มหาเศรษฐีทิ้งมรดก 1.8 แสนล้านไว้ในบัญชี แต่ทำไมลูก 9 คน ยังไม่มีใครได้เงิน


           มหาเศรษฐี เสียชีวิตในวัย 92 ปี ทิ้งเงิน 1.8 แสนล้านไว้ในธนาคาร แต่ลูก 9 คน ไม่มีใครได้เงินไป เว้นจะยอมจ่ายเงิน 3 ใน 4 ผ่านไปสิบกว่าปี เงินยังแช่ติดบัญชี

มรดก

           วันที่ 14 กันยายน 2567 เว็บไซต์ Soha รายงานเรื่องราวของ หวังหย่งชิง มหาเศรษฐีชาวจีน ผู้พลิกชีวิตจากเด็กยากจนกลายมาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และมีทรัพย์สินมากมายมหาศาล เขามีภรรยา 3 คน และลูกถึง 9 คน จึงหาทางจัดการทรัพย์สินไว้เป็นอย่างดีเพื่อไม่ให้ลูก ๆ ต้องทำสงครามมรดก แต่ในขณะที่เขายังไม่ทันได้แบ่งทรัพย์สินทั้งหมดให้เรียบร้อย หวังหย่งชิงกลับเสียชีวิตอย่างกะทันหันในวัย 92 ปี โดยที่ยังมีเงินฝากร่วม 4 หมื่นล้านหยวน (ราว 1.87 แสนล้านบาท) อยู่ในธนาคารสวิส

           ปัญหาคือเงินมรดกก้อนนี้ ไม่มีลูก ๆ คนไหนเลยที่สามารถเข้าถึงหรือได้รับไป และแม้เวลาจะผ่านมานานสิบกว่าปี ก็ยังไม่มีใครหาทางนำเงินก้อนนี้ออกมาได้ เว้นแต่จะยอมสูญเสียเงินเป็นจำนวน 3 ใน 4 ของทรัพย์สินดังกล่าว

           รายงานเผยว่า หวังหย่งชิง เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน พ่อแม่มีอาชีพปลูกชาและสามารถส่งเขาเรียนได้จนถึงแค่อายุ 15 ปีเท่านั้น แต่เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงโชคชะตา หวังหย่งชิงในวัย 16 ปี จึงขอเงินทุนจากพ่อจำนวน 200 หยวน (ราว 930 บาท) มาเปิดร้านขายข้าว

           เพื่อจะแข่งขันกับร้านอื่น ๆ เขาจึงตั้งใจคัดเอาสิ่งสกปรกจากข้าวให้ได้มากที่สุด และมีบริการล้างถังใส่ข้าวให้ลูกค้าฟรี จนเมื่อเวลาผ่านไปร้านของเขาก็กลายเป็นที่รู้จักของลูกค้ามากมาย กิจการของเขาดีขึ้นเรื่อย ๆ จนเปิดโรงสีข้าวเป็นของตัวเองได้ และในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปีของการทำธุรกิจ หวังหย่งชิงก็มีทรัพย์สินมากมาย

           นับจากนั้นเขาก็ใช้เงินเก็บทั้งหมดลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และสามารถคว้าดีลดี ๆ ได้หลายโปรเจกต์ ก่อนจะเริ่มลงทุนในธุรกิจค้าไม้ ซึ่งสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง
 
           จากนั้นในปี 2549 รัฐบาลท้องถิ่นก็ได้โน้มน้าวให้หวังหย่งชิงหันมาทำธุรกิจเกี่ยวกับพลาสติก เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐีของประเทศ แม้ว่าเขาจะไม่ค่อยมีความรู้ในธุรกิจนี้ เขาก็ยังตัดสินใจเปิดบริษัท จนกระทั่งในปี 2500 เขาก็ต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ใจ เพราะรู้ตัวว่าธุรกิจกำลังเดินหน้าไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งพ่อของเขายังเสียชีวิต หวังหย่งชิงที่รับมือกับความสูญเสียไม่ได้ จึงคิดที่จะยอมแพ้  

           แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจเดินหน้าต่อ ซึ่งดูเหมือนสุดท้ายความพยายามจะเกิดผลสำเร็จ ในปี 2521 บริษัทพลาสติกของเขาสร้างรายได้มหาศาลร่วม 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3 หมื่นล้านบาท) และยังประสบความสำเร็จในระดับโลก ต่อมาเขาจึงขยายขอบเขตธุรกิจไปยังด้านพลังงาน ทั้งไฟฟ้า แก๊ส และน้ำมัน
 
           เพราะเคยผ่านความลำบากมาก่อน หวังหย่งชิงจึงมักช่วยเหลือและมีส่วนร่วมในการกุศลเสมอ เขาใช้ทรัพย์สินที่มีในการพัฒนาสังคม โดยเลือกที่จะเปิดโรงพยาบาลแบบไม่มุ่งทำกำไร เขาคิดค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำมาก เพื่อให้ผู้คนมากมายสามารถเข้าถึงบริการเพื่อสุขภาพ   
 
           จากนั้นในปี 2551 ตอนที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวในจีน หวังหย่งชิงก็สละเงิน 100 ล้านหยวน (ราว 4.6 แสนล้านบาท) ในการช่วยเหลือผู้คนที่เผชิญภัยพิบัติ ก่อนที่หวังหย่งชิงจะเสียชีวิตในเดือนตุลาคมปีนั้น ด้วยอายุ 92 ปี

           เนื่องจากหวังหย่งชิงมีทายาทถึง 9 คน คือลูกชาย 2 คน และลูกสาว 7 คน จึงมีความเป็นไปได้ที่ลูก ๆ จะต่อสู้แย่งชิงสิทธิ์ในมรดกจากผู้เป็นพ่อ ดังนั้นขณะที่หวังหย่งชิงยังมีชีวิต เขาจึงตัดสินใจตั้งกองทรัสต์ในต่างประเทศ โดยนำทรัพย์สินส่วนใหญ่ของตนลงทุนในกองทรัสต์ เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวสามารถเข้าถึงเงินนี้โดยไม่เกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างพี่น้อง

           ด้วยกองทรัสต์นี้ ทุก ๆ ปีลูก ๆ ของเขาจะได้รับเงินที่ถูกจัดสรรให้ ซึ่งเป็นในส่วนของดอกเบี้ย แต่จะไม่มีใครที่สามารถเข้าไปยุ่งกับเงินต้นได้  

           นอกจากกองทรัสต์ หวังหย่งชิงยังฝากเงินจำนวน 4 หมื่นล้านหยวน ไว้กับธนาคารที่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีระบบรักษาความลับขั้นสูง ตามกฎหมายธนาคารสวิตเซอร์แลนด์จะไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าต่อบุคคลที่สามได้ ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเป็นเจ้าหน้าที่ภาษี รัฐบาลต่างชาติ หรือแม้แต่ทางการสวิสเอง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหวังหย่งชิงเสียชีวิตอย่างกะทันหันโดยยังไม่ได้ทำเรื่องแจกจ่ายทรัพย์สินส่วนนี้ ทำให้เงินฝาก 4 หมื่นล้านหยวน ถูกแช่แข็งไว้ในบัญชีธนาคาร

           ลูก ๆ ทั้ง 9 คนของหวังหย่งชิงไม่มีใครสามารถนำเงินออกมาได้ เนื่องจากระบบของธนาคารกำหนดไว้ว่า ทรัพย์สินของบุคคลหนึ่ง จะมีแค่บุคคลนั้นที่สามารถเข้าถึงได้ ลูก ๆ ของเขาพยายามหาวิธีการมากมายเพื่อนำเงินของพ่อคืน แต่ท้ายที่สุด วิธีเดียวที่ทางธนาคารเสนอก็คือให้ลูก ๆ ของหวังหย่งชิง จ่ายภาษีมรดกแก่ธนาคาร เป็นเงิน 3 หมื่นล้านหยวน (ราว 1.4 แสนล้านบาท) ซึ่งลูก ๆ ของเขาไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ที่จะทำให้เงิน 3 ใน 4 หายไปเฉย ๆ

           แต่หากไม่ชำระภาษีมรดก พวกเขาก็จำเป็นต้องนำใบรับรองจากหวังหย่งชิงมายื่น ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะหวังหย่งชิงเสียชีวิตอย่างกะทันหัน โดยไม่ทันได้ทิ้งเอกสารใด ๆ ไว้ สุดท้ายเมื่อไม่เหลือหนทาง ทำให้เงินจำนวนดังกล่าวยังคงติดค้างอยู่ในบัญชีธนาคาร แม้เวลาจะผ่านมานานสิบกว่าปี

ติดตามอ่าน ข่าวต่างประเทศ ที่น่าสนใจได้ที่นี่

ขอบคุณข้อมูลจาก Soha


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มหาเศรษฐีทิ้งมรดก 1.8 แสนล้านไว้ในบัญชี แต่ทำไมลูก 9 คน ยังไม่มีใครได้เงิน โพสต์เมื่อ 16 กันยายน 2567 เวลา 15:30:32 32,907 อ่าน
TOP
x close