Thailand Web Stat

เด็ก 14 ถูกสิงโตขย้ำ-คาบไปต่อหน้าเพื่อน จนท. ระดมทีมล่า สลดพบร่างถูกทิ้งไว้

         เด็ก 14 ถูกสิงโตขย้ำ-คาบหายไปต่อหน้าเพื่อนที่เคนยา จนท. ระดมทีมล่า สลดพบแค่ศพ ไม่เจอตัวสิงโต สังคมจี้ปรับปรุงมาตรการป้องกัน
สิงโตขย้ำต่อหน้าเพื่อน
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้่อหา

         วันที่ 20 เมษายน 2568 เว็บไซต์นิวยอร์กโพสต์ รายงานว่า เกิดเหตุช็อกขึ้นในย่านชานเมืองของกรุงไนโรบี เมืองหลวงของประเทศเคนยา หลังสิงโตบุกเข้าไปในเขตชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ก่อนที่จะขย้ำและกัดกินร่างของเด็กหญิงวัย 14 ปี ต่อหน้าเพื่อน ๆ ที่หวาดผวา นับเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่นำมาสู่การตั้งคำถาม ว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ทางการจะยกระดับมาตรการดูแลความปลอดภัยต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง

         จากแถลงการณ์ของหน่วยงานพิทักษ์ป่าเคนยา (KWS) ระบุว่า หลังจากสิงโตบุกเข้ามาสังหารและขย้ำเด็กหญิงวัย 14 ปี ร่างของเธอก็ถูกคาบหายออกไปจากชุมชน ก่อนที่กลุ่มเพื่อนของเหยื่อจะรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ ชุดเจ้าหน้าที่ป่าไม้พร้อมด้วยกู้ภัยของ KWS ได้ระดมกำลังกันอย่างรวดเร็ว และติดตามรอยเลือดไปจนถึงแม่น้ำ Mbagathi จนพบร่างของเด็กหญิงที่เต็มไปด้วยบาดแผลบริเวณหลังส่วนล่าง

         ทั้งนี้ เชื่อว่าสิงโตที่ก่อเหตุหลุดออกมาจากอุทยานแห่งชาติไนโรบี (Nairobi National Park) ซึ่งอยู่ติดกับเขตชุมชนดังกล่าว ขณะนี้สิงโตยังคงหลบหนีอยู่ แต่เจ้าหน้าที่ได้วางกับดักพร้อมส่งทีมค้นหาออกไปแล้ว หลังเกิดเหตุช็อกครั้งนี้ และจะมีการนำมาตรการความปลอดภัยมาใช้เพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ  
 
         อนึ่ง อุทยานแห่งชาติไนโรบี อยู่ห่างจากย่านชานเมืองของไนโรบีราว 9.6 กิโลเมตร เป็นสถานที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งเสือชีตาห์ เสือดาว สิงโต ควายป่า และยีราฟ โดยทางอุทยานทำรั้วกั้นไว้ 3 ด้าน เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าเข้าไปเพ่นพ่านภายในเมือง แต่ยังมีด้านใต้ของอุทยานที่เปิดโล่งให้สัตว์ต่าง ๆ สามารถอพยพเข้า-ออกจากพื้นที่ได้

         แม้ที่ผ่านมาจะเคยมีเหตุสิงโตเจอกับมนุษย์และทำร้ายปศุสัตว์ แต่เหตุการณ์ทำร้ายมนุษย์จนเสียชีวิตนั้นหาได้ยากมาก

         อย่างไรก็ตาม ไม่กี่วันก่อนก็เพิ่งมีเหตุการณ์ชายวัย 54 ปี ถูกช้างป่าทำร้ายจนตายในพื้นที่อื่นของเคนยา ซึ่ง พอลล่า คาฮัมบู หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์ WildlifeDirect กล่าวกับ BBC News ว่า การเสียชีวิตที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้ทาง KWS จำเป็นต้องปรับปรุงการประเมินความเสี่ยง และทำให้มั่นใจว่าจะมีการสื่อสารที่แม่นยำและเป็นไปตามเวลาจริง ในการติดตามความเคลื่อนไหวและพฤติกรรมของสัตว์ป่า โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างทุ่งเลี้ยงสัตว์ซาวันนาห์

         นอกจากนี้ บ้านเรือนและค่ายต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก็ควรติดตั้งระบบป้องกันสัตว์นักล่าด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นไฟ สัญญาณเตือน รั้วกั้นที่มีความปลอดภัย เพราะการป้องกันไว้คือแนวป้องกันแรกที่ดีที่สุด  

ขอบคุณข้อมูลจาก New York Post



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เด็ก 14 ถูกสิงโตขย้ำ-คาบไปต่อหน้าเพื่อน จนท. ระดมทีมล่า สลดพบร่างถูกทิ้งไว้ อัปเดตล่าสุด 23 เมษายน 2568 เวลา 12:18:23 9,917 อ่าน
TOP
x close