเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน
สำหรับถนนรถแก้ว เป็นถนนที่เชื่อม 2 วัดสำคัญคือ วัดพระธาตุหริกุญชัยและวัดมหาวัดหรือวัดพระรอด ผ่านคุ้มเจ้าเมืองเก่า 3 แห่ง โครงการนี้ชุมชนเข้าใจพื้นที่สีเขียวอย่างดี และตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพกายใจที่ดี แต่มันยังไม่เสร็จสมบูรณ์เพราะต้นไม้ยังไม่เติบโตให้เห็น
ปัจจุบันถนนเส้นนี้ทุกวันเสาร์มีตลาดชุมชน ไม่ต่างจากถนนคนเดิน เหมือนกับการส่งเสริมตลาดชุมชน หลังจากนี้ ซิตี้ แบป กำลังจดทะเบียนเป็น Social Enterprise กิจการเพื่อสังคม มีรายได้จากการขายสินค้าชุมชน จัดเทศกาลต่อไป
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Lamphun City Lab
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Lamphun City Lab
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Lamphun City Lab
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Lamphun City Lab
ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์ออนไลน์