สุ่มตรวจ องุ่นไชน์ มัสแคท จาก 15 แหล่ง ที่ขายในไทย พบสารเคมี 23 จาก 24 ตัวอย่าง บางแห่งเยอะ 50 สาร ส่วนใหญ่จะดูดซึม แม้ล้างแล้วก็ไม่ออก
วันที่ 24 ตุลาคม 2567 ThaiPBS รายงานว่า เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลทดสอบสารเคมีเกษตรในองุ่น ไชน์ มัสแคท ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลสุ่มตรวจองุ่นไชน์ มัสแคท 24 ตัวอย่าง โดยสุ่มตรวจสารเคมีเกษตรมากกว่า 400 ชนิด พบสารเคมีเกษตรตกค้างในทุกตัวอย่างที่ตรวจ และพบตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากถึงร้อยละ 95.8
ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า องุ่นไชน์ มัสแคทที่มีขายอยู่ทั่วไปในช่วงเวลานี้ มีโปรโมชันและการเชิญชวนให้ซื้อมาก ๆ เช่น การลดราคาหรือการแถมแบบ ซื้อ 1 กล่องแถม 1 กล่อง อีกทั้งยังมีวางจำหน่ายไปทั่ว ซึ่งผู้บริโภคส่วนหนึ่งกังวลว่าจะมีความเสี่ยงในเรื่องของสารพิษตกค้างหรือไม่ ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างองุ่นไชน์ มัสแคทจาก 15 สถานที่จำหน่ายในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ทั้งตลาดทั่วไปและห้างค้าปลีก ตลาดออนไลน์ 2 ที่ รถเร่ 5 ที่และโมเดิร์นเทรดที่แพคขายรวม 24 ตัวอย่าง โดยเก็บ 1 กิโลกรัม ต่อหนึ่งตัวอย่างและต้องมาจากคนละแหล่งกัน ตรวจหาสารพิษ 400 ตัวอย่าง
ด้าน ปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช Thai-PAN เปิดเผยว่า จากผลการตรวจแหล่งที่มาขององุ่นไชน์ มัสแคท 24 ตัวอย่าง สามารถระบุได้ว่ามาจากจีนได้ 9 ตัวอย่าง ส่วนอีก 15 ตัวอย่างไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้
นอกจากนี้ ยังพบว่าตัวอย่างองุ่นมีสารพิษที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายของไทย จึงไม่มีการประเมินความปลอดภัย อีกทั้งสารที่พบส่วนใหญ่เป็นสารกำจัดโรคพืช และจึงเป็นคำตอบว่าทำไมองุ่นที่พบอยู่ได้เป็นเดือน โดยพบสารกำจัดแมลงไร 40% สารกำจัดโรคพืช 56% และสารพวกนี้เป็นสารดูดซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อขององุ่น ทำให้องุ่นอยู่ได้นานเป็นเดือน และการล้างเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วย
องุ่น 24 ตัวอย่างพบสารพิษตกค้างระหว่าง 7-18 ชนิด โดย 23 ชนิดจาก 24 ตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินที่กฎหมายกำหนด 50 ชนิด และพบใน 23 ตัวอย่างเป็นสารเคมีเกษตรตามกฎหมายของไทยภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย
จากกรณีดังกล่าว แนะนำให้ห้างโมเดิร์นเทรด และผู้จำหน่ายองุ่นไชน์ มัสแคท ที่มีการสุ่มตัวอย่างและพบสารพิษตกค้างไม่เกินค่าที่กฎหมายกำหนด ควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการเก็บออกจากชั้นวางจำหน่าย และหากขายหมดแล้วควรแถลงมาตรการที่ชัดเจนกับซัพพลายเออร์ และแหล่งผลิตที่มีสารพิษตกค้าง ควรต้องยกเลิกการนำเข้า และต้องระบุแหล่งที่มา ประเทศต้นทางเพื่อให้ตรวจสอบย้อนกลับได้ถ้ามีปัญหา
ข้อค้นพบสำคัญของการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในองุ่นไชน์ มัสแคท ได้แก่
1. ประเทศผู้ผลิตองุ่นไชน์ มัสแคท 24 ตัวอย่าง ที่สุ่มซื้อมาจากการสั่งออนไลน์ 2 ตัวอย่าง มาจากร้านค้าและตลาด 7 ตัวอย่าง และจากโมเดิร์นเทรด 15 ตัวอย่าง สามารถระบุได้เพียง 9 ตัวอย่างว่ามาจากประเทศจีน อีก 15 ตัวอย่างไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้
2. 95.8% ของตัวอย่างองุ่นไชน์ มัสแคทหรือ 23 จาก 24 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
- องุ่น 1 ตัวอย่าง พบสารคลอร์ไพริฟอสซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ทั้งนี้ตามกฎหมายต้องตรวจไม่พบเนื่องจากยกเลิกค่า MRL แล้ว
- องุ่นอีก 22 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้าง 14 ชนิด เกินค่าดีฟอลต์ลิมิต (สารพิษตกค้างที่ไม่มีค่า MRL ตามกฎหมายกำหนดให้พบได้ไม่เกินค่าดีฟอลต์ลิมิต 0.01 mg/kg) ซึ่งสารเหล่านี้อาจยังไม่มีการประเมินความปลอดภัย ได้แก่ Procymidone, Imazalil, Thiamethoxam, Tetraconazole, Chlorfenapyr, Flonicamid, Ethirimol, Pyriproxyfen, Lufenuron, Bupirimate, Prochloraz, Hexaconazole, Bromacil และ Isopyrazam
3. พบสารพิษตกค้างทั้งหมด 50 ชนิด พบว่าเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จำนวน 26 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้ในประเทศไทย) จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ Chlorpyrifos และ Endrin aldehyde และเป็นสารที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายมากถึง 22 ชนิด ซึ่งเป็นสารที่ยังไม่มีการประเมินใดๆ ภายใต้กฎหมายไทย ได้แก่ Triasulfuron, Cyflumetofen, Flonicamid, Chlorantraniliprole, Etoxazole, Spirotetramat, Bifenazate, Dinotefuran, Fluopyram, Boscalid, Fluopicolide, Pyrimethanil, Ametoctradin, Tetraconazole, Ethirimol, Metrafenone, Fludioxonil, Bupirimate, Isopyrazam, Oxathiapiprolin, Biphenyl และ Cyazofamid
4. จากสารพิษตกค้าง 50 ชนิด มีสารประเภทดูดซึม (Systemic pesticide) 37 ชนิด หรือคิดเป็น 74% ของสารพิษตกค้าง โดยสารกลุ่มนี้มีโอกาสตกค้างอยู่ในเนื้อเยื่อขององุ่น ซึ่งการล้างสารกลุ่มนี้ออกจากเนื้อเยื่อพืชคงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย
5. องุ่นไชน์ มัสแคทแต่ละตัวอย่างพบสารพิษตกค้างระหว่าง 7-18 ชนิด โดยจำนวน 23 จาก 24 ตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด 1-6 ชนิด