ไขปริศนา เงาะกระป๋องห้ามแช่ตู้เย็น ตกลงแช่ได้หรือไม่ได้ เพจดังด้านโลหะวิทยา ออกมาชี้แจงให้เห็นภาพ เป็นความรู้ พร้อมเทียบกับเครื่องดื่มกระป๋อง

เวลาซื้อผลไม้กระป๋องมากิน หากจะกินให้อร่อย ๆ ต้องเอาไปแช่ช่องฟรีซเย็น ๆ พอผลไม้แข็งตัว ตักเข้าปากแล้วจะรู้สึกสดชื่น ชื่นใจ แต่หลายคนก็อาจจะเจอคำเตือนข้างกระป๋องที่ว่า "หลีกเลี่ยงการแช่ในตู้เย็นทั้งกระป๋อง เพื่อป้องกันการเกิดสนิม" แบบนี้การที่เอาผลไม้กระป๋องไปแช่ตู้เย็นได้ เป็นสิ่งที่เข้าใจผิดมาตลอดเลยไหม
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขียนเตือนไว้ข้างกระป๋องว่า "หลีกเลี่ยงการแช่ในตู้เย็นทั้งกระป๋อง เพื่อป้องกันการเกิดสนิม" ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดอีกเช่นกัน เพียงแต่คนตีความและขยายผลผิดเกินจริง ทำให้เกิดการตื่นตระหนกจนเข้าใจว่า ผลไม้กระป๋องแช่ตู้เย็นไม่ได้
สิ่งที่เตือนสิ่งที่เขียนเตือนไว้ข้างกระป๋องที่จริงแล้ว เตือนเรื่องการเกิดสนิมจากบริเวณขอบตัดของกระป๋องที่อยู่ผนังด้านนอก เนื่องจากหากเก็บไว้ในที่ชื้นบริเวณนี้มันจะเกิดสนิมได้ง่าย เนื่องจากไม่มีแลคเกอร์ ไม่มีชั้นโลหะป้องกันสนิม
ดังนั้น ข้างกระป๋องส่วนใหญ่จึงเขียนไว้ว่า ให้เก็บในที่แห้งและเย็น ซึ่งก็คือ ที่ร่ม ไม่โดดแดด เพราะถ้ากระป๋องโดนแดด ก็จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนเสี่ยงที่จะเกิดสนิม

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Metallurgical Failure Analysis
การแช่ผลไม้กระป๋องในตู้เย็น สรุปทำได้หรือไม่ได้
ถ้าแช่เพียงคืนเดียวแล้วกิน แบบนี้แช่ได้ แต่ถ้าแช่ยาว ๆ ทางเพจไม่แนะนำ เนื่องจากบริเวณรอยซีม (Seam) ของกระป๋อง บริเวณร่องกรีดของฝา Easy Open บริเวณนี้จะเป็นส่วนขอบตัด (Cut Edge) หรือเป็นบริเวณที่ไม่มีชั้นเคลือบป้องกันสนิม หากมันขยายตัวไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้กระป๋องทะลุได้
พอกระป๋องทะลุทีนี้ก็บันเทิง อากาศเข้าไปได้ และเกิดการกัดกร่อนอย่างรุนแรงของชั้นเคลือบพอเปิดกระป๋องมาอาจเห็นเป็นคราบดำ ๆ ของออกไซด์ดีบุก หรืออาจเกิดคราบสนิมของเหล็ก ซึ่งถ้าหากถึงขั้นนี้ อาจทำให้อาหารข้างในเสีย
แล้วเบียร์กระป๋อง ทำไมถึงแช่ได้
กระป๋องเบียร์ กระป๋องน้ำอัดลม พวกนี้กระป๋องทำจากอะลูมิเนียม ซึ่งทนต่อการกัดกร่อน อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้ปลอดภัยแบบ 100% บริเวณรอยบากที่เปิดกระป๋อง หากเปียกมาก ๆ มีคลอไรด์เล็กน้อย ก็อาจจะเกิดการกัดกร่อนกับความเค้นได้ และทำให้กระป๋องเปิดเอง

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Metallurgical Failure Analysis