เปิดต้นตอ ปลาหมอสีคางดำ มาจากไหน ทำไมถึงระบาดหนัก จุดแข็งชนะปลาอื่นอยู่ที่ไหน


          เปิดต้นตอ ปลาหมอสีคางดำ มาจากไหน ทำไมถึงระบาดในไทยหนักหน่วง จุดแข็งมันคืออะไร แนะคนไทยกินคนละ 1-2 กิโลกรัมช่วยลดการระบาดได้

ปลาหมอสีคางดำ
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

          ช่วงนี้ภัยธรรมชาติที่สำคัญที่สุดคือ การกำจัดปลาหมอสีคางดำ ซึ่งเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ ทำลายระบบนิเวศน์ในน้ำในพื้นที่หลายจังหวัดของไทย แม้จะไล่จับยังไงก็จับไม่หมด แม้กระทั่งทะเลระยองก็เจอ เพราะมันอยู่ได้หลายสถานที่ จนหลายคนสงสัยว่า ที่มาที่ไปของปลาพันธุ์นี้ มันเข้าไทยมาได้ยังไง

          วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 เรื่องเล่าเช้านี้ รายงานว่า ปลาหมอสีคางดำ ระบาดในไทยมาแล้วกว่า 18 ปี จุดเริ่มต้นคือ การนำเข้ามาจากประเทศกาน่า ทวีปแอฟริกา เพื่อมาวิจัยปรับปรุงพันธุ์กับปลานิลโดยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ภายหลังบริษัทแห่งนี้บอกว่า วิจัยไม่สำเร็จ และได้ทำลายปลาพันธุ์นี้ไปหมดแล้ว

          ทว่าคนกลับพบปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า มันมาจากไหน หรือใครนำเข้ามาอีก ซึ่งในตอนนี้มันรุกรานไปในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น เพชรบุรี, สมุทรสาคร, ระยอง, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, สงขลา และนครศรีธรรมราช

          ทั้งนี้ มีการรณรงค์ให้ช่วยกันกำจัดปลาหมอสี แต่ก็ยังแก้ยากเพราะจับเท่าไรก็จับไม่หมด จับไปแล้วกว่า 100 ตัน แถมเป็นปลาที่ไม่เป็นที่นิยม จึงไม่ค่อยมีใครนำมากิน

ปลาหมอสีคางดำ
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

ปลาหมอสีคางดำ
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

          นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตอนนี้ปลาหมอสีคางดำรุกรานไปแล้ว 13 จังหวัด สถานการณ์ค่อนข้างวิกฤต ทางแก้ที่เป็นความหวังคือ การดัดแปลงพันธุกรรมทำให้ปลาหมอสีเป็นหมัน แล้วปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์ต่อ ปลาตัวอื่น ๆ ก็จะเป็นหมันตามไปด้วย ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้ คาดว่าจะใช้เวลาทดลองประมาณ 18 เดือน ถ้าหากสำเร็จก็จะขยายผลไปยังแหล่งน้ำอื่น ๆ ต่อไป

          ขณะเดียวกัน ก็เชิญชวนให้ประชาชนกินปลาหมอสีคางดำคนละ 1-2 กิโลกรัมจะช่วยได้มาก ปลาตัวนี้ไม่ได้มีอันตราย ส่วนสาเหตุที่ปลาชนิดนี้ทำลายระบบนิเวศน์ เพราะปลาชนิดนี้ออกลูกเร็ว จึงอาจไปไล่กินแพลงตอนที่เป็นอาหารปลาชนิดอื่นจนขาดแคลน ระบบนิเวศน์บิดเบี้ยว ปลาชนิดอื่นสู้ความไวของปลาหมอสีคางดำไม่ไหว

ส่วนที่มาของปลาหมอสีคางดำ มาจากทวีปแอฟริกา มาไทยได้ 2 ทาง คือ


          1. อาจจะมีผู้ลักลอบเข้ามา ตนเคยอยู่ด่านตรวจสนามบินดอนเมือง พ.ศ. 2539 เคยจับการลักลอบนำเข้าปลาปิรันยาได้ ซึ่งปลาชนิดนี้มีโทษหนัก ก็ยังมีคนนำเข้ามาได้ ดังนั้น ปลาหมอคางดำก็เช่นกัน อาจจะมีผู้ลักลอบนำเข้ามา

          2. มีผู้ขอนำเข้ามาเพื่อการวิจัย ปรับปรุงพันธุ์ปลาในประเทศไทยสำหรับตระกูลปลานิล และปลาหมอเทศ ซึ่งมีการขอนำเข้ามาจำนวนหนึ่ง ซึ่งผลการวิจัยอาจสำเร็จหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ จะเกิดการหลุดรอดออกมาหรือไม่ ก็ไม่แน่ใจเพราะไม่ได้เห็นด้วยตา จึงยังไม่กล้าปรักปรำ

          นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรรายการ ได้รับปลาหมอสีคางดำทอดกลางรายการ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ปลานี้สามารถนำมาทำอาหารได้หลายรูปแบบ รวมถึงมีลักษณะคล้ายปลานิล

ปลาหมอสีคางดำ
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

ปลาหมอสีคางดำ
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

          ขณะที่นางสาวสุธิดา โส๊ะบีน ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จ.เพชรบุรี เปิดเผยว่า ปลาหมอสีคางดำจะมีการอมไข่เอาไว้ในปาก โดยตัวผู้จะอมไว้แทนตัวเมีย แล้วจะอมนานกว่าปกติจนกว่าจะมั่นใจว่าแข็งแรงพอจึงปล่อยออกมา ทำให้ปลาชนิดนี้ยิ่งแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว สูงสุดที่เจอคืออมไว้ 500 ตัว และมีวงจร 20 วันก็สามารถมีลูก วางไข่ได้แล้ว ระยะเวลาที่ฟักตัวอยู่ในช่วง 6 ชั่วโมง ปลาตัวอื่น 7-8 ชั่วโมง

          เฟซบุ๊ก ผู้บริโภค โพสต์ถึงวิธีการจัดการปลาหมอสีคางดำของ จ.เพชรบุรี ว่า ได้นำมาทำเป็นน้ำปลา วางขาย พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนสนับสนุนเพื่อลดการระบาด

ปลาหมอสีคางดำ
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

ปลาหมอสีคางดำ
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้


ขอบคุณข้อมูลจาก เรื่องเล่าเช้านี้


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดต้นตอ ปลาหมอสีคางดำ มาจากไหน ทำไมถึงระบาดหนัก จุดแข็งชนะปลาอื่นอยู่ที่ไหน อัปเดตล่าสุด 12 กรกฎาคม 2567 เวลา 15:33:48 56,729 อ่าน
TOP
x close