Thailand Web Stat

วิธีอุ่นอาหารแช่แข็ง ควรปล่อยให้หายเย็นแล้วอุ่น หรืออุ่นเลยทั้งที่ยังแข็ง หมอบอกแล้ว

         ผอ.สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล แนะเรื่องควรรู้หากต้องกิน อาหารแช่แข็ง สารอาหารน้อย กินบ่อยไม่ดีต่อสุขภาพ
อาหารแช่แข็ง กินบ่อยยิ่งเสี่ยง สารอาหารน้อย อันตรายสุขภาพ
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้่อหา

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาหารแช่แข็งแบบสำเร็จรูปเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนมีเวลาน้อย บางคนถึงกับซื้อมาตุนไว้ในช่องฟรีซ แต่รู้หรือไม่ว่าอุณหภูมิในตู้เย็นบ้านทั่วไปไม่เหมาะสำหรับแช่แข็งอาหารเหล่านี้ เพราะอาจส่งผลให้อาหารเป็นพิษอันตรายต่อร่างกายได้อีกด้วย
          
          วันที่ 20 มีนาคม 2568 รศ. ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พูดถึงความเสี่ยงผลเสียต่อสุขภาพหากกินอาหารแช่แข็งอย่างไม่เหมาะสม พร้อมแนะนำวิธีการเลือกกินอาหารแช่แข็งที่ดีต่อสุขภาพ รวมไปถึงการเก็บและอุ่นอาหารแช่แข็งที่ถูกวิธีเพื่อให้กินอาหารแช่แข็งได้อย่างถูกสุขลักษณะและไม่ทำร้ายสุขภาพ

          หลายคนเชื่อว่าช่องแช่แข็งเป็นช่องแช่อมตะ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ถูกต้อง เพราะคุณภาพอาหารสามารถลดลงได้ระหว่างการแช่แข็ง โดยเฉพาะในบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม ถ้าเก็บไว้นาน ๆ เอาออกมาใช้แล้วนำกลับไปแช่อีก เสี่ยงกับจุลินทรีย์ที่จะเติบโต ทำให้อาหารเป็นพิษได้เหมือนกัน

เสี่ยงได้รับสารอาหารน้อย

          การแช่แข็งเป็นวิธีการเก็บอาหารที่สามารถรักษาคุณค่าอาหาร และสามารถเก็บได้เป็นระยะเวลานาน นิยมเอามาใช้เป็นวิธีในการเก็บรักษาอาหาร อาหารแช่แข็งที่เรานำมากินก็มักจะเป็นเมนูซ้ำ ๆ ไม่กี่เมนู ดังนั้นการกินเป็นประจำ ซ้ำ ๆ ก็อาจจะเสี่ยงเรื่องของการได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ซึ่งจะมีเรื่องผัก เส้นใยอาหารน้อย ดังนั้นจึงไม่ได้มื้ออาหารที่หลากหลายพอ อาหารที่กินเหลือแล้วนำมาอุ่นซ้ำ จะทำให้สารอาหารต่าง ๆ ลดลงได้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวิตามิน B,C และสารแคโรทีนอยด์ ลดลงเป็นต้น

อาจกระทบสุขภาพ เพราะโซเดียมสูง

          หลายเมนูโซเดียมสูง เสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งใน 1 วันเราแนะนำให้กินไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม คนที่มีปัญหาโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคไต ไม่เหมาะสมที่จะกินเป็นประจำ ถ้าสารอาหารไม่ครบ เราอาจจะกินเสริมด้วยการกินผัก ผลไม้เพื่อให้มีความหลากหลายของสารอาหาร และได้ปริมาณสารอาหารที่สมดุล

          อาหารแช่แข็งไม่ควรกินบ่อยจนเกินไป เนื่องจากมีโซเดียมสูง อีกเรื่องหนึ่งคือถ้าเราเลือกอาหารแช่แข็ง เราสามารถดูฉลากข้างหน้าได้ว่าอันไหนที่มีปริมาณโซเดียมไม่มากเกินไป ไม่ควรเกิน 500-600 มิลลิกรัม

อาหารแช่แข็ง กินบ่อยยิ่งเสี่ยง สารอาหารน้อย อันตรายสุขภาพ
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้่อหา

เสี่ยงอาหารเป็นพิษจากจุลินทรีย์

          กลุ่มอาหารแช่แข็ง จะยิ่งมีความเสี่ยงเมื่อนำมาวางไว้ข้างนอกตู้เย็น จะทำให้จุลินทรีย์โต อาจเสี่ยงอาหารเป็นพิษ โดยหลักแล้วควรจะเก็บรักษาในอุณหภูมิ ต่ำกว่า - 18 องศาเซลเซียส

          วิธีที่เหมาะสมคือ ควรจะอุ่นร้อนโดยเร็วที่สุด หรือหากยังไม่กิน ควรละลายอาหารแช่แข็งด้วยการวางในตู้เย็นช่องธรรมดา หรือใช้ไมโครเวฟโหมดละลายน้ำแข็งก่อนอุ่นร้อน

อาจได้รับสารเคมีปนเปื้อนหากอุ่นไม่ถูกวิธี
 
          บรรจุภัณฑ์ ที่มากับอาหาร บางครั้งไม่ได้เหมาะกับการนำไปอุ่นร้อน จึงเป็นอันตราย วิธีที่เหมาะสมคือควรจะแกะจากบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้มาใส่ในภาชนะทนความร้อน เช่น แก้ว หรือ เซรามิก ก่อนอุ่นร้อน

          นอกจากนี้ยังควรเก็บรักษาตามวัน เวลา ที่เหมาะสมที่ระบุเอาไว้ ส่วนกรณีที่กินเหลือแล้วนำไปแช่แข็งซ้ำ ควรจะเขียนวันที่กำกับไว้ และไม่แช่นานเกิน 1-2เดือน

ขอบคุณข้อมูลจาก Mahidol Channel มหิดล แชนแนล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีอุ่นอาหารแช่แข็ง ควรปล่อยให้หายเย็นแล้วอุ่น หรืออุ่นเลยทั้งที่ยังแข็ง หมอบอกแล้ว โพสต์เมื่อ 24 มีนาคม 2568 เวลา 10:08:00 8,331 อ่าน
TOP
x close