หญิงวัย 50 เป็นมะเร็งมา 9 ปี ทรมานมาก แต่ยังไม่ตาย ร้องไห้ให้หมอทำการุณยฆาต

          หญิงวัย 50 เป็นมะเร็งมา 9 ปี ทรมานมาก แต่ยังไม่ตาย ร้องไห้ให้หมอทำการุณยฆาต รอยแผลที่ท้องผ่าซ้ำแล้วซ้ำอีก ใจหนึ่งก็อยากอยู่ต่อ ใจหนึ่งก็อยากไปเพราะเป็นภาระ

หญิงวัย 50 เป็นมะเร็งมา 9 ปี ทรมานมาก
ภาพจาก เฟซบุ๊ก หมอคนสุดท้าย

          คำว่าการุณยฆาต เป็นสิ่งที่ถกเถียงกันมานานแล้วในไทยว่า ควรมีหรือไม่ควรมี ซึ่งมีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้าน แต่ฝ่ายที่สนับสนุนนั้นมองว่า ควรมีเพราะเคารพสิทธิ์ของผู้ป่วยที่ไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ ไม่อยากทรมานกับโรคอีกแล้ว

          วันที่ 15 ธันวาคม 2567 เฟซบุ๊ก หมอคนสุดท้าย ได้บอกเล่าเรื่องราวของคุณกันยา ผู้ป่วยมะเร็งรายหนึ่งที่เป็นหญิงในวัย 50 ปี และป่วยมะเร็งมาแล้วกว่า 9 ปี ซึ่งแม้ว่าเธอจะโชคดีที่เธอมีโอกาสอยู่ได้นานกว่าผู้ป่วยคนอื่น ๆ แต่นั่นกลับกลายเป็นความทรมาน จนเธอต้องร้องขอให้คุณหมอ กระทำการการุณยฆาต

หญิงวัย 50 เป็นมะเร็งมา 9 ปี ทรมานมาก
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

         

เปิดเรื่องราว คุณกันยา ผู้ป่วยวัย 50 เป็นมะเร็งมา 9 ปี แต่ไม่ตาย ชีวิตแสนทรมาน ขอร้องให้หมอทำการุณยฆาตให้


          คุณหมอบอกว่า คุณกันยาเป็นหญิงวัย 50 ปี รูปร่างผอม ใส่เสื้อผ้าเก่า คลุมทับด้วยเสื้อแขนยาวสีเทา และเป็นผู้ป่วยประคับประคอง เมื่อหมอต้องเรียกคุณกันยาให้มาเข้าพบ หมอก็พบว่าคุณกันยามาคนเดียว ไม่มีญาติมาด้วย สร้างความประหลาดใจให้หมอมาก เพราะผู้ป่วยประคับประคองมักจะมีญาติมาด้วยเสมอ จนหมอก็ต้องทวนซ้ำอีกครั้ง คุณกันยาก็ตอบคำเดิมว่า มาคนเดียว

          คุณหมอได้สอบถามว่าคุณกันยามาอย่างไร และพบว่า บ้านของเธออยู่ห่างจากตัวจังหวัด 30 กม. เธอต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 ให้สามีขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งที่ บขส. ในตัวจังหวัดตอนตี 5 และนั่งรถทัวร์มา จากนั้นก็ต้องต่อรถสองแถวมาที่โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ เพื่อที่จะได้ เข้าไปต่อคิว รับบัตร เจาะเลือดตอน 08.00 น. และกว่าจะได้พบหมอก็ตอนเที่ยง กว่าจะเสร็จก็บ่าย และกว่าจะกลับถึงบ้านบางครั้งก็ถึงเวลา 2 ทุ่ม

          คุณกันยาเล่าว่า เธอป่วยเป็นมะเร็งมาแล้ว 9 ปี ผ่านการผ่าตัดและทำเคมีบำบัดมานับครั้งไม่ถ้วน มีรอยแผลเป็นที่หน้าท้อง รอยมีดกรีดยาวใต้ชายโครงขวาโค้งเหนือต่อสะดือขึ้นไปลิ้นปี่ และรอยแผลนี้ก็ถูกกรีดซ้ำ  ๆ ความทรมานทำให้เธอถามหมอว่า "หมอมียาที่ฉีดให้พี่ตายหรือหลับไปเลยไหม"

คุณกันยา เล่าชีวิตจนหมอใจสั่น ป่วยมานาน ทำงานไม่ได้ ห่วงลูกที่กำลังโต ด้านหมอแนะทางออก


          ในวินาทีนั้น คุณกันยาอยากตาย และกำลังร้องขอให้หมอทำการุณยฆาต เธอเอามือปิดหน้า ร้องไห้โฮออกมา จนหมอต้องไปแตะไหล่และปลอบใจ คุณกันยาเล่าว่า ตั้งแต่ที่ป่วยนั้น เธอก็ไม่ได้ทำงาน สามีทำงานรับจ้างคนเดียว เงินไม่พอใช้ ลูกก็เรียนอยู่ ตนไม่อยากเป็นภาระให้แฟน ไม่อยากให้ลูกลำบาก ไม่อยากมาโรงพยาบาล ไม่อยากรักษามะเร็งอีกแล้ว มาทุกครั้งไหนจะค่ารถ ค่ากิน ค่าที่อยู่ บางทีก็ยืมเงินเขามา ถ้าตนตายไป คนในครอบครัวจะได้ไม่มาลำบากเพราะตนอีก เงินที่จะเอามารักษามะเร็ง ก็จะเอาไปให้ลูกเรียนหนังสือ "พี่ปวดมาก ๆ เลย อยู่แบบนี้มันทรมาน"


          คุณกันยายังบอกว่า แม้ใจลึก ๆ ตนก็อยากเห็นลูกชายวัยมัธยมศึกษาเติบโต พร้อมกับที่เธอขอโทษคุณหมอที่ร้องไห้ จนคุณหมอเองก็เสียงสั่น และปลอบใจว่าคุณกันยาเก่งมาก ๆ หมอรับรู้ได้ทุก ๆ ความรู้สึกของพี่ คุณกันยาอยากมีชีวิตเพื่อลูก แต่ก็กลัวลูกลำบาก นึกถึงคนอื่นมากกว่าตัวเอง หมอไม่เคยมีลูก แต่ก็รับรู้ว่าคุณกันยารักลูกขนาดไหน เพราะหมอก็รับรู้เรื่องนี้ได้จากคุณแม่ของคุณหมอ

          สุดท้าย คุณหมอได้ทพาการแนะนำทีมประคับประคอง จากมูลนิธิการุณรักษ์ ซึ่งเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ที่จะเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องค่าเดินทางในการมาโรงพยาบาล

          คุณหมอบอกว่า แม้คุณหมอจะทำการุณยฆาตให้ไม่ได้ แต่การรักษาแบบประคับประคองหรือ Palliative care จะช่วยให้ผู้ป่วยอยู่อย่างมีความหมายและเป็นสุข โดยไม่เร่งและไม่ยืดการตาย หมอก็คิดว่าตนเป็นคนที่ฟังคนไข้ระดับหนึ่ง แต่คุณกันยาได้สอนหมอให้ใส่ใจต่อความทุกข์คนไข้มากขึ้น การถามว่า มาโรงพยาบาลยังไงเหรอครับ อาจช่วยให้ใครไม่ต้องร้องขอความตายก็เป็นได้

          "ลึก ๆ แล้วผมไม่อยากให้การเข้าถึงการดูแลประคับประคองเป็นความโชคดีเลย ผมปรารถนาจะได้เห็นการสนับสนุนให้เกิดระบบการดูแลประคับประคองที่ดี สามารถเข้าถึงได้ และ เท่าเทียม เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่ารวยหรือจน ชนชาติ ศาสนาใด คนไทยทุกคนควรมีสิทธิ ตายดี

          ผมได้เข้าใจคำว่าเส้นทางชีวิตผู้ป่วย หรือ patient journey ของอาจารย์ท่านหนึ่งที่สอนผมจริง ๆ
ผมขอเป็นกำลังใจให้คนกำลังเดินในเส้นทางของความเจ็บป่วยอยู่ หวังว่าจะมีใครสักคนหนึ่งที่ตอบรับ และโอบกอดความทุกข์ของคุณอยู่นะครับ"


          อย่างไรก็ตาม หลังจากที่โพสต์นี้ออกไป ก็มีหลายคนที่อยากร่วมช่วยเหลือให้กับศูนย์การุณรักษ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป้นจำนวนมาก ซึ่งคุณหมอก็ได้ให้รายละเอียดดังนี้

          1.บัญชี มูลนิธิคณะแพทย์ (กองทุนเพื่อผู้ป่วยระยะท้าย)

          ชื่อบัญชี มูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

          เลขที่บัญชี 6310149999

          ธนาคารกรุงเทพ

          สามารถออกใบลดหย่อนภาษีได้

          2. บัญชีมูลนิธิการุณรักษ์

          ชื่อบัญชี : มูลนิธิการุณรักษ์ เพื่อการดูแลประคับประคอง

          เลขบัญชี : 551-452033-0

          ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขามหาวิทยาลัยขอนแก่น

          เนื่องมูลนิธิจัดตั้งยังไม่ครบ 3 ปี จึงยังไม่สามารถออกใบลดหย่อนภาษีได้

หญิงวัย 50 เป็นมะเร็งมา 9 ปี ทรมานมาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หญิงวัย 50 เป็นมะเร็งมา 9 ปี ทรมานมาก แต่ยังไม่ตาย ร้องไห้ให้หมอทำการุณยฆาต อัปเดตล่าสุด 15 ธันวาคม 2567 เวลา 17:50:55 6,003 อ่าน
TOP
x close