ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบผ่านร่าง กฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน
ภาพจาก จิราพร สินธุไพร (น้ำ)
วันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับใหม่ จำนวน 69 มาตรา
สำหรับกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับดังกล่าว ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี(ครม.) ระบุเหตุผลว่า โดยที่สถาบันครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญในการพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพ ชีวิตของประชาชน
แต่การก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำกัดเฉพาะ ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกัน เป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิด โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ ในด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง
ภาพจาก จิราพร สินธุไพร (น้ำ)
สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ บางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อรองรับให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถหมั้น และสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะมีเพศใด เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดเรื่องครอบครัวหรือมรดกไว้เป็นการเฉพาะ จึงจำเป็นต้อง ตราพระราชบัญญัตินี้
ภายหลังใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง วุฒิสภา ทำการลงมติ เห็นชอบ 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และ งดออกเสียง 18 เสียง ส่งผลให้ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม) ผ่านวาระที่ 3 เป็นที่เรียบร้อย
ภาพจาก TPchannel
สำหรับสาระสำคัญของ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ประกอบด้วย
- บุคคลสองคน ไม่ว่าเพศใด หมั้นหรือสมรสกันได้
- การหมั้นหรือสมรส ต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์
- สถานะหลังจดทะเบียนสมรส ใช้คำว่า "คู่สมรส"
- ได้รับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการตามกฎหมายต่าง ๆ เช่นเดียวกันกับคู่สมรสชาย-หญิง
ทั้งนี้จะมีผลใช้บังคับหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน หรือประมาณช่วงปลายปีนี้
ภาพจาก จิราพร สินธุไพร (น้ำ)
ภาพจาก จิราพร สินธุไพร (น้ำ)
ภาพจาก จิราพร สินธุไพร (น้ำ)
ขอบคุณข้อมูลจาก รัฐสภา