Thailand Web Stat

ตึกถล่ม ใครรับผิดชอบ ? เปิดสัญญาจ้าง ชี้ผู้รับจ้างต้องสร้างใหม่ - ค่าใช้จ่ายใครออก ?

          ตึกถล่ม ใครรับผิดชอบ ? เปิดสัญญาจ้างสร้างตึก สตง. ชี้ต้องสร้างให้ใหม่-จ่ายเอง ข้อสังเกต จุดเริ่มต้นถล่มเกิดจากจุดไหน ชี้ตามหลักต้องต้านแผ่นดินไหว ไม่ควรถล่มแบบนี้
ตึก สตง. ถล่ม ใครรับผิดชอบ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก K9 USAR THAILAND

          จากกรณีตึกที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (28 มีนาคม 2568) โดยมีข้อมูลว่าเป็นโครงการก่อสร้างตึก 30 ชั้น มูลค่า 2.1 พันล้านบาท ดำเนินโครงการโดยไอทีดี-ซีอาร์อีซี ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน), บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด

          ล่าสุด (29 มีนาคม 2568) ฐานเศรษฐกิจ รายงานข้อมูลจาก ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์พิเศษกฎหมายวิธีพิจารณาความและกฎหมายพยานหลักฐาน ซึ่งกล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ตามสัญญาจ้างก่อสร้างข้อ 11 วรรคสอง หากตึกถล่มเป็นเพราะความผิดของผู้รับจ้าง หรือแม้แต่เกิดจากเหตุสุดวิสัยอย่างแผ่นดินไหว แต่ยังไม่มีการส่งมอบงานครั้งสุดท้าย ผู้รับจ้างต้องรับผิดในการก่อสร้างใหม่ด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง โดยจะเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มเติมจาก สตง. ไม่ได้

          ที่สำคัญ สัญญาจ้างข้อ 13 ยังระบุว่า ผู้รับจ้างจะอ้างเหตุจากการมีคณะกรรมการตรวจรับพัสดุหรือผู้ควบคุมงาน เพื่อให้พ้นจากความรับผิดไม่ได้

          ในส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนงาน และบุคคลภายนอก ตามสัญญาจ้างข้อ 12 วรรคสาม กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องทำประกันภัยให้ลูกจ้างทุกคน และข้อ 11 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุและความเสียหายที่เกิดจากการปฏิบัติงาน ดังนั้น ผู้เสียหายจะได้รับเงินเยียวยาตามกรมธรรม์และตามสิทธิที่มีตามกฎหมาย

ตึก สตง. ถล่ม ใครรับผิดชอบ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก K9 USAR THAILAND

          งบการเงิน อิตาเลียนไทย ตึกถล่มตอกย้ำสถานการณ์

          ทั้งนี้ ยังมีการจับตาถึงงบการเงินของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาทางการเงินที่รุนแรง โดยบริษัท แกรนท์ ธอนตัน จำกัด ผู้ตรวจสอบบัญชี เปิดเผยว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 กลุ่มบริษัท ขาดทุนหลังภาษีถึง 4,950.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากปีก่อนที่ขาดทุน 421.54 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีขาดทุนสะสมสูงถึง 12,138.78 ล้านบาท

          ขณะที่สถานการณ์สภาพคล่อง กลุ่มบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนถึง 13,553.78 ล้านบาท นอกจากนี้พบว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ เรื่องการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ทำให้สถาบันการเงินมีสิทธิเรียกชำระคืนเงินกู้ยืมทันทีจำนวน 3,413.35 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น 51.65 ล้านบาท และระยะยาว 3,361.70 ล้านบาท

          อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับหนังสือจากสถาบันการเงินให้ความยินยอมและผ่อนผันเงื่อนไขดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ขณะที่ผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่น มูลค่ารวม 14,455 ล้านบาท มีมติให้บริษัทเลื่อนชำระหุ้นกู้ออกไปอีก 2 ปี นับจากวันครบกำหนดไถ่ถอนเดิม

          แต่แม้จะเผชิญปัญหาทางการเงินรุนแรง ฝ่ายบริหารของกลุ่มบริษัทยังคงมั่นใจว่าสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

          อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ตึก สตง. ถล่ม ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับบริษัทที่กำลังเผชิญปัญหาทางการเงินอยู่แล้ว นอกจากความรับผิดชอบในการก่อสร้างใหม่ ด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท บริษัทยังต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนงานและบุคคลภายนอกด้วย



ตึก สตง. ถล่ม ใครรับผิดชอบ
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

          ข้อสังเกต จุดเริ่มต้นถล่ม ชี้ตามกฎต้องออกแบบต้านแผ่นดินไหว ไม่ควรถล่มแบบนี้

          ด้าน ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยและนักวิจัย สกสว. ได้ตั้งข้อสังเกตถึงจุดเริ่มต้นการถล่มจากคลิปที่ปรากฏ มีจุดพังทลายที่สำคัญ 3 จุด คือ

          1. เสาชะลูดชั้นล่างหักที่บริเวณกลางเสา

          2. รอยต่อระหว่างพื้นไร้คานกับเสาชั้นบน เฉือนขาดในแนวดิ่ง

          3. การพังที่เกิดจากปล่องลิฟต์

          โดยในขณะนี้ยังไม่สรุปว่า จุดเริ่มต้นการถล่มเกิดที่จุดใด แต่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากจุดใดก่อน ก็สามารถทำให้อาคารถล่มราบคาบลงมาเป็นทอด ๆ ได้ ซึ่งในทางวิศวกรรมเรียกว่า Pancake collapse แต่ปัจจัยหนึ่งที่อาจเป็นสาเหตุการถล่มได้คือการสั่นพ้อง (resonance) ระหว่างชั้นดินอ่อนกับอาคารสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผ่นดินไหวระยะไกลจากเมียนมา เมื่อคลื่นแผ่นดินไหวเดินทางมาถึงชั้นดินอ่อนกรุงเทพฯ จะเป็นแผ่นดินไหวแบบคาบยาว (long period) ซึ่งจะกระตุ้นอาคารสูงได้ เนื่องจากมีคาบยาวที่ตรงกันระหว่างอาคารกับชั้นดินอ่อน

           ทั้งนี้ อาจมีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาด้วย เช่น ตัวปั้นจั่นที่ติดตั้งในปล่องลิฟต์ มีการสะบัดตัวและส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอย่างไรนั้น ยังต้องพิสูจน์ต่อไป

            แต่ตามกฎกระทรวงแผ่นดินไหว ปี 2550 และ 2564 อาคารหลังนี้ควรต้องออกแบบให้ต้านแผ่นดินไหวในระดับที่ไม่ควรถล่มแบบนี้ จึงต้องไปตรวจสอบแบบ และการก่อสร้าง ด้วย ตลอดจนต้องตรวจสอบทุกปัจจัยไปจนถึงเรื่องคุณภาพวัสดุก่อสร้าง เช่น คอนกรีต และเหล็กเสริมว่ามีกำลังรับน้ำหนักเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กเส้นที่นำมาใช้ ได้มาตรฐานและมีความเหนียวเพียงพอหรือไม่ ก่อนจะสรุปความจริงได้  

ขอบคุณข้อมูลจาก ฐานเศรษฐกิจ, สำนักข่าวไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตึกถล่ม ใครรับผิดชอบ ? เปิดสัญญาจ้าง ชี้ผู้รับจ้างต้องสร้างใหม่ - ค่าใช้จ่ายใครออก ? อัปเดตล่าสุด 2 เมษายน 2568 เวลา 14:58:27 7,829 อ่าน
TOP
x close