ทิ้งอย่างไรให้ได้เงิน ! น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ส่งต่อเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ได้

แชร์วิธีสร้างรายได้จากของเหลือทิ้งในครัวเรือนอย่างน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ นับเป็นการนำของเหลือใช้กลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้ใหม่ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy

Circular Economy

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับโลกใบนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการใช้ทรัพยากรได้ไม่คุ้มค่า ผลิตมาใช้ไป ใช้เสร็จก็ทิ้ง กลายเป็นของเสียค้างอยู่ในระบบ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับอุตสาหกรรมและในภาคครัวเรือน เมื่อมองย้อนกลับมาใกล้ ๆ ตัวจะมีอยู่สิ่งหนึ่งที่คนมักใช้แล้วทิ้งไปโดยไม่คำนึงถึงการทิ้งที่ถูกวิธี นั่นก็คือน้ำมันที่ใช้ในการปรุงอาหารนั่นเอง โดย น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil : UCO) หากไม่มีการจัดการที่ถูกต้องจะก่อปัญหาต่อระบบบำบัดจนสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมในแบบที่เราคาดไม่ถึง รวมถึงหากมีการนำมาใช้ปรุงอาหารซ้ำก็จะนำมาซึ่งความเสี่ยงที่จะเกิดสารก่อมะเร็งต่อผู้บริโภคอีกด้วย

น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว

กลุ่ม ปตท. โดยทีม PRISM (Petrochemical and Refining Integrated Synergy Management) เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ผนึกกำลังกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันป้องกันปัญหาในเชิงรุกผ่านการดำเนินงาน โครงการนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วไปผลิตเป็นไบโอดีเซล ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและประยุกต์ใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยรับซื้อและจัดเก็บน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากชุมชน หน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ แล้วนำไปปรับปรุงคุณภาพเพื่อใช้ในการผลิตเป็น Biodiesel (B100) หรือ Bio Jet (SAF) นำกลับมาใช้งานได้ใหม่เป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง ซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน มีการหมุนเวียนนำของเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ ลดการเกิดของเสียหรือไม่มีเลย เพื่อแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ถือเป็นทางเลือกใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนในอนาคต

ทีนี้เราไปดูกันว่าจะสามารถเปลี่ยนน้ำมันใช้แล้วให้มีมูลค่าได้อย่างไร และหากต้องการขายต้องทำอย่างไรบ้าง

น้ำมันปรุงอาหาร

น้ำมันพืชใช้แล้วเปลี่ยนเป็นอะไรได้บ้าง ?

  • Biodiesel (B100) หรือไบโอดีเซลล้วน ๆ ที่ไม่ผสมน้ำมันดีเซลปกติ ได้จากการทำปฏิกิริยาระหว่างไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ที่อยู่ในน้ำมันพืชและไขมันสัตว์ เช่น น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ สเตียริน ร่วมกับแอลกอฮอล์ เช่น เมทานอล จนได้เป็นสารเอสเตอร์ (Ester) ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล สามารถใช้ทดแทนได้โดยตรง เป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้รถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี
น้ำมันปรุงอาหาร

  • นํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) หรือน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตจากวัตถุดิบชีวมวล ซึ่งหนึ่งในนั้นคือของเสียประเภทนํ้ามันที่ผ่านการใช้งานแล้วจากอุตสาหกรรมอาหาร นำไปแปรสภาพผ่านปฏิกิริยาเคมีให้กลายเป็นสารตั้งต้น ก่อนนำไปแปลงเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยานอีกที แล้วผสม SAF เข้ากับนํ้ามันเจ็ตแบบเดิม นำไปใช้ในเครื่องบินได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนหรือปรับปรุงเครื่องยนต์ เป็นพลังงานทางเลือกที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงสุดถึง 80% เทียบกับน้ำมันเจ็ตแบบเดิม
นํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน

นอกจากนี้ยังมี กลีเซอรีน ที่ได้จากกระบวนการผลิต B100 สามารถนำไปกลั่นให้บริสุทธิ์เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา เครื่องสำอาง และสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติก หรือนำน้ำมันพืชใช้แล้วไปผสมกับวัสดุอื่น ๆ เช่น พาราฟิน หรือเศษไม้ นำไปขึ้นรูปทำเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง รวมถึงเป็นอาหารเสริมแก่ปศุสัตว์ เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการในอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มน้ำหนักด้วย

การขายน้ำมันใช้แล้วเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ มีวิธีการอย่างไร

  • ก่อนอื่นให้นำน้ำมันใช้แล้ววางทิ้งไว้ให้เย็นสนิทก่อน แล้วกรองเอาตะกอนและเศษอาหารออก จนน้ำมันใส ไม่ขุ่น และต้องไม่มีน้ำเจือปน (เพราะน้ำมันที่มีน้ำผสมอยู่จะไม่สามารถนำไปใช้ได้) 
  • จากนั้นนำไปบรรจุใส่ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง หรือปี๊บที่สะอาดให้เรียบร้อย ปิดฝาให้มิดชิด แล้วนำไปส่งต่อให้กับจุดรับซื้อ 
  • ราคารับซื้อน้ำมันใช้แล้วจากจุดรับซื้อจะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 18-25 บาท หรือปี๊บละประมาณ 350-500 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพและเรตราคาของผู้รับซื้อแต่ละเจ้า (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2567) 
  • ผู้รับซื้อจะเช็กคุณภาพของน้ำมันใช้แล้วในเบื้องต้น ก่อนประสานกับผู้ขนส่งและผู้รวบรวมรายใหญ่ให้เข้ามารับน้ำมัน
  • ผู้รวบรวมจะทำการควบคุมคุณภาพน้ำมันก่อนจัดส่งไปยังผู้ผลิต เพื่อผลิตเป็น Biodiesel (B100) หรือ Bio Jet (SAF) ตามมาตรฐานที่หน่วยงานราชการกำหนด

  • จากนั้นผู้ผลิตจะส่งมอบให้กับผู้ค้าน้ำมันสำหรับนำไปผสมตามมาตรฐาน เพื่อใช้จำหน่ายในภาคขนส่งต่อไป

น้ำมันปรุงอาหาร

การขายน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว นอกจากจะเป็นไอเดียที่ดีในการสร้างรายได้จากของเหลือทิ้งที่เดิมมองว่าไร้ประโยชน์แล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริมการจัดการน้ำมันใช้แล้วได้อย่างถูกวิธี ลดการนำไปใช้ซ้ำจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ทำให้เกิดปัญหามลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศพร้อมก้าวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาด และเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์มากที่สุดอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทิ้งอย่างไรให้ได้เงิน ! น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ส่งต่อเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ได้ อัปเดตล่าสุด 13 สิงหาคม 2567 เวลา 09:05:16 9,020 อ่าน
TOP