หมอหมู วีระศักดิ์ เผยผลวิจัย หญิงที่ไม่ค่อยมีเซ็กส์ เสี่ยงปัญหาสุขภาพร้ายแรง เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงถึง 70% ถ้าเทียบกับคนที่มี พร้อมเผยข้อสังเกตส่วนตัว อาจเกี่ยวกับหลอดเลือด

วันที่ 9 มีนาคม 2568 เฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์ ของ นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) มีการโพสต์เรื่องผลวิจัยว่า ผู้หญิงที่ไม่ค่อยมีเซ็กส์ เสี่ยงปัญหาสุขภาพร้ายแรง พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
ผมได้อ่านพบงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of Psychosexual Health เมื่อปี 2024 ซึ่งได้ระบุว่า ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์น้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์บ่อยกว่า อ่านแล้วน่าตกใจ จึงขอนำเอาเรื่องนี้มาสรุปให้ทุกท่านรับทราบกันนะครับ
งานวิจัยนี้ เป็นการตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างภาวะซึมเศร้า, ความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์ และการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพและโภชนาการแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NHANES) ระหว่างปี 2005-2010 โดยมีผู้เข้าร่วมอายุระหว่าง 20-59 ปี จำนวน 14,542 คน
ผลการศึกษา
1. ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ พบว่า 95% ของผู้เข้าร่วมมีเพศสัมพันธ์มากกว่า 12 ครั้งต่อปี และ 38% มีเพศสัมพันธ์มากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์
2. ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในผู้หญิง ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์น้อยมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงขึ้น 70% เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์บ่อยกว่า
3. ภาวะซึมเศร้าและความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ ในกลุ่มผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและมีเพศสัมพันธ์น้อยกว่า 52 ครั้งต่อปี พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงขึ้น 197% เมื่อเทียบกับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าแต่มีเพศสัมพันธ์มากกว่า 52 ครั้งต่อปี
ข้อสังเกตส่วนตัว
1. ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์อาจมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากช่วยลดความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจและเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
2. แม้ว่าการศึกษานี้จะพบความสัมพันธ์ระหว่างความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ ภาวะซึมเศร้า และอัตราการเสียชีวิต แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ ปัจจัยอื่น ๆ เช่น สุขภาพโดยรวมและพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาจมีบทบาทร่วมด้วย
สรุป การมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิง อาจสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ นอกจากนี้ ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ที่สูงขึ้นในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัวของผม ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันความสัมพันธ์นี้และทำความเข้าใจกลไกที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดอีกครั้งครับ
ป.ล. ข้อมูลทั้งหมดที่ผมนำเสนอมีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และผมได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้น จึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของผม และควรหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้งด้วยนะครับ