เต่าตนุ เป็นหนึ่งในสายพันธุ์เต่าทะเลที่มีบทบาทต่อระบบนิเวศทางทะเล ที่ช่วยควบคุมประชากรหญ้าทะเลและแมงกะพรุน เรียกได้ว่าเป็นส่วนสำคัญของความสมดุลในมหาสมุทร แต่น่าใจหายเมื่อเราพบว่าเต่าตนุกำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทั้งเสียชีวิตจากการโดนใบพัดเรือ บางตัวก็รอดมาได้ แต่ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตในธรรมชาติได้อีก
ไม่โชคดีเหมือนอย่าง คุณปู่เต่าตนุ ตัวหนึ่งที่รักษาในบ่อปิดมานานถึง 8 ปี แต่ไม่กี่วันที่ผ่านมาก็มีข่าวที่น่ายินดีว่า คุณปู่ได้กลับคืนสู่ท้องทะเลอันกว้างใหญ่อีกครั้ง โอกาสนี้มาดูเส้นทางชีวิตจากคุณปู่เต่าตนุที่บาดเจ็บสาหัสในวันนั้น สู่วันปล่อยคืนมหาสมุทรในวันนี้...
คุณปู่เต่าตนุ บาดเจ็บเกยตื้น
เพจเฟซบุ๊ก ThaiWhales ได้บอกเล่าย้อนเรื่องราวเมื่อปี พ.ศ. 2561 มีการพบเต่าตนุเพศผู้ อายุกว่า 40 ปี มาเกยตื้นบริเวณชายฝั่ง ด้วยอาการบาดเจ็บที่กระดองอย่างรุนแรงจากการโดนเรือประมงชน ทำให้มีปัญหากับระบบประสาท และส่งผลต่อการลอยตัว ทีมสัตวแพทย์จากศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร จังหวัดภูเก็ต จึงนำมาอนุบาลรักษาไว้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กระดองปู่จะหายดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปู่ก็ว่ายน้ำตุปัดตุเป๋ ตูดลอย ถือว่ายังเสี่ยงต่อการเอาตัวรอดหากปล่อยกลับคืนสู่ทะเล ทีมเจ้าหน้าที่จึงติดตัวถ่วงด้านหลังกระดอง เพื่อเพิ่มความดัน และช่วยให้ดำน้ำได้ปกติ จากนั้นก็ได้ดูแลคุณปู่มาเรื่อย ๆ จนเป็นที่รักของทุกคน
เริ่มมีความหวัง คืนสู่มหาสมุทร
เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี จากที่คุณปู่อยู่ในบ่ออนุบาลขนาดเล็ก จนย้ายมาสู่บ่อขนาดใหญ่ ที่ศูนย์สิรีธาร ซึ่งเป็นบ่อกว้าง น้ำลึกขึ้น ทำให้คุณปู่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ว่ายน้ำได้แข็งแรงขึ้น ทีมสัตวแพทย์และผู้ดูแลเริ่มมีความหวังว่า คุณปู่อาจพร้อมแล้วสำหรับการเดินทางกลับไปอยู่ในที่ของเขาอีกครั้ง...
เตรียมปฏิบัติการ 'กลับบ้านเกิด'
และแล้วเมื่อถึงวันที่เหมาะสม นักวิจัยชาวญี่ปุ่น นำโดย ดร. Kotaro ได้นำอุปกรณ์ติดตามดาวเทียม Satellite Tag ที่มีสีแดงโดดเด่นมาติดตั้งไว้บริเวณกระดอง ซึ่งมองดูแล้วคล้ายกับปู่กำลังแบกเป้สีแดงขนาดใหญ่ไว้บนหลังอยู่ อุปกรณ์ดังกล่าวไม่เพียงแต่ช่วยติดตามเส้นทางการเดินทางของปู่เท่านั้น แต่ยังสามารถบันทึกเสียงใต้น้ำ และวิเคราะห์ออกมาได้ว่าเป็นเสียงอะไร เช่น เสียงเรือ เสียงพะยูน เสียงปลา ฯลฯ ทำให้ทราบว่าคุณปู่จะไปพบกับสัตว์ทะเลชนิดใดบ้าง และใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมแบบใด ซึ่งในอนาคตหาก AI พัฒนาได้ไกลกว่านี้ อาจจะช่วยทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวมีขนาดเล็กลงได้
"อ่าวตังเข็น" จุดเริ่มต้นสู่ความเป็นอิสระ
สำหรับสถานที่ปล่อยตัวคุณปู่นั้น ทีมเจ้าหน้าที่ได้เลือกอ่าวตังเข็น เนื่องจากเป็นเขตที่มีเต่าตนุอาศัยอยู่ และยังมีพะยูนอพยพมาใช้เป็นแหล่งหากิน ที่สำคัญพื้นที่นี้ได้รับการเฝ้าระวังจากเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงอาสาสมัครที่ช่วยบินโดรนสังเกตการณ์อยู่เป็นประจำ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน คุณปู่จะได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
การผจญภัยในบ้านหลังใหญ่
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 เฟซบุ๊ก Theerasak Saksritawee ได้รายงานว่าพบคุณปู่เป้แดง เดินทางถึงเกาะสิมิลันแล้ว ในระยะเวลา 5 วัน คุณปู่ว่ายน้ำกว่า 200 กิโลเมตร สุดยอดมาก พร้อมฝากไปถึงคนเดินเรือให้ช่วยเฝ้าระวังปู่ด้วย สามารถสังเกตได้จากตอนคุณปู่ลอยตัวขึ้นมาหายใจ จะมองเห็นสีแดงบนกระดองเด่นมาก
นอกจากนี้ ยังระบุพิกัดเส้นทางการเดินทาง ตั้งแต่วันที่ 8 - 15 มีนาคม 2568 คุณปู่เต่าตนุเป้แดงไปแวะที่ไหนบ้าง ดังนี้
วันที่ 9 มีนาคม 2568 คุณปู่แวะเที่ยวเกาะโหลน แหลมพรหมเทพ
วันที่ 10 มีนาคม 2568 คุณปู่แวะชม แสงสี หาดกะตะ หาดกะรน หาดป่าตอง
วันที่ 11 มีนาคม 2568 คุณปู่ว่ายออกสู่ทะเลเปิด ขึ้นเหนือ
วันที่ 12 มีนาคม 2568 คุณปู่ว่ายขึ้นเหนือขึ้นไปอีก หรืออาจจะไปแวะสิมิลัน
วันที่ 13 มีนาคม 2568 คุณปู่เดินทางถึงเกาะสิมิลันแล้ว
วันที่ 15 มีนาคม 2568 คุณปู่กำลังว่ายไปเที่ยวเกาะสี่ (เกาะเมียง) หมู่เกาะสิมิลัน ซึ่งเป็นเกาะที่เพิ่งคว้า ISO 13009 : 2015 มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพระดับสากล และเป็นเกาะที่มีเรือท่องเที่ยวเข้า - ออกหนาแน่น จึงฝากผู้ประกอบการเรือช่วยกันเฝ้าระวัง หากเจอปู่ว่ายผ่านควรลดความเร็วลง
และล่าสุด (16 มีนาคม 2568) เฟซบุ๊ก Patcharaporn Kaewmong หรือ คุณหมอฟ้า ได้อัปเดตว่าเป้แดงของปู่ตอนนี้แบตเตอรี่ใกล้จะหมดเต็มทีแล้ว พร้อมกับขอบคุณปู่ด้วยว่า ข้อมูลระหว่างการเดินทางที่ส่งมาให้นั้นมีประโยชน์มาก คุณปู่ถือเป็นคุณครูของเด็กและนักศึกษาที่เรียนด้านทะเล รวมถึงน้องสัตวแพทย์ที่อยากเรียนรู้สัตว์ทะเล วันนี้คุณปู่กลับไปทะเลอีกครั้งได้ ทุกคนเป็นห่วงปู่ รักและผูกพัน แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต่อจากนี้ทะเลคือบ้านที่ปู่ควรจะได้กลับไปใช้ชีวิต
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวการเดินทางคืนสู่ท้องทะเลของคุณปู่เต่าตนุเป้แดง ต่อจากนี้เราหวังว่าทะเลจะโอบกอดปู่ไว้อย่างปลอดภัย และอาจถึงวันที่เราได้เห็นลูกหลานของปู่แหวกว่ายกลับมาสู่ชายฝั่งอีกครั้ง