หญิงทำงาน 14 ปีจนเกษียณอายุและได้เงินบำนาญ โดนจับโป๊ะว่าปลอมตัวมาทำงานแทนพี่สาว จ่อโดนยึดเงินเกษียณ ขึ้นศาลโดนฟ้องโดนปรับ ด้านหลายคนรู้สาเหตุที่ทำกลับสงสาร ความยุติธรรมอยู่ตรงไหน

วันที่ 1 มิถุนายน 2567 เว็บไซต์เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ เผยเรื่องราวคดีความที่น่าตกตะลึงในประเทศจีน เมื่อมีหญิงรายหนึ่งปลอมตัวเป็นพี่สาวแท้ ๆ ของเธอ แล้วไปทำงานแทนเธอเป็นเวลานานถึง 14 ปี จนกระทั่งเกษียณและได้รับบำนาญกว่า 2 ล้าน โดยภายหลังจากเรื่องราวนี้ถูกนำมาเปิดเผย ก็ได้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงบนสังคมออนไลน์ แต่แม้ว่าเธอคนนี้จะมีความผิดทางกฎหมาย ผู้คนส่วนใหญ่กลับเห็นใจและเข้าข้างเธอ
รายงานเผยว่า หญิงรายนี้ชื่อสกุลอัน อาศัยในเมืองหวู่ไห่ ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางตอนเหนือของประเทศจีน เธอแอบปลอมตัวเป็นพี่สาวของเธออย่างลับ ๆ เพื่อไปทำงานที่โรงงานในท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2536 ไม่ทราบแน่ชัดว่าเธอและพี่สาวมีรูปร่างหน้าตาที่คล้ายกันหรือไม่ แต่ในขณะนั้น ไม่มีใครผิดสังเกตหรือจับได้ว่าเธอเป็นใคร และเธอก็ทำงานที่นั่นเรื่อยมาเป็นเวลาถึง 14 ปี
ภายหลังจากมีการตรวจสอบของทางเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่แน่ชัดว่ามีร้องเรียนหรืออย่างไร ในที่สุด อันก็ถูกทางตำรวจเข้าจับกุม เธอยอมรับสารภาพความผิดและยินดีจะจ่ายเงินคืน โดยเหตุผลเบื้องหลังก็คือ พี่สาวของเธอเสียชีวิตจากไปในปี 2536 จากอุบัติเหตุทางถนน ตั้งแต่นั้นมาเธอจึงอ้างตัวเป็นพี่สาว ไปเข้าทำงานแทน
สุดท้ายศาลได้พิพากษาว่า อันมีความผิดฐานฐานฉ้อโกง และเนื่องจากเธอให้การรับสารภาพและจ่ายชดใช้ค่าเสียหาย จึงตัดสินลดโทษให้เธอเป็นจำคุก 3 ปี โดยรอลงอาญาเป็นเวลา 4 ปี พร้อมปรับอีก 25,000 หยวน (ราว 130,000 บาท)
อย่างไรก็ตาม ผู้คนบนโลกออนไลน์ส่วนใหญ่รู้สึกเห็นใจและเข้าข้างหญิงรายนี้ แม้ว่าเธอจะถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง โดยชี้ว่า เธอทำงานมา 14 ปี แสดงให้เห็นว่าเธอมีความสามารถและปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ดังนั้นเธอก็สมควรได้รับเงินตอบแทนสำหรับความเหน็ดเหนื่อในการทำงานที่ผ่านมา
ผู้ใช้โซเชียลกล่าวว่า "ใครจะทนทำงาน 14 ปี แค่เพราะเงินบำนาญ ? เธอเพียงรับช่วงต่องานจากพี่สาวที่ตายจาก การทำงานมาเป็นเวลานาน 14 ปี พิสูจน์ให้เห็นว่าเธอมีความสามารถที่จะทำงานนั้นได้ เงินที่ได้ก็ควรจะเป็นของเธอ"
"เธอไม่ได้จ่ายเงินประกันสังคมน้อยลง และเธอก็ไม่ได้ทำงานน้อยลงด้วย ทำไมเธอถึงไม่ควรรับเงินบำนาญก้อนนี้หลังจากที่เกษียณ"
"น้องสาวไปทำงานแทนพี่สาว 14 ปี ได้รับเงินเดือนและเงินบำนาญแทน ก็เป็นการตอบแทนค่าแรงที่สมควรแล้วหรือเปล่า..."
นอกจากนี้ยังมีการนำเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบกับ "ระบบทดแทนการทำงาน" ในสมัยก่อน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศจีน ช่วงปี 2493-2523 ที่จะให้ลูก ๆ เข้ามาทำงานแทนพ่อแม่ที่เกษียณอายุหรือลาออกจากงาน และแม้ว่าระบบนี้จะถูกยกเลิกไป ด้วยปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ แต่ในขณะนั้น ระบบนี้ก็สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการว่างงานได้
ติดตามอ่าน ข่าวต่างประเทศ ที่น่าสนใจได้ที่นี่
ขอบคุณข้อมูลจาก South China Morning Post