ตู้เย็นระเบิด ทะลุหลังคา เกิดขึ้นแล้ว ทั้งบ้านเกือบเอาชีวิตไม่รอด อ.เจษฎ์ บอกเกิดจากอะไร


            ครอบครัวระทึก ตู้เย็นระเบิดทำบ้านพังยับ เผยได้ยินเสียงดังก่อนมีไฟลุกไหม้ ด้าน อ.เจษฎา ชี้สาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง

ตู้เย็นระเบิด
ภาพจาก ข่าวช่องวัน

            วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ข่าวช่องวัน รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม เวลา 22.00 น. ตำรวจ สภ.เมืองร้อยเอ็ด ได้รับแจ้งเหตุตู้เย็นระเบิดภายในบ้านพักหลังหนึ่งที่หมู่ 12 บ.หนองจิก ต.ดงลาน อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ที่เกิดเหตุเป็นบ้านปูนชั้นเดียว พบชิ้นส่วนผนังบ้าน หลังคา ของบ้านพังเสียหายทั้งหลัง และบ้านที่อยู่ใกล้เคียงอีก 2 หลัง ถูกแรงระเบิดพังเสียหายกระจกแตก ตรวจสอบภายในห้องโถงกลางตัวบ้าน พบซากของตู้เย็นสีม่วง มีรอยไหม้พังเสียหายยับเยิน ตรวจสอบภายในบ้านมีผู้อยู่อาศัย 3 คน เป็นพ่อ แม่ ลูก

            สอบถาม นายรุ่งระพี อายุ 39 ปี เจ้าของบ้าน เล่าว่า ก่อนเกิดเหตุ ตนและภรรยานอนพักผ่อนอยู่ในห้อง ส่วนลูกชายนอนอยู่อีกห้องภายในบ้าน จู่ ๆ ได้ยินเสียงดังคล้ายระเบิดดังตูมขึ้น 1 ครั้งอย่างแรง ตนจึงออกมาดูก็พบว่ามีเปลวเพลิงลุกไหม้ที่ตู้เย็น จึงรีบไปตักน้ำมาสาด ก่อนจะวิ่งหลบหนีเพราะชิ้นส่วนของบ้านพังลงมาเกรงจะได้รับอันตราย

ตู้เย็นระเบิด
ภาพจาก ข่าวช่องวัน

            จากเหตุการณ์ดังกล่าว ตนก็ยังตั้งข้อสงสัยว่าจะเกิดจากสาเหตุอะไร เพราะบ้านของตนก่อสร้างได้มาประมาณ 3-4 ปี โดยลากปลั๊กไฟจากบ้านของแม่ภรรยาที่อยู่ด้านหน้ามาใช้ภายในบ้าน ซึ่งก็มีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่วางอยู่ใกล้ตู้เย็นก็คือ กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว กระทะไฟฟ้า นอกจากนี้ก็มีกระป๋องยาฆ่าแมลงอีกสองกระป๋องวางอยู่ใกล้กับตู้เย็นที่ใช้งานมาประมาณ 3 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ได้กดละลายน้ำแข็งมาได้ประมาณ 2 วัน

            ทั้งนี้ ตนอยากให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริง และหากเป็นไปได้ก็อยากให้ช่วยเยียวยาครอบครัวของตนซึ่งไม่มีที่อยู่ ต้องอาศัยอยู่กับบ้านแม่ของภรรยา และต้องหยุดงานรับจ้างส่งประตูม้วนเหล็ก คงขาดรายได้ไปอีกหลายวัน
ตู้เย็นระเบิด
ภาพจาก ข่าวเที่ยงช่องวัน

            ขณะที่ รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง เปิดเผยว่า ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีข่าว ตู้เย็นระเบิด เกิดขึ้นแล้วทั้งในไทยและต่างประเทศ และเคยเกิดขึ้นรุนแรงระดับที่ทำให้บ้านเรือนทรัพย์สินเสียหายได้ ซึ่งสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้น เป็นไปได้จากหลายปัจจัย ได้แก่

            1. ไฟฟ้าลัดวงจร : ส่วนมากจะเกิดการลุกไหม้จากปลั๊กและสายไฟ ทำให้เปลวเพลิงลามมาถึงตัวของตู้เย็น เมื่อตู้เย็นลุกไหม้ ก็เกิดการระเบิดขึ้น

            2. คอมเพรสเซอร์ระเบิด : เป็นกรณีที่พบได้เช่นกัน และจะเห็นร่องรอยการระเบิดที่ด้านหลังของตู้เย็น การที่คอมเพรสเซอร์ระเบิด เกิดจากเครื่องคอมเพรสเซอร์ทำงานหนักเกินไป หรือได้รับความร้อน (จากเพลิงไหม้) ถ้าแค่ตัวของคอมเพรสเซอร์เท่านั้นที่ระเบิด ส่วนมากก็จะไม่เกิดไฟลุกไหม้ขึ้น เพราะน้ำมันคอมเพรสเซอร์นั้น ไม่มีสถานะในการนำพาไฟ จึงไม่ทำให้ไฟติด (นอกเสียจากว่า จะเจอกับสารที่ทำให้ไฟติด อย่าง ออกซิเจนบริสุทธิ์ ที่พบได้บ่อยจากการตกค้างในการนำมาใช้ทดสอบรอยรั่ว ของท่อน้ำยาคอมเพรสเซอร์ในตู้เย็น เมื่อเกิดการสันดาปขึ้น จึงทำให้ระเบิดลุกไหม้ได้)

            3. เกิดจากแรงดันของก๊าซ หรือแอลกอฮอล์ : การที่นำเครื่องดื่มที่มีก๊าซอยู่ เช่น น้ำอัดลม เบียร์ หรือแม้แต่น้ำหอม ไปแช่แข็งในช่องฟรีซ ก็อาจทำให้ระเบิดได้ เนื่องจากแรงดันของก๊าซในเครื่องดื่มนั้นมีอยู่มาก ยิ่งมีหลายขวด ก็จะยิ่งเพิ่มความแรงขึ้น
 
ตู้เย็นระเบิด
ภาพจาก ข่าวเที่ยงช่องวัน

            10 ข้อควรระวังในการใช้ตู้เย็นเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุเช่นนี้ ได้แก่

            1. อย่าใช้งานตู้เย็น ในแบบที่ทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักเกินไป : เช่น การอัดแช่ของในตู้ จนแน่นเกินไป, การแช่ของน้อย ปล่อยให้ตู้โล่งเกินไป, การนำของร้อนไปแช่เย็น เป็นต้น

            2. ควรเดินสายดิน : การเดินสายดิน ช่วยป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรได้ และช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

            3. ตั้งตู้เย็นให้เหนือระดับน้ำ : สำหรับบ้านที่อยู่ใกล้น้ำหรือมีน้ำท่วมถึงแนะนำให้ยกระดับตู้เย็นขึ้น โดยใช้ขารองตู้เย็น เพื่อช่วยยกระดับขึ้นให้เหนือน้ำ

            4. ไม่กระตุกปลั๊กตู้เย็น : ในการดึงปลั๊กตู้เย็น ควรจับที่ตัวจับปลั๊ก ไม่ควรกระตุกจากสายไฟ เพราะอาจทำให้สายไฟขาดใน และอาจทำให้เกิดไฟรั่วได้

            5. ไม่เปลี่ยนอะไหล่หรือซ่อมตู้เย็นด้วยตัวเอง : หากไม่มีพื้นฐานในการซ่อมตู้เย็น ไม่ควรเปลี่ยนอะไหล่หรือซ่อมตู้เย็นด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้สายไฟรั่วขาดระหว่างซ่อมได้ หรือทำให้เกิดการรั่วของสารทำความเย็น เป็นต้น

            6. ไม่ใช้น้ำล้างตู้เย็น : การล้างตู้เย็น ควรใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดบิดให้แห้ง เช็ดตู้เย็น หรือเช็ดกำจัดกลิ่นด้วยน้ำส้มสายชูผสมน้ำ ไม่ควรใช้น้ำล้างตู้เย็นหรือน้ำร้อนมาราดในตู้เย็น เพราะอาจทำให้เกิดรอยรั่วได้ และที่สำคัญคือ ไม่ควรใช้น้ำยาที่มีสารเคมี มาเช็ดทำความสะอาดตู้เย็น

            7. ปิดตู้เย็นให้สนิททุกครั้ง : หากปิดตู้เย็นไม่สนิท จะทำให้ความร้อนเข้าไปด้านใน ส่งผลให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักขึ้น ทำให้น้ำแข็งละลาย ทำให้ของในตู้เย็นไม่เย็น และทำให้กินไฟ

            8. ควรเสียบปลั๊กกับเต้ารับโดยตรง : ไม่ควรเสียบปลั๊กตู้เย็นกับปลั๊กสามตาหรือใช้ร่วมกับปลั๊กอื่น ควรเสียบเข้ากับเต้ารับหลักโดยตรง

            9. ไม่ควรเก็บของที่มีสารเคมี หรือวัตถุไวไฟ ไว้ในตู้เย็น : ตัวอย่างเช่น สีหรือยาบางชนิด สารไวไฟ น้ำหอมที่ไม่มีฝาปิดสนิท เป็นต้น เพราะอาจทำให้เกิดการระเบิดได้

            10. หมั่นเช็กความผิดปกติของตู้เย็น : ถ้ามีอาการแปลกไป เช่น มีเสียงดังมากกว่าที่เคย มีความร้อนมากบริเวณข้างตู้เยอะเกินไป หรือมีกลิ่นอะไรแปลก ๆ อาจจะเป็นสัญญาณถึงความไม่ปกติ ไม่ควรนิ่งนอนใจ อาจลองตามช่างมาช่วยดูอาการให้ดีกว่า

            แถมด้วยว่า ในการเลือกซื้อตู้เย็น ก็ควรเลือกดูยี่ห้อที่มีความน่าเชื่อถือ และดูเรื่องการรับประกันและบริการหลังการขาย ประกอบด้วย
 
ตู้เย็นระเบิด
ภาพจาก ข่าวเที่ยงช่องวัน

ตู้เย็นระเบิด
ภาพจาก ข่าวช่องวัน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตู้เย็นระเบิด ทะลุหลังคา เกิดขึ้นแล้ว ทั้งบ้านเกือบเอาชีวิตไม่รอด อ.เจษฎ์ บอกเกิดจากอะไร อัปเดตล่าสุด 16 กรกฎาคม 2567 เวลา 11:26:54 39,500 อ่าน
TOP
x close