เที่ยวเชียงราย ดินแดนเหนือสุดยอดในสยาม


เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม

         เมื่อใดก็ตามที่หัวใจเราอ่อนแอ ความเหงาจะเข้ามากัดกร่อนความเป็นเราทุกที... เมื่อใดก็ตามที่เราคิดถึงใครสุดหัวใจ เรามักจะรู้สึกว่ารอบกายไม่มีใครทุกที และเมื่อใดก็ตามที่เราต้องการใครสักคนที่เข้าใจอยู่เป็นเพื่อนกัน เรามักจะพบคำตอบว่ามีเพียงแค่ตัวเราเท่านั้น... เอาล่ะ!! หมดเวลาจมกับความทุกข์ แล้วลุกขึ้นมาสนุกแบบปลดปล่อยความเศร้า เหงา หงอย ออกไปจากความรู้สึกลึกๆ ของเราเสียที... และวันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับจังหวัดที่อยู่เหนือสุดของประเทศไทย "เชียงราย" ที่ๆ จะทำให้คุณมีแต่ความสุข และลืมเรื่องทุกข์ไปในพริบตา ด้วยสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย พร้อมความหลากหลายไม่รู้จบ ว่าแล้ว... เราก็ไปเที่ยวจังหวัดเชียงรายกันเถอะ

         "เชียงราย" เป็นจังหวัดที่อยู่เหนือสุดของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพฯเป็นระยะทาง 829 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 11,678 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ริมฝั่งแม่น้ำหลายสาย แบ่งการปกครองออกเป็น 18 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอเชียงของ อำเภอพาน อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สาย อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอป่าแดด อำเภอเวียงชัย อำเภอพญาเม็งราย อำเภอเทิง อำเภอเวียงแก่น อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอขุนตาล อำเภอแม่ลาว อำเภอเวียงเชียงรุ้ง และอำเภอดอยหลวง 

         สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่จังหวัดเชียงรายนั้นมีมากมาย ให้คุณได้เลือกเที่ยวกันแบบเต็มสตรีม ไม่ว่าจะเป็น วัด ดอย ภูเขา ถ้ำ อุทยานแห่งชาติ น้ำตก สถานที่สำคัญต่างๆ ทางด้านวัฒนธรรม ฯลฯ เอ... ว่าแต่จะมีที่ไหนบ้าง เราไปดูพร้อมๆ กันเลยดีกว่า



         เริ่มกันที่ "หอฝิ่นอุทยานสามเหลี่ยมทองคำ" ตั้งอยู่ในพื้นที่ประมาณ 250 ไร่ ห่างจากอำเภอเชียงแสนประมาณ 10 กิโลเมตร ตัวอาคารล้อมรอบด้วยสวนอันสวยงาม เป็นศูนย์นิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมาของฝิ่น เมื่อสมัยที่มีการใช้กันอย่างถูกกฏหมาย และผลกระทบของการเสพติดฝิ่น อีกทั้งยังทำหน้าที่ศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัยและการศึกษาต่อเนื่องในหัวข้อฝิ่น สารสกัดจากฝิ่นในรูปแบบต่างๆ และยาเสพติดอื่นๆ

         หอฝิ่นจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ระหว่างเวลา 08.30 - 16.00 น. ค่าเข้าชมบุคคลทั่วไป ต่างชาติ 300 บาท คนไทย 200 บาท ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 50 บาท เด็กอายุ12 - 18 ปี 50 บาท (เฉพาะคนไทย) เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าชมฟรี ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ โทร. 0-5378 - 4444-6 

         "วัดพระธาตุเจดีย์หลวง" ตั้งอยู่ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน สร้างโดยพระเจ้าแสนภูเมื่อประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 19 โบราณสถานประกอบด้วย เจดีย์ประธานทรงระฆังแบบล้านนา เป็นเจดีย์ใหญ่ที่สุดในเชียงแสน นอกจากนี้ ยังมีพระวิหารที่เก่ามากซึ่งพังทลายเกือบหมดแล้ว และเจดีย์รายแบบต่างๆ 4 องค์  

         "ทะเลสาบเชียงแสน" หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย มีเนื้อที่ทั้งหมด 2,711 ไร่ ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เมื่อปี พ.ศ. 2528 เดิมเป็นเพียงหนองน้ำขนาดเล็ก จนมีการสร้างฝายกั้นทางน้ำ ทำให้น้ำเอ่อล้น จนเกิดเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ ในฤดูหนาวจะมีอากาศเย็นสบายและหมอกลอยปกคลุมทั่วไป ทะเลสาบเขียงแสนยังเป็นแหล่งดูนกที่มีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะนกเป็ดน้ำที่ย้ายถิ่นเข้ามาในช่วงฤดูหนาว หลายชนิดเป็นนกหายาก เช่น เป็ดแมนดาริน เป็ดเทาก้านดำ เป็ดเบี้ยหน้าเขียว เป็ดหัวเขียว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บริเวณทะเลสาบมีรีสอร์ทไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย  

         การเดิทาง จากตังเมืองเชียงแสน ใช้ทางหลวงหมายเลข 1016 ประมาณ 5 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายที่กิโลเมตรที่ 27 เข้าไปอีก 2 กิโลเมตร หรือนั่งรถโดยสารจากเชียงราย ไปอำเภอเชียงแสนแล้วต่อรถสามล้อเครื่อง  

         "สบรวก" (สามเหลี่ยมทองคำ) อยู่ห่างจากอำเภอแม่สาย 28 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1290 เป็นบริเวณที่แม่น้ำโขงและแม่น้ำรวกมาบรรจบกัน หรือที่เรียกว่า “สบรวก” เป็นพรมแดนระหว่างประเทศไทย ลาว พม่า บริเวณนี้เคยมีการค้าฝิ่น โดยแลกเปลี่ยนกับทองคำ ทิวทัศน์ของแม่น้ำโขงบริเวณนี้มีความงดงาม โดยเฉพาะยามเช้าที่ดวงอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางสายหมอกด้านฝั่งพม่าและลาว นักท่องเที่ยวนิยมนั่งเรือเที่ยวชมทิวทัศน์จุดบรรจบของพรมแดนไทย ลาว และพม่า ค่าเช่าเรือประมาณ 300 – 400 บาท นั่งได้ 6 คน ถ้าต้องการนั่งชมทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำโขงไปไกลถึงเชียงแสนและเชียงของ ก็สามารถหาเช่าเรือได้ แต่ค่าเรือขึ้นอยู่กับระยะทางใกล้ไกล 

         นักท่องเที่ยวที่สนใจล่องแม่น้ำโขงไปเที่ยวทางตอนใต้ของประเทศจีน เช่น สิบสองปันนา คุนหมิง สามารถติดต่อกับบริษัทนำเที่ยวในจังหวัดเชียงรายได้ หากต้องการจะชมทิวทัศน์มุมกว้างของสามเหลี่ยมทองคำบริเวณสบรวกและเพื่อนบ้าน ต้องขึ้นไปบนดอยเชียงเมี่ยง ที่อยู่ริมแม่น้ำโขง




        "พระธาตุดอยตุง" ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 17.5 ของทางหลวงหมายเลข 1149 เป็นที่บรรจุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า นำมาจากมัธยมประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ได้มาประดิษฐานที่ล้านนาไทย เมื่อก่อสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนี้ ได้ทำธงตะขาบ (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ตุง) ใหญ่ยาวถึงพันวา ปักไว้บนยอดดอย ถ้าหากปลายธงปลิวไปไกลถึงเมืองไหน ก็จะกำหนดเป็นฐานพระสถูป เหตุนี้ดอยซึ่งเป็นที่ประดิษฐานปฐมเจดีย์แห่งล้านนาไทย จึงปรากฏนามว่า “ดอยตุง”

         พระธาตุดอยตุงเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ เมื่อถึงเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยตุงในวันเพ็ญเดือน 3 จะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและเพื่อนบ้านจากประเทศใกล้เคียง เช่น ชาวเชียงตุงในรัฐฉาน ประเทศสหภาพพม่า ชาวหลวงพระบาง เวียงจันทน์ เดินทางเข้ามานมัสการทุกปี พระธาตุดอยตุงถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีกุน ที่นิยมมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล

         "วนอุทยานภูชี้ฟ้า" เป็นส่วนหนึ่งของดอยผาหม่น อยู่ห่างจากดอยผาตั้ง 25 กิโลเมตร เป็นจุดชมวิวทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามราวภาพวาด ด้วยทิวทัศน์ของภูเขาสลับซับซ้อนดูกว้างไกล การจะเดินขึ้นไปชมทะเลหมอกควรจะขึ้นไปยอดภูตั้งแต่ฟ้ายังมืด เพราะเมื่อฟ้าเริ่มสว่างจะทำให้เห็นสายหมอกค่อยๆ ก่อตัวเป็นภาพต่างๆ ดูสวยงามราวกับมีช่างวาดฝีมือมาแต่งแต้ม สร้างความประทับใจไปอีกนาน 

         "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน" ตั้งอยู่ในตัวเมืองเชียงแสน เป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ได้จากบริเวณเมืองโบราณเชียงแสนและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ลวดลายปูนปั้นฝีมือล้านนา พระพุทธรูปและศิลาจารึกจากเชียงแสนและจากจังหวัดพะเยา พร้อมทั้งให้ข้อมูลทางด้านวิชาการเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี การตั้งถิ่นฐานของชุมชน และประวัติการสร้างเมืองเชียงแสน นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงศิลปะพื้นบ้านของชาวไทยใหญ่ ไทยลื้อ และชาวเขาเผ่าต่างๆ ได้แก่ เครื่องเขิน เครื่องดนตรี เครื่องประดับ เป็นต้น เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ - อาทิตย์ ยกเว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 09.00 - 16.00 น. เก็บค่าเข้าชมชาวไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 30 บาท 



         "อุทยานแห่งชาติขุนแจ" เดินทางไปตามเส้นทางสายเชียงใหม่ - เชียงราย (ทางหลวงหมายเลข 118) จะถึงที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ริมทางบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 55 - 56 อุทยานแห่งชาติขุนแจตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2538 เป็นอุทยานที่มีความร่มรื่นสมบูรณ์ของป่า มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย มีสัตว์ป่าหลายชนิด ได้แก่ ชะมด หมูป่า เก้ง เม่น หมี ลิงลม นกต่างๆ เช่น นกแซงแซวสีเทา เหยี่ยวรุ้ง นกตีทอง นกเขียวก้านทองปีกสีฟ้า เป็นต้น

         หรือจะเลือกไปเที่ยว "น้ำตกขุนแจ" ที่อำเภอเวียงป่าเป้า ซึ่งเป็นน้ำตกที่สวยงาม มี 6 ชั้น อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนแจ บริเวณน้ำตกมีพื้นที่สำหรับปิกนิกและกางเต็นท์ ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์จากที่ทำการอุทยานฯ 2 ชั่วโมง จากนั้นเดินเท้าต่ออีก 1 ชั่วโมง เพื่อไปยังน้ำตก
         
         "อุทยานแห่งชาติดอยหลวง" มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอแม่สรวย อำเภอพาน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง และอำเภอแม่ใจ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีเนื้อที่ 731,250 ไร่ สภาพภูมิประเทศเป็นเขาสูง มีดอยหลวงเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด ประกอบด้วยป่าสน ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง ที่ยังคงอุดมสมบูรณ์มีความอุ้มน้ำสูง ทำให้ลำห้วยและน้ำตกในอุทยานฯ มีน้ำไหลตลอดปี อุทยานฯ ยังมีสัตว์ป่า เช่น หมี กวาง เก้ง เลียงผา และนกหลายชนิด เช่น นกเงือก นกพญาไฟพันธุ์เหนือ นกปีกลายสก๊อต นกกางเขนหัวขาวท้ายแดง นกศิวะปีกสีฟ้า และนกย้ายถิ่นหายาก เช่น นกกินปลีหางยาวคอสีฟ้า นกกินปลีหางยาวคอสีดำ เป็นต้น 

         นอกจากความสมบูรณ์ของป่าที่ให้ความร่มรื่น ไม่ไกลจากที่ทำการอุทยานฯ มี สูง 9 ชั้น เป็นน้ำตกที่มีต้นน้ำจากน้ำซับใต้ดิน มีตะกอนหินปูนปนมากับน้ำ ทำให้เกิดหินงอกหินย้อยดูสวยงาม และในยามค่ำคืนจะได้ยินเสียงน้ำตกไหลกระทบหิน อุทยานฯ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติน้ำตกปูแกง ระยะทาง 1,500 เมตร ตามเส้นทางจะมีป้ายสื่อความหมายตามจุดต่างๆ ที่จะให้ความรู้แก่นักเดินป่าได้ เส้นทางเดินไม่ลาดชัน เดินสบาย และนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักค้างแรม อุทยานฯ มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์บริการอีกด้วย

         "รอยพระบาทแห่งสันติภาพ" เป็นรอยพระบาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงประทับลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2525 ณ ฐานปฏิบัติการที่ดอยพญาพิภักดิ์ จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เหล่าทหารเมื่อครั้งที่ยังมีการสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์บริเวณชายแดนของจังหวัดเชียงราย หลังจากฝ่ายทหารได้รับชัยชนะยึดฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวสนิสต์ได้สำเร็จ ก็ไม่ปรากฏการสู้รบบนดอยแห่งนี้อีก จีงขนานนามรอยพระบาทคู่นี้ว่า "รอยพระบาทแห่งสันติภาพ" ทั้งนี้ กองทัพบกมีโครงการสร้างปราสาทที่ประดิษฐานรอยพระบาทขึ้นใหม่ แทนศาลาที่ประดิษฐานรอยพระบาทหลังเดิม เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้ประชาชนได้สักการะ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษาในปี 2550

         อย่างไรก็ตาม สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าใจในจังหวัดเชียงรายนั้นยังมีอีกมากมาย และกำลังรอให้คุณไปพิสูจน์ความงดงามตระการตาด้วยตนเอง พร้อมเก็บความสุขใส่กระเป๋าเดินทางกลับบ้านได้อย่างสบายใจไม่มีใครว่า (อิอิ) แล้วเจอกันที่ จังหวัดเชียงราย นะคะ



ข้อมูลการเดินทาง

- การเดินทางจากเชียงรายไปยังจังหวัดใกล้เคียง
 

         จากสถานีขนส่งเชียงราย มีรถโดยสารไปเชียงใหม่ พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง แม่สอด พิษณุโลก พัทยา นครราชสีมา นครพนม อุดรธานี และขอนแก่น ติดต่อสถานีขนส่งเชียงราย โทร. 0-5371-1224 

รถยนต์

- สามารถเดินทางได้ 3 เส้นทาง ได้แก่
 

         1. เส้นทางนครสวรรค์ – ลำปาง – พะเยา - เชียงราย จากรังสิตมาตามถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ที่อำเภอวังน้อย จากนั้นผ่านจังหวัดอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก เข้าสู่จังหวัดลำปาง แล้วตรงไปจังหวัดพะเยา จนเข้าสู่เชียงราย รวมระยะทาง 830 กิโลเมตร

         2. เส้นทางนครสวรรค์ – พิษณุโลก – แพร่ - เชียงราย ใช้เส้นทางเดียวกับเส้นทางที่ 1 เมื่อไปถึงจังหวัดนครสวรรค์ ให้แยกขวามือไปตามทางหลวงหมายเลข 117 (นครสวรรค์ - พิษณุโลก) จากนั้นใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 11 (พิษณุโลก - เด่นชัย) จากจังหวัดพิษณุโลก ผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ จนถึงอำเภอเด่นชัย ให้เลี้ยวไปทางจังหวัดแพร่ ตามทางหลวงหมายเลข 101 (แพร่ - น่าน) จนถึงอำเภอร้องกวาง เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 103 ไปบรรจบกับถนนพหลโยธินที่อำเภองาว เข้าสู่จังหวัดพะเยา แล้วตรงต่อไปจนถึงเชียงราย ระยะทางประมาณ 804 กิโลเมตร

         3. เส้นทางนครสวรรค์ – ลำปาง – เชียงใหม่ - เชียงราย ใช้เส้นทางเดียวกับเส้นทางที่ 1 จนไปถึงจังหวัดลำปาง จึงเปลี่ยนไปใช้ทางหลวงหมายเลข 11 (ลำปาง - เชียงใหม่) ผ่านไปจังหวัดลำพูน แล้วเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 118 (เชียงใหม่ - เชียงราย) ผ่านดอยสะเก็ต แม่ขะจาน เวียงป่าเป้าเข้าสู่เชียงราย รวมระยะทาง 900 กิโลเมตร มีทางหลวงหมายเลข 11 ผ่านลำพูนมาลำปาง บรรจบกับทางหลวงหมายเลข 1 เพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ ได้

รถไฟ 

         จากสถานีรถไฟหัวลำโพง มีรถไฟไปลงที่จังหวัดลำปางหรือเชียงใหม่ แล้วเดินทางต่อโดยรถยนต์ ไปจังหวัดเชียงราย สอบถามรายละเอียดได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง โทร. 1690, 0-2223-7010, 0-2223-7020

รถโดยสารประจำทาง 

         มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของ บ.ข.ส. และของเอกชน ไปเชียงรายทุกวัน แบ่งเป็นหลายเส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ – เชียงราย, กรุงเทพฯ – แม่สาย, กรุงเทพฯ – เชียงแสน, กรุงเทพฯ – เชียงของ โดยจะมีรถออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีขนส่งสายเหนือ กรุงเทพฯ โทร.0-2936 -2852-66

เครื่องบิน 

         สำหรับท่านที่ต้องการเดินทางโดยใช้บริการโดยสารเครื่องบินมาที่จังหวัดเชียงราย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลของสายการบินต่างๆ ได้เลยค่ะ

หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ  

         - ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร.0-5371-1870 
         - ท่าอากาศยานเชียงราย โทร.0-5379-3048 
         - สถานีขนส่งจังหวัด โทร.0-5371-1224

 



ข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เที่ยวเชียงราย ดินแดนเหนือสุดยอดในสยาม อัปเดตล่าสุด 10 พฤศจิกายน 2558 เวลา 15:53:17 77,872 อ่าน
TOP
x close