อ.เจษฎา ไขปริศนา ดื่มน้ำจากขวดพลาสติกเสี่ยงเป็นเบาหวาน ที่ใช้กันทุกวันนี้เสี่ยงไหม


          อ.เจษฎา ไขปริศนา ดื่มน้ำจากขวดพลาสติกเสี่ยงเป็นเบาหวานประเภท 2 ใช่หรือมั่ว ชัวร์หรือไม่ ชี้ ต้องเป็นแบบ Polycarbonate ถึงมีความเสี่ยง ไม่ใช่แบบ PET

ขวดน้ำพลาสติก

          วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ของนายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการโพสต์เรื่องราวการแชร์ข่าวผลวิจัยเรื่อง การดื่มน้ำจากขวดพลาสติกบ่อยครั้ง เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภท 2 ทำให้หลายคนตื่นตระหนกถึงอันตรายด้านสุขภาพ

          เรื่องนี้ นายเจษฎาให้ข้อมูลว่า อย่าเพิ่งตื่นตระหนก เพราะขวดพลาสติกที่งานวิจัยเอ่ยถึง ไม่ได้หมายถึงขวดน้ำดื่มแบบ PET ที่คนใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แต่หมายถึงขวดที่ใช้พลาสติกชนิดโพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate) ต่างหาก

ขวดน้ำพลาสติก
ขวดน้ำแบบ Polycarbonate

          สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเข้าใจผิดเรื่องนี้ เพราะสื่อไทยและต่างประเทศ นำรูปขวดน้ำแบบ PET ที่คนใช้อยู่ทั่วไปมาประกอบภาพข่าว ทำให้เข้าใจมั่วกันไปหมด

          ส่วนงานวิจัย ระบุรายละเอียดไว้ว่า การดื่มน้ำจากขวดพลาสติกที่มีส่วนผสมของสาร BPA บ่อย ๆ อาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 ได้ เพราะขวดพลาสติกชนิดนี้มีสารเคมีที่ลดความไวของร่างกายต่ออินซูลินได้ โดยการทดลองมีการสุ่มผู้ใหญ่สุขภาพแข็งแรงดี 40 คน มีคนได้รับยาหลอกกับมีคนได้รับสาร BPA ประมาณ 50 ไมโครกรัมต่อร่างกายหนึ่งกิโลกรัมของน้ำหนัก (ถือเป็นเกณฑ์ปลอดภัยต่อร่างกาย)

          ผลการทดสอบ ระบุว่า ผู้ที่ได้รับสาร BPA มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยพวกเขาจะตอบสนองต่ออินซูลินน้อยลงหลังจากผ่านไป 4 วัน ซึ่งส่งผลต่อการเผาผลาญกลูโคสจนเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน

          กล่าวโดยสรุป การดื่มน้ำในขวด PET ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ไม่มีส่วนผสมของ BPA จะไม่มีความเสี่ยงเรื่องโรคเบาหวาน แต่ถ้าดื่มน้ำจากขวดโพลีคาร์บอเนต จะน่าห่วงมากกว่า

เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อ.เจษฎา ไขปริศนา ดื่มน้ำจากขวดพลาสติกเสี่ยงเป็นเบาหวาน ที่ใช้กันทุกวันนี้เสี่ยงไหม อัปเดตล่าสุด 3 กรกฎาคม 2567 เวลา 10:38:14 21,522 อ่าน
TOP
x close