ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ เผยยอดขาดทุนจากผู้ป่วยบัตรทอง ประกันสังคม 4 ปีทะลุไป 2,500 ล้านบาท ถ้าหากเป็นแบบนี้อยู่คงมีปัญหา อยู่ในระบบคงรอดยาก
จากกรณีที่โรงพยาบาลรัฐ 403 แห่ง ประสบปัญหาสภาพคล่อง ไม่ได้รับงบบัตรทองผู้ป่วยในจากสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จนกลายเป็นข่าวใหญ่ ทำให้ทาง สปสช. ออกมาชี้แจงว่า เงินของผู้ป่วยใน สปสช. มีการจ่ายเงินเป็นรายเดือน และมีการตัดเงินในส่วนเงินเดือนหรือค่าแรงหน่วยบริการของรัฐด้วย เพราะสำนักงบประมาณไม่ได้จ่ายเงินเดือนให้กับค่าราชการโดยตรง
ส่วนงบประมาณปี 2567 มีการผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณช้ามาก การจ่ายเงินของ สปสช. จึงให้ตัวเลขงบของปีก่อนหน้าไปพลาง ๆ ช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็หักเงินเดือนออกจำนวนไม่มากนัก กระทั่งมีการประกาศใช้งบประมาณปี 2567 ก็หักเงินเดือนมากขึ้น พอหักกลบลบหนี้ทำให้ไม่ได้จ่ายเงินเพิ่ม แต่เงินที่ได้รับก็ได้ครบทั้งหมด คาดว่าปีหน้าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะงบปี 2568 ผ่านสภาเรียบร้อย ดังนั้น การหักเงินเดือนก็จะเกลี่ยให้เท่า ๆ กันทุกเดือน เริ่มต้นที่ 8,350 บาทก่อน
วันที่ 4 กันยายน 2567 เฟซบุ๊ก Somsak Tiamkao ของ นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ มีการโชว์เรื่องการเบิกจ่ายบัตรทองและประกันสังคมของผู้ป่วย รพ. ระหว่างเดือนตุลาคม 2566 - กรกฎาคม 2567 พบว่า มีการขาดทุนรวม 564 ล้านบาท
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Somsak Tiamkao
ถ้าจำแนกรายละเอียดของสิทธิการรักษา แบ่งได้เป็น 4 ส่วนดังนี้
- บัตรทอง รพ.ศรีนครินทร์ ขาดทุน 50 ล้านบาท
- บัตรทอง ส่งต่อผู้ป่วยนอก ขาดทุน 94 ล้านบาท
- บัตรทอง ส่งต่อผู้ป่วยใน ขาดทุน 368 ล้านบาท
- ประกันสังคมผู้ป่วยนอกและใน ขาดทุน 50 ล้านบาท
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Somsak Tiamkao
ขณะที่ นพ.มานพ พิทักษ์ภากร แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า จากกรณีดังกล่าว คาดว่ายอดการขาดทุนทั้งปีน่าจะไม่ต่ำกว่า 650 ล้านบาท ซึ่งยอดขาดทุนนี้ มากกว่า 90% มาจากสิทธิบัตรทองที่ สปสช. จ่ายต่ำกว่ายอดใช้จริงอย่างมาก ถ้าโรงพยาบาลขนาดใหญ่อยู่ไม่ได้ ระบบคงรอดยาก