แม่ผวา รอยช้ำบนน่องลูกชาย กลายเป็นโรคร้ายไม่คาดคิด น่ากลัวกว่าติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ และรักษายากกว่ามะเร็ง
ภาพจาก Soha
วันที่ 31 ตุลาคม 2567 เว็บไซต์ Soha เผยเรื่องราวของเด็กชายรายหนึ่งวัย 13 ปี ชื่อว่าเสี่ยวเฉิน จากเมืองหยุนหลิน ในไต้หวัน เมื่อ 4 ปีก่อน เขาเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา วันหนึ่งหลังจากกลับบ้านมา แม่ของเขาพบว่า มีรอยช้ำขนาดใหญ่โผล่ขึ้นมาที่บริเวณน่องของลูกชาย ซึ่งไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ตอนแรกแม่ของเข้าใจว่าน่าจะเป็นรอยที่เกิดจากการเล่นกีฬาของลูก เนื่องจากเสี่ยวเฉินชอบเล่นบาสเกตบอล เธอจึงไม่ได้คิดอะไรมาก
แต่ปรากฏว่าหลังจากวันนั้น เมื่อเสี่ยวเฉินกลับมาจากโรงเรียนก็พบว่ามีรอยช้ำขนาดใหญ่ที่น่องของเขาอีก และครั้งนี้ใหญ่กว่าครั้งแรก ทางพ่อแม่ของเขาจึงเริ่มสังเกตว่าอาจจะมีความผิดปกติเกิดขึ้น จึงได้พาลูกชายไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ภายหลังจากการตรวจเช็กร่างกายโดยละเอียด แพทย์ได้วินิจฉัยว่า เขาเป็นโรคหายากที่เรียกว่า โรคไขกระดูกฝ่อ หรือโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ ชนิดรุนแรง (Severe Aplastic Anemia)
โดยแพทย์เผยว่า โรคดังกล่าวนี้เป็นโรคของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด เกิดขึ้นเมื่อไขกระดูกของผู้ป่วยไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดใหม่ได้ตามปกติ ส่งผลให้จำนวนเม็ดเลือดขาวลดลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อร้ายแรงและอาจมีภาวะเลือดออกไม่หยุด อันตรายถึงขั้นหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ นับเป็นโรคทางเลือดที่พบได้น้อยแต่ร้ายแรง ดังนั้นโรคจึงน่ากลัวว่าการติดเชื้อ HIV หรือโรคเอดส์ และการรักษามีความยุ่งยากและซับซ้อนกว่าโรคมะเร็งหลายชนิด โดยผู้ป่วยมักมีภาวะโลหิตจางรุนแรง และต้องได้รับการถ่ายเลือดเพื่อต่อชีวิต
ในกรณีของเสี่ยวเฉิน แพทย์ได้ดำเนินรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากพี่สาวของเขา เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และโชคดีที่การปลูกถ่ายสำเร็จ แต่เขายังจำเป็นที่ต้องรักษาด้วยนวัตกรรมใหม่อื่น ๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด หลังจากการรักษาผ่านไป 15 วัน การทำงานของเม็ดเลือดในร่างกายได้รับการฟื้นฟูเข้าสู่ภาวะปกติ โดยในระหว่างขั้นตอนการรักษา นอกจากจะมีไข้เล็กน้อยแล้ว เขาก็ไม่มีอาการไม่สบายอื่นใด และหลังจาก 30 วัน เขาก็ได้รับการอนุญาตให้กลับบ้านได้
อย่างไรก็ตาม อาการของโรคดังกล่าวนี้สามารถเกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ และคงอยู่เป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนนับจากเริ่มเป็นโรค โดยอาการอาจเริ่มจากเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง แต่ในบางครั้งอาจเกิดขึ้นโดยฉับพลัน และอาการแย่ลงอย่างกะทันหัน หากจำนวนเม็ดเลือดต่ำลงรุนแรง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ขอบคุณข้อมูลจาก Soha