Thailand Web Stat

บัณฑิตใจแกร่ง ร่างกายขยับไม่ได้ แต่ทำธีสิสจนคว้า ป.โท เขียนวิจัยด้วยการกะพริบตา

            บัณฑิตใจแกร่ง ร่างกายขยับไม่ได้ แต่ทำธีสิสจนคว้า ป.โท เผยเขียนวิจัยด้วยการกะพริบตา ไม่ย่อท้อแม้ต้องใช้เวลาหลายปี และการกะพริบตาเป็นล้านครั้ง

บัณฑิตพิการ ทำธีสิสจนคว้า ป.โท เขียนวิจัยด้วยการกะพริบตา
ภาพจาก Instagram eyestar2024

            วันที่ 3 มีนาคม 2568 เว็บไซต์เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า รายงานเรื่องราวของ จางอิกซุน (Jang Ik-sun) บัณฑิตปริญญาโท วัย 37 ปี จากประเทศเกาหลีใต้ ที่สามารถทำงานวิจัยและเขียนวิทยานิพนธ์ความยาวหลายหมื่นตัวอักษรได้ ด้วยการกะพริบตา นับเป็นความสำเร็จที่ใช้เวลานานหลายปี สำหรับชายคนนี้ที่ใช้ชีวิตอยู่กับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงดูเชนน์ (Duchenne muscular dystrophy) มานานหลายสิบปี

            รายงานเผยว่า จางอิกซุน เพิ่งจะเข้ารับปริญญาโทด้านสวัสดิการสังคม จากมหาวิทยาลัยกวางจู เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 เนื่องจากสภาพร่างกายของเขาที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ จึงต้องอาศัยเทคโนโลยีตรวจจับการเคลื่อนไหวของดวงตามาใช้ในการทำงานวิจัยและเขียนวิทยานิพนธ์

            จางอิกซุน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในการต่อสู้กับโรคที่ค่อย ๆ ทำให้ร่างกายของเขาสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว และในตอนที่เขาเริ่มศึกษาชั้นปริญญาโท เมื่อปี 2562 เขาก็ไม่อาจใช้มือทั้ง 2 ข้างในการเขียนหรือพิมพ์ได้อีกต่อไป

บัณฑิตพิการ ทำธีสิสจนคว้า ป.โท เขียนวิจัยด้วยการกะพริบตา
ภาพจาก Instagram eyestar2024

            แต่เขาก็เลือกที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดด้านร่างกาย ด้วยการใช้เมาส์ที่มีเทคโนโลยีติดตามดวงตา มันเป็นอุปกรณ์ที่จะแปลงการเคลื่อนไหวของดวงตาเป็นคำสั่งดิจิทัล ทุก ๆ คำในวิทยานิพนธ์ของเขา ถูกพิมพ์อย่างยากลำบากด้วยการกะพริบตา

            "แค่การได้รับปริญญาโทก็มีความหมายอย่างมากแล้ว แต่มันยิ่งเป็นวันที่มีความหมายยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อวิทยานิพนธ์ของผมได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่าทางวิชาการ" จางอิกซุน เปิดใจผ่านอินสตาแกรม

            เขายังกล่าวว่า มันเป็นกระบวนการก้าวไปข้างหน้าด้วยการเอาชนะขีดจำกัดของตัวเอง และมันเกิดขึ้นได้เพราะมีผู้คนมากมายที่เชื่อและคอยสนับสนุนเขาอยู่

บัณฑิตพิการ ทำธีสิสจนคว้า ป.โท เขียนวิจัยด้วยการกะพริบตา
ภาพจาก Instagram eyestar2024

            ทั้งนี้ ไม่เพียงแค่การอุทิศตัวให้แก่การศึกษา จางอิกซุน ยังทำช่อง YouTube ชื่อ "Ik-sun Jang, a man who blinks 10 million times" (จางอิกซุน ชายที่กะพริบตา 10 ล้านครั้ง) เพื่อสตรีมการเล่นเกมออนไลน์ ด้วยเทคโนโลยีตรวจจับการเคลื่อนไหวของดวงตาแบบเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดตามช่องของเขากว่า 7,500 คนแล้ว

            จางอิกซุน ยังได้ย้อนเล่าถึงความลำบากที่ผ่านมา ว่าอาการของเขาค่อย ๆ แย่ลงตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา "เมื่อ 15 ปีก่อน ตอนที่ผมเรียนปริญญาตรี หากมีคนจับมือผมวางบนโต๊ะ ผมยังสามารถพิงโต๊ะและจดโน้ตได้ แต่ตอนนี้ผมทำแบบนั้นไม่ได้ด้วยซ้ำ มันยากมาก"

บัณฑิตพิการ ทำธีสิสจนคว้า ป.โท เขียนวิจัยด้วยการกะพริบตา
ภาพจาก Instagram eyestar2024

            การลุกลามของโรคทำให้การเรียนเป็นเรื่องยากลำบาก ทั้งการสแกนหนังสือ การจำข้อมูลสำคัญ และการตามให้ทันบทเรียนนั้น ล้วนใช้ความพยายามมหาศาล แต่ถึงอย่างนั้น เขายังมุ่งมั่นจนคว้าปริญญาจากมหาวิทยาลัยกวางจู ก่อนที่จะศึกษาต่อชั้นปริญญาโท หลักสูตรนอกเวลา พร้อม ๆ กับการทำงานในกลุ่มสนับสนุนผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงด้วย

            เรื่องราวของจางเป็นเครื่องเตือนใจถึงความสำคัญของการเข้าถึงและการรวมทุกอย่างไว้ด้วยกัน ทางด้านการศึกษา ตลอดจนเทคโนโลยี และสังคมในวงกว้าง ความสำเร็จของเขาที่เกิดจากการกะพริบตานับล้านครั้ง ไม่ใช่เพียงชัยชนะทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังเป็นชัยชนะของจิตวิญญาณมนุษย์

ขอบคุณข้อมูลจาก SCMP

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บัณฑิตใจแกร่ง ร่างกายขยับไม่ได้ แต่ทำธีสิสจนคว้า ป.โท เขียนวิจัยด้วยการกะพริบตา อัปเดตล่าสุด 4 มีนาคม 2568 เวลา 14:20:01 4,215 อ่าน
TOP
x close