Thailand Web Stat

ผลตรวจเหล็ก อาคาร สตง. ถล่ม เจอไม่ได้มาตรฐาน 2 ขนาด มาจากโรงงานที่ถูกสั่งปิด

           ผลตรวจตัวอย่างเหล็ก อาคาร สตง. ถล่ม มีที่ไม่ได้มาตรฐาน 2 ขนาด พบมาจากโรงงานที่ถูกสั่งปิดไปแล้ว
ตึก สตง. ถล่ม
ภาพจาก ข่าวช่อง 3

           จากกรณีนายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำเจ้าหน้าที่สภาวิศวกรรมและ เจ้าหน้าที่ มอก. ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุอาคารกำลังก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เกิดถล่ม จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

           วันที่ 31 มีนาคม 2568 ข่าวช่อง 3 รายงานว่า ที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย มีตัวแทนหลายฝ่ายเป็นพยานในการทดสอบตัวอย่างเหล็กที่เก็บจากจุดเกิดเหตุมาตรวจสอบ ซึ่งการทดสอบครั้งนี้จะมีทั้งการทดสอบแบบตรวจค่าทางเคมี และค่าทางกล ซึ่งเหล็กชิ้นเล็ก จะมีการนำไปตีให้แบนก่อน แล้วค่อยเอาไปตรวจแบบยิงค่าทางเคมี

           ก่อนการทดสอบ พบว่า เหล็กทั้งหมดจำนวน 28 เส้น ซึ่งมาจาก 3 บริษัท (มีทั้ง บริษัทสัญชาติจีน บริษัทร่วมทุนไทย-จีน และ บริษัทสัญชาติอินเดีย) จากการสังเกตพบว่าเหล็กเส้นบางเส้น ที่นำมาทดสอบ บางเส้นตรง บางเส้นโก่งงอ และบางเส้นมีลักษณะคล้ายสนิมขึ้น

ตึก สตง. ถล่ม
ภาพจาก ข่าวช่อง 3

พบมีเหล็กไม่ได้มาตรฐาน มาจากโรงงานที่ถูกสั่งปิดไปแล้ว


           ต่อมา นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย หลังการแถลงผลการทดสอบเหล็กอาคาร สตง. ถล่ม ระบุว่า ข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบ พบไซต์ 20 มิลลิเมตร ซึ่งตกเกณฑ์เรื่องมวลต่อเมตร หรือเรียกให้เข้าใจง่ายว่า เหล็กเบาไม่เป็นไปตามมาตรฐาน อีกตัวอย่างที่ตกเกณฑ์มาตรฐานคือ เหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มิลลิเมตร ตกเกณฑ์ค่า คลาก (yield strength) หรือแรงดึง ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยตัวอย่างเหล็กเส้นทั้ง 2 ขนาดที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เป็นของบริษัทเดียวกัน ซึ่งถูกสั่งปิดไปตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว

           กรณีที่พบเหล็กไม่เป็นไปตามมาตรฐาน สามารถใช้ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำเนินคดีกับบริษัทที่ผลิต หรือ จำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยวันนี้หากพบในที่เกิดเหตุและมีหลักฐานมากเพียงพอ ก็สามารถดำเนินคดีได้ แต่ในระหว่างนี้ก็จะเข้าไปตรวจสอบโรงงาน ว่า ลักลอบประกอบกิจการ และผลิตเหล็กหรือไม่ รวมทั้งเข้าไปตรวจสอบของกลางที่มีการยึดอายัดไว้ว่ายังอยู่ครบหรือไม่

ตึก สตง. ถล่ม
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

           ส่วนตัวอย่างเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานมีโอกาสขายให้โครงการก่อสร้างก่อนถูกสั่งปิดกิจการหรือไม่ ตึก สตง. นั้นดำเนินการก่อสร้างมาแล้วเกือบ 5 ปี ซึ่งจากสภาพของเหล็ก เชื่อว่า เป็นเหล็กก่อนที่จะมีการสั่งปิดไปโรงงานราว 4 เดือน

           สาเหตุที่โรงงานดังกล่าวถูกสั่งปิด หลังจากพบมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย และเรื่องสิ่งแวดล้อม เมื่อเก็บตัวอย่างเหล็กภายในโรงงานมาตรวจ ก็พบว่าเหล็กบางรายการตกค่าโบรอน จึงภภัสร์ ย้ำว่า ดำเนินการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา แต่เจ้าหน้าที่ข้าราชการมีความกังวล เนื่องจากต้องเข้าไปในที่เกิดเหตุเพื่อเก็บตัวอย่าง และบางครั้งอาจไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร โดยหลังจากนี้เตรียมเข้าไปจุดเกิดเหตุเพื่อเก็บตัวอย่างเหล็กมาตรวจสอบเพิ่มเติม


ตึก สตง. ถล่ม
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

เหล็กไม่ได้มาตรฐาน กระทบต่ออาคารอย่างไร


           ด้าน นายณัฐพล สุทธิธรรม อนุกรรมการสาขาโครงสร้างเหล็กวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงเหล็กที่ไม่ได้คุณภาพว่า ในไซซ์ 32 คือ กำลังคลาก (yield strength) ที่กำลังยืดจะไม่กลับสู่สภาพเดิม ซึ่งวิศวกรเป็นผู้ออกแบบให้กำลังคลาก หากไม่เป็นไปตามพฤติกรรมอาจจะทำให้รับแรงได้ไม่ถึงตามที่ออกแบบ ก็อาจจะทำให้พังลงได้ โดยเหล็กจะยืดออกและจะไม่กลับมาที่เดิม หากเหล็กยืดและกลับมาที่เดิม ก็เป็นไปตามที่คุณสมบัติที่วิศวกรได้ออกแบบ

           เมื่อถามถึงผลในการทดสอบนั้น นายณัฐพล กล่าวว่า ได้ทดสอบกำลังรับแรงดึงและทดสอบทางเคมี ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ผลการทดสอบทางเคมี ผลการดึงที่ดูด้วยตานั้นทั้งมี 2 ตัวผ่านมาตรฐาน และมี 1 ตัวที่ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้

           หากใช้เหล็กที่ไม่ได้ไม่ได้มาตรฐานแล้วนำใช้งาน ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีปัญหาในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบด้วย หากผู้ออกแบบออกแบบเผื่อไว้มาก ก็ไม่มีปัญหา แต่หากผู้ออกแบบออกแบบเกือบพอดี ก็จะทำให้มีความเสี่ยง ที่อาจจะพังและมีความวิบัติได้

ตึก สตง. ถล่ม
ภาพจาก เรื่้องเล่าเช้านี้

           เมื่อถามว่า วิศวกรออกแบบเผื่อหมายความว่าอะไร นายณัฐพล อธิบายว่า หากวิศวกรออกแบบให้รับน้ำหนัก 100 แต่แรงที่เกิดขึ้น อยู่ที่ 80 แบบนี้เรียกเผื่อ กำลังห่างเยอะกว่าแรงที่เกิดขึ้นก็ปลอดภัย แต่หากออกแบบมาแล้วให้ปริ่ม เช่นรับแรงได้ 100 แต่แรงที่เกิดขึ้นนั้น 99 ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยง แน่นอนว่ามีความเสี่ยงด้วยตัววัสดุ

           จะส่งผลต่อตึกหรือไม่นั้น นายณัฐพล ระบุว่า ไม่สามารถตอบได้ เพราะมีหลายปัจจัย วัสดุ การก่อสร้าง เป็นหนึ่งในปัจจัยสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ เหล็กเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันเองก็ไม่ทราบว่าเหล็กดังกล่าวนี้ใช้เป็นองค์ประกอบส่วนไหน ซึ่งคาดว่าเป็นเสา เนื่องจากขนาด 32 มิลลิเมตร เป็นเหล็กเส้นใหญ่ ส่วนใหญ่นิยมทำเสา เอาไว้ยึดคอนกรีต ซึ่งเหล็กและปูนจะทำหน้าที่รับความเสี่ยงร่วมกัน

ตึก สตง. ถล่ม
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

เตรียมเดินหน้าตรวจสอบเพิ่มเรื่องปูนตัวอาคาร


           เมื่อถามว่าคุณภาพปูนที่ใช้นั้นส่งผลหรือไม่ นายณัฐพล กล่าวว่ามีผลอย่างแน่นอน จึงต้องเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งวิธีการตรวจสอบนั้นก็จะต้องเก็บตัวอย่างปูนและส่งไปตรวจสอบ

           ส่วนประเด็นต้องใช้ปริมาณปูนเท่าไร นายณัฐพล กล่าวว่า หากเป็นของใหม่ก็ประมาณ 3% ของการผลิตทั้งหมด แต่ต้องดูเทรน ดู 2-3 รายการ หากผ่านได้เรื่อย ๆ แต่หากใช้แล้วแกว่ง ต้องพิจารณาอีกครั้ง

           เมื่อถามว่าการนำเหล็กที่ผ่านการก่อสร้างและเหล็กที่อยู่ในโรงงานนั้นค่ามาตรฐานต่างกันหรือไม่ นายณัฐพล กล่าวว่า หากยังไม่คลาก ก็ถือว่ายังมีคุณสมบัติเหมือนเดิม อะไรที่ไม่ตรงก็ไม่อยากที่จะเรียกตรวจสอบ เพราะเหล็กจะไม่กลับสู่สภาพเดิม

ตึก สตง. ถล่ม
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

ขอบคุณข้อมูลจาก ข่าวช่อง 3, ข่าวช่อง 3


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผลตรวจเหล็ก อาคาร สตง. ถล่ม เจอไม่ได้มาตรฐาน 2 ขนาด มาจากโรงงานที่ถูกสั่งปิด อัปเดตล่าสุด 1 เมษายน 2568 เวลา 10:49:35 3,299 อ่าน
TOP
x close