ปู่วัย 81 ปี ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน-ขายบ้าน สูญ 22 ล้าน เครียดเกือบคิดจบชีวิต


          ปู่วัย 81 ปี ถูกมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินเก็บทั้งชีวิต ซ้ำต้องขายฝากบ้าน รวมสูญเงิน 22 ล้าน เครียดนอนไม่หลับ เศร้าจนอยากจบชีวิต

มิจฉาชีพ หลอกเอาเงิน 22 ล้าน
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

          วันที่ 10 มิถุนายน 2567 รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3 รายงานว่า วานนี้ (9 มิถุนายน) นายไพรสัณต์ หรือ อ๊อด อายุ 81 ปี อดีตหัวหน้างานด้านวางแผนธุรกิจสายงานด้านเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกมาร้องเรียนผ่านสื่อ หลังถูกมิจฉาชีพใช้กลอุบาย หลอกว่าบัญชีพัวพันกับธุรกิจผิดกฎหมาย โดยมิจฉาชีพปลอมตัวมารูปแบบของการวิดีโอคอลเป็นตำรวจ โดยให้ทำตามขั้นตอน มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีหรืออายัดทรัพย์สิน ตนเองหลงเชื่อ ได้โอนเงินให้กับมิจฉาชีพเป็นเงินสด 19 ล้านบาท

          หลังจากโอนเงินไปแล้ว ยังถูกมิจฉาชีพใช้อุบายให้เอาบ้านไปจำนองขายฝากอีก 3 ล้าน รวมทั้งดอกเบี้ยอีก 450,000 บาท โดยให้ผ่อนชำระดอกเบี้ยเดือนละ 37,000 บาท และให้คืนเงินต้น 3 ล้านบาทที่เอาบ้านไปจำนองขายฝากไว้ภายในระยะเวลา 1 ปี หลังได้เงินจากจำนองขายฝากบ้านอีก 3 ล้านบาท สรุปว่าตนได้โอนเงินให้กับมิจฉาชีพไป รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 22 ล้านบาท

          นายไพรสัณต์ หรือปู่อ๊อด เล่าว่า ภรรยาตนเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ตนมีลูกชายเพียงคนเดียว อายุ 43 ปี ทำงานอยู่บริษัทตลาดทรัพย์ที่ประเทศสิงคโปร์ หลังตนเกษียณอายุแล้ว ก็ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านใน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี จนเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีโทรศัพท์เบอร์มือถือ หมายเลข 098-563 6881 โทร. เข้ามาแนะนำตัวว่าชื่อ นายรณฤทธิ์ ชัยวงศ์ รหัสพนักงาน 593108 โดยแจ้งว่า ตนถูกแอบอ้างนำข้อมูลส่วนตัวไปเปิดบัญชีธนาคารออมสิน สาขาอยุธยาพาร์ค ซึ่งได้ถูกตรวจบัญชีเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 โดยทางธนาคารออมสินติดต่อประสานงานไปยังสถานีตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้ตำรวจส่งใบรับรองการแจ้งความมายังธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ ภายใน 2 ชั่วโมง

          ต่อมา มีเบอร์โทรศัพท์หมายเลข 082-717-3028 โดยผู้โทร. มาอ้างว่าชื่อ พ.ต.ต. กิตติศักดิ์ รักษกุลวิทยา เป็นสารวัตรงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธพระนครศรีอยุธยา ต้องการสอบปากคำตน เนื่องจากได้มีการทุจริตในหน่วยงานราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วงเงิน 11 ล้าน โดยมีนายเอนก ตำแหน่ง สจ. เป็นหัวหน้าขบวนการ และมีผู้ร่วมทุจริตเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่-ผู้น้อยกว่า 100 คน โดยได้มีการนำเงินจากการทุจริต มาฝากผ่านบัญชีธนาคารออมสินของตน กล่าวหาว่าตนได้เงินผ่านบัญชี 10% ของเงินทั้งหมด และเงินที่อยู่ในบัญชี จะต้องเป็นของกลางในคดีอาญา โดยผู้ที่แอบอ้างตำรวจตรี เห็นว่าตนมีอายุมากแล้ว หากต้องไปให้การสอบสวนที่โรงพักจะลำบาก เลยแนะนำให้ตนทำตามขั้นตอน ผ่านทางแอปฯ ไลน์

มิจฉาชีพ หลอกเอาเงิน 22 ล้าน
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

          จากนั้น คนที่อ้างตัวเป็นตำรวจรายนี้บอกกับตนว่า คดีนี้เป็นคดีใหญ่ มีผู้ร่วมขบวนการเป็นทั้งตำรวจ ทหาร ทนายความ รวมทั้งยังได้ส่งรูปคำสั่งจากศาลให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของตนทั้งหมด โดยให้ถือเป็นความลับ ถ้าตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี ก็จะออกหนังสือแสดงความบริสุทธิ์ให้ รวมทั้งจะมีการเยียวยาให้ตามขั้นตอนของกฎหมาย

          ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีหญิงสาวอ้างเป็นนายตำรวจหญิง ชื่อสุพัตรา ได้รับคำสั่งจากสารวัตรกิตติศักดิ์ มาแนะนำขั้นตอน เพื่อให้การตรวจสอบบัญชีง่ายขึ้น โดยให้ตนเปิดแอปฯ โมบายแบงก์กิ้ง กับธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย โดยให้รายงานตัวกับ พ.ต.ต. กิตติศักดิ์ ผ่านทางแชตของ สภ.พระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งมิจฉาชีพ บอกให้ตนแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการโอนเงินทรัพย์สินที่มีอยู่ไปให้ตรวจสอบ เป็นเงินสด 19 ล้านบาท รวมทั้งบ้านที่ไปจำนองขายฝากอีก 3 ล้านบาท ที่ตนกับภรรยา (เสียชีวิตไปแล้ว) ทำงานเก็บหอมรอมริบมาตั้งแต่เริ่มก่อร่างสร้างตัว

          หลังจากนั้น 2 วัน เขาก็ได้ส่งข้อความมาอีก เป็นคำสั่งของ ปปช. ว่าจะเป็นผู้ตรวจทรัพย์สินของตน พร้อมกับส่งรายชื่อข้าราชการระดับ 9 และระดับ 8 ของ ปปช.มา เขาก็สั่งให้ตนเริ่มโอนเงินโดยจะกำกับการแสดงทุกอย่าง เพราะตนใช้สมาร์ตโฟนไม่ค่อยเป็น ปรากฏว่า พ.ต.ต. กิตติศักดิ์ ที่อยุธยาจะเป็นคนกำกับการแสดงทั้งหมดทุกขั้นตอนว่าให้ตนโอนเงินอย่างไร เริ่มแรกให้ตนโอนเงินจากบัญชีสหกรณ์ออมทรัพย์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกมาทั้งหมด และให้โอนเข้า บัญชีกรุงไทย และบัญชีกสิกรไทย และให้โอนไปยัง ปปช. ที่ได้อ้างไว้ทั้งหมด

          วันต่อ ๆ มา พอได้สอบสวนตนและรู้ว่าตนมีบัญชีในตลาดหลักทรัพย์อยู่กับโบรกเกอร์ 2 แห่ง เขาก็สั่งให้ไปขายทั้งหมด 2 แห่ง พอตนขายเสร็จ ก็โอนเงินไปให้เขา หลังจากนั้นก็สั่งให้ตนไปขายฝากบ้าน ให้กับผู้ที่เขาแนะนำมาให้ และก็ติดต่อมาที่ตน ปรากฏว่ามีคนติดต่อมาจริง ๆ ให้ตนไปขายฝากบ้านและที่ดินที่ตนอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ให้ขายในราคา 3 ล้านบาท พร้อมกับดอกเบี้ย 450,000 บาท โดยทำสัญญา 1 ปี ต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน เดือนละ 37,000 บาท

          หลังจากนั้น 2 วัน มีไลน์จากตำรวจหญิงที่พูดคุยกับตนบ่อย ๆ ให้พูดกับรองผู้กำกับ ที่อยุธยา รองผู้กำกับได้บอกตนว่า ทางผู้ตรวจสอบได้ตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมดแล้วพบว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็จะโอนเงินคืนทั้งหมดโดยมีเงื่อนไขอยู่ 1 ข้อ จะต้องเสียเงินอีก 4,200,000 บาท ให้กับทางราชการในการวางค้ำประกันทรัพย์สินที่โอนมา โดยบอกว่า พ.ต.ต. พนักงานสอบสวน และร้อยเวร จะช่วยใช้ตำแหน่งค้ำประกันให้ครึ่งหนึ่ง 2.2 ล้านบาท และให้ตนไปหาเงินมา 2.2 ล้านบาท

          ตนก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหน เพราะหมดตัวแล้ว จึงได้ติดต่อลูกชาย ลูกก็เลยเอะใจ เชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอกจนหมดตัวแล้ว วันรุ่งขึ้นลูกชายก็รีบบินกลับมาหา และนำข้อมูลทั้งหมดไปแจ้งความที่ สอท.2 เมืองทองธานี ยอมรับว่าหลังเกิดเรื่อง ตนสูญทั้งเงิน และกำลังจะสูญเสียบ้าน ใน 1 ปี และเสียสุขภาพจิต กินไม่ได้ นอนไม่หลับ น้ำหนักลดไป 3 กิโลกรัม จนต้องกินยา แทบจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า อยากจะฆ่าตัวตาย จึงอยากให้ตำรวจช่วยติดตามเงินและบ้านที่เสียไป กลับคืนมาให้ด้วย

มิจฉาชีพ หลอกเอาเงิน 22 ล้าน
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

          ด้านลูกชาย เปิดเผยว่า โมโหและเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นมาก ทำไมถึงมาหลอกลวงกันได้ขนาดนี้ เอากันให้หมดตัวเลย พอตนรู้ก็รีบบินกลับมาจากสิงคโปร์ทันที เพื่อมาช่วยพ่อรวบรวมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ และไปแจ้งความที่ สอท. ซึ่งที่พ่อโอนไปให้มิจฉาชีพทั้งหมด 22 ล้านบาท และยังเป็นหนี้ขายฝากบ้านอีก 3.45 ล้านบาท ก็อยากให้ทางเจ้าหน้าที่ สอท. เร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะพ่อก็อายุมากแล้ว ตอนนี้ไม่มีทรัพย์สินเหลือแล้ว ถ้าเกิดเจ็บป่วยก็จะลำบาก

          พร้อมกันนี้ ลูกชายของผู้เสียหาย ยังฝากถึงธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้เกี่ยวข้อง เพราะในกรณีแบบนี้ทางธนาคารทั้งหลาย สามารถใช้ระบบ RIP ในการตรวจสอบได้ ถ้าเกิดว่าหากได้ทำการรู้จักลูกค้าโดยดีแล้ว จะสามารถสังเกตได้ว่า จำนวนเงินในบัญชีของลูกค้าเข้า-ออก กับรายได้ของลูกค้า มีความแตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้น ธนาคารจะใช่ระบบ IT เพื่อตรวจจับความผิดพลาดหรือตั้งข้อสังเกตว่ามีเงิน เข้า-ออก เป็น 10 เท่าของรายได้ น่าจะทำการหยุดธุรกรรมไว้จนกว่าทางเจ้าของบัญชีจะมาแจ้งอีกครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันให้ลูกค้า ไม่ให้เจ้าของบัญชีสูญเสียเงิน ทางธนาคารแห่งประเทศไทยควรหาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ มิเช่นนั้นก็จะมีประชาชนคนสุจริตที่ทำงานเก็บเงินมาชั่วชีวิต ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพอีกไม่มีวันสิ้นสุด

มิจฉาชีพ หลอกเอาเงิน 22 ล้าน
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้


ขอบคุณข้อมูลจาก เรื่องเล่าเช้านี้


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปู่วัย 81 ปี ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน-ขายบ้าน สูญ 22 ล้าน เครียดเกือบคิดจบชีวิต อัปเดตล่าสุด 10 มิถุนายน 2567 เวลา 13:51:41 8,690 อ่าน
TOP
x close