เตือนภัย นักศึกษานับ 10 ราย หลงเชื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขู่พัวพันคดี หลอกจะช่วยเคลียร์ต้องไปกักตัวเงียบ ๆ ก่อนเรียกค่าไถ่ผู้ปกครอง เสียหนักสุด 5 แสน
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
วันที่ 10 ตุลาคม 2567 ข่าวช่อง 3 รายงานว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้ร่วมกับตำรวจ สภ.โพธิ์กลาง จัดกิจกรรมเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อ "SUT รู้ทันกลลวง คอลเซ็นเตอร์ ภัยร้ายใกล้ตัว" หลังจากที่เกิดเหตุการณ์แก๊ง คอลเซ็นเตอร์ โทรศัพท์มาใช้อุบายหลอกนักศึกษาให้ไปเช่าหอพักกักตัว แล้วหลอกให้ผู้ปกครองโอนเงินให้ ซึ่งพบว่ามีนักศึกษาในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และในพื้นที่อื่น ๆ ตกเป็นเหยื่อลักษณะนี้หลายราย ซึ่งนอกจากลักษณะดังกล่าว ยังมีนักศึกษา มทส. ตกเป็นเหยื่อจากภัยมิจฉาชีพรูปแบบต่าง ๆ อีกกว่า 200 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3 ล้านบาท
นายอรรถวุฒิ ภูคำวงษ์ ที่ปรึกษาหอพัก มทส. เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 1 สิงหาคม - 30 กันยายน 2567 มีนักศึกษา มทส. ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพรูปแบบต่าง ๆ มากกว่า 200 ราย โดยเฉพาะภัยจากมิจฉาชีพหลอกว่ามีส่วนพัวพันกับการกระทำความผิด และออกอุบายให้นักศึกษาไปเช่าหอพักกักตัว หลอกให้ผู้ปกครองโอนเงินมาให้ ซึ่งมีนักศึกษา มทส. ตกเป็นเหยื่อมากกว่า 10 ราย ในจำนวนนี้ตำรวจสามารถช่วยเหลือไว้ได้ทัน 2 ราย
เปิดอุบายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้คดีหลอก นศ. ให้ไปกักตัวเงียบ ก่อนรีดค่าไถ่ผู้ปกครอง
พฤติกรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะทำงานกันเป็นทีม เริ่มจากปลอมเป็นตำรวจ โทรศัพท์หาผู้เสียหาย ทำเป็นว่ามีหมายเลขบัตรประชาชนไปเกี่ยวข้องคดีต่าง ๆ เช่น ไปติดตั้งอินเทอร์เน็ตบ้านแล้วไม่ชำระเงินที่ต่างจังหวัด พัวพันเว็บพนันออนไลน์ เว็บสื่อลามกอนาจาร แล้วแต่มิจฉาชีพจะสร้างสถานการณ์ข่มขู่ให้เหยื่อเกิดความหวาดกลัว เกี่ยวกับคดีต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น
หลังจากเหยื่อหลงเชื่อ มิจฉาชีพจะให้เหยื่อไปหาสถานที่เงียบ ๆ คนเดียว สนทนาโดยไม่ให้มีบุคคลที่สาม อยู่ด้วย และสั่งห้ามบอกใครเด็ดขาด ออกกลอุบายให้เหยื่อไปเช่าห้องพักกักตัวเองเพื่อพูดคุยคดีความ เหยื่อบางรายกักตัวเอง 7 วัน โดยมิจฉาชีพจะใช้จิตวิทยาพูดคุยเหยื่อผ่านออนไลน์ พร้อมห้ามบอกใครว่าพักอยู่ที่ไหน
หลังจากเหยื่อดำเนินการต่าง ๆ เสร็จ มิจฉาชีพก็เริ่มให้เหยื่อโอนค่าการดำเนินคดีก่อน และควบคุมเหยื่อผ่านออนไลน์ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งมิจฉาชีพจะทำหน้าที่เข้าเวร เปลี่ยนกันควบคุมเหยื่อทางออนไลน์ หลังจากนั้นจะให้เหยื่อหลอกลวงผู้ปกครองสร้างสถานการณ์ต่าง ๆ ในการหาเงินมาให้ เช่น ให้ถ่ายรูปปัจจุบันแล้วตกแต่งภาพผ่านแอปฯ ต่าง ๆ ว่าโดนทำร้ายร่างกาย หรือให้พิมพ์ข้อความว่าถูกจับตัวหรือหายตัวออกจากหอ แล้วส่งไปให้ผู้ปกครอง พร้อมสั่งให้เหยื่อพิมพ์ข่มขู่ผู้ปกครองตนเองเพื่อให้ได้เงิน
หากผู้ปกครองคนไหนหลงเชื่อก็จะโอนให้บุตรหลานอย่างรวดเร็ว เพราะมิจฉาชีพใช้เหยื่อเป็นเครื่องมือในการติดต่อผู้ปกครอง ไม่ได้ให้ติดต่อเอง เพราะถ้าผู้ปกครองโอนโดยตรงก็จะเกิดข้อสงสัยถึงเลขบัญชีปลายทาง จึงต้องใช้บัญชีเหยื่อเป็นเครื่องมือ และให้โอนเงินให้กลุ่มมิจฉาชีพอีกที
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
จากนั้นมิจฉาชีพจะโทร. หาผู้ปกครองเอง ข่มขู่ว่าลูกติดพนันออนไลน์ ให้นำเงินมาใช้หนี้ หรือถูกจับเรียกค่าไถ่บ้าง แล้วแต่จะสร้างสถานการณ์ หากผู้ปกครองหลงเชื่อก็จะเสียทรัพย์ทันที เคสล่าสุดดีที่ไปช่วยได้ทัน รู้ที่พักของเหยื่อที่ถูกหลอกไปเช่าอยู่ แจ้งผู้ปกครองและคนรอบและห้ามการโอนได้ แต่ก็มีการเสียทรัพย์จำนวนหนึ่ง เคสนี้เสียเงิน 33,000 บาท
อย่างไรก็ดี มีบางเคสที่ไปเช่ารีสอร์ตซึ่งอยู่ห่างไกลมหาวิทยาลัย ทำให้ติดต่อไม่ได้ มีนักศึกษารายหนึ่งที่ถูกหลอกเสียเงินมากที่สุดมากถึง 5 แสนบาท ขณะที่เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา เพียงวันเดียว มีเคสนักศึกษา มทส. ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ 3 ราย เสียเงินไปกว่า 6.9 แสนบาท ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าถ้ารวมความเสียหายของเหยื่อทั้งหมดกว่า 200 คน จะมากกว่า 3 ล้านบาท หลังจากนี้ทางหอพักมหาวิทยาลัย จะมีการแจ้งข่าวสาร เตือนนักศึกษาหลากหลายช่องทาง และขอความอนุเคราะห์ให้หอพักเครือข่าย มทส.และหอพักรอบมหาวิทยาลัยสอดส่องดูแลเด็กในหอพักอย่างใกล้ชิด
มิจฉาชีพมีการให้เหยื่อตายใจ โอนเงินให้ค่าเช่าห้องพักเพื่อถ่วงเวลาให้เหยื่ออยู่กักตัวเองต่อ และหาแนวทางให้เหยื่อโกหกหลอกให้ผู้ปกครองโอนเงินให้ได้มากที่สุด และจะอ้างว่าทำเรื่องทางคดียังไม่เสร็จ เงินที่จ่ายให้กลับมาก็คือเงินเหยื่อที่โอนให้จำนวนก่อนหน้านี้
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
แนะอย่าหลงเชื่อว่าโดนคดี ย้ำตำรวจไม่แจ้งข้อหาผ่านโทรศัพท์
ด้าน พ.ต.อ. วีณวัฒน์ ศรีแย้ม ผกก.สภ.โพธิ์กลาง กล่าวว่า กรณีนี้มีนักศึกษา มทส. ตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพกว่า 200 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นการหลอกให้ซื้อของออนไลน์แล้วได้ของไม่ตรงปก แต่ที่สูญเสียเงินมาก ๆ จะเป็นกลุ่มที่ถูกมิจฉาชีพปลอมเป็นตำรวจ แจ้งว่านักศึกษาเกี่ยวข้องกับคดีต่าง ๆ เช่นคดีพนันออนไลน์ ซึ่งวัยรุ่นหลายคนอาจจะเคยเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็จะข่มขู่ว่าอาจเชื่อมโยงกับคดี ฟอกเงินให้เหยื่อหวาดกลัว แล้วอ้างว่าจะช่วยเคลียร์คดีให้ แต่ต้องทำตามที่บอก ทำให้นักศึกษาหลงเชื่อโอนเงินไปให้จำนวนมาก
ตำรวจฝากเตือนว่า หากถูกข่มขู่ด้วยคดีเช่นนี้ ความผิดลักษณะนี้เป็นความผิดเล็กน้อย ไม่ต้องกลัว นอกจากนี้ ทางตำรวจไม่มีนโยบายโทรศัพท์มาแจ้งข้อกล่าวหา แต่จะมีการออกหมายเรียกให้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาเท่านั้น ถ้าสงสัยก็ขอให้เข้ามาที่โรงพักใกล้เคียง เพื่อให้ตรวจสอบว่าคนที่โทรศัพท์มาเป็นตำรวจจริงหรือปลอม อย่าเพิ่งหลงเชื่อโอนเงินไปเป็นอันขาด เพราะถ้าโอนเงินไปแล้วจะไม่มีโอกาสได้เงินคืนแน่นอน
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
ขอบคุณข้อมูลจาก ข่าวช่อง 3