พระยาอนุมานราชธน ได้เขียนเล่าในหนังสือเทศกาลและประเพณีไทยว่า คำว่า "สารท" เป็นคำอินเดีย หมายถึง "ฤดู" ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษ ที่เรียกว่า "ออทั่ม" หรือ ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะมีเฉพาะบางเขตของโลกอย่างยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือ เท่านั้น ช่วงนั้นเป็นระยะที่พืชพรรณธัญชาติและผลไม้เริ่มสุกให้พืชผลครั้งแรกในฤดู ดังนั้น ประชาชนจึงรู้สึกยินดีและถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง จึงมักทำพิธีตามความเชื่อและเลี้ยงดูกันอย่างที่เรียกว่า "Seasonal Festival"
โดยบางแห่งก็จะมีการนำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกที่เรียกว่า "ผลแรกได้" ไปสังเวยหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเองนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงความเคารพที่ท่านช่วยบันดาลให้พืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์จนเก็บเกี่ยวได้ เช่น พิธีปงคัล ในอินเดียตอนใต้ ที่มีพิธีต้มข้าวกับน้ำนมทำเป็นขนม เรียกว่า ข้าวทิพย์ ข้าวปายาส ถวายพระคเณศ เป็นต้น
สำหรับในพจนานุกรมไทย "สารท" มีความหมายว่า เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 โดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นข้าวทิพย์ และข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์ จะตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งมักจะตกราว ๆ ปลายเดือนกันยายนถึงตุลาคม
ในประเทศไทย การทำบุญวันสารทมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือนางนพมาศ เนื่องจากศาสนาพราหมณ์แพร่เข้ามาในประเทศไทย คนไทยจึงรับประเพณีวันสารทมาจากศาสนาพราหมณ์ด้วย ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สาเหตุที่ต้องมีการจัดพิธีสารทไทยขึ้น เพื่อจุดมุ่งหมายต่อไปนี้
- เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนผู้มีพระคุณ เพราะเชื่อกันว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วจะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ และญาติจะได้รับส่วนบุญเต็มที่ มีโอกาสหมดหนี้กรรม ได้ไปเกิด หรือมีความสุข
- ได้แสดงความเอื้อเฟื้อให้แก่เพื่อนบ้าน เป็นการผูกมิตรไมตรีกันไว้ เนื่องจากชาวบ้านจะทำขนมกระยาสารทไว้แจกจ่ายกันตามหมู่บ้าน บ้านใกล้เรือนเคียง ทำให้ได้พบปะกัน
- เป็นการแสดงความเคารพและอปจายนธรรมแก่ผู้หลักผู้ใหญ่
- เป็นการกระทำจิตใจของตนเองให้สะอาดหมดจด ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ขจัดความตระหนี่ได้
- เป็นการบำรุงหรือจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป
- เป็นการแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ หรือผีไร่ ผีนา ที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม การทำนาเป็นอาชีพหลัก ในช่วงเดือน 10 นี้ ข้าวกล้ากำลังงอกงามและรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุก จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญเพื่อเลี้ยงขอบคุณตอบแทน
ประเพณีสารทคนไทยนิยมทำอะไร กิจกรรมหลัก ๆ ของวันสารทไทย คือ การนำข้าวปลาอาหาร และที่ขาดไม่ได้คือ ขนมกระยาสารท ไปทำบุญตักบาตรที่วัด โดยการตักบาตรมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น ตักบาตรน้ำผึ้ง ที่มีเฉพาะชาวไทยมอญ การทำบุญตักบาตรในวันสารทไทยนั้น มีความเชื่อว่าเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีการฟังธรรมเทศนา ถือศีล ปล่อยนก-ปล่อยปลา
ภาพจาก : Thanik Boonthawornwat / shutterstock.com
การทำบุญวันสารทนี้มีในหลายภูมิภาค โดยมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน ดังนี้
ภาคกลาง เรียกว่า "สารทไทย"
ภาคเหนือ เรียก "งานทานสลากภัต" หรือ "ตานก๋วยสลาก"
ภาคอีสาน เรียก "ทำบุญข้าวสาก"
ภาคใต้ เรียก "งานบุญเดือนสิบ" หรือ "ประเพณีชิงเปรต"
ถึงแม้ว่าการทำบุญเดือนสิบในแต่ละท้องที่จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน
แต่ก็มีจุดประสงค์เดียวกัน คือ การทำบุญกลางปี
เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองที่มีชีวิตผ่านพ้นเวลามาได้ถึงกึ่งปี
และเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว
แต่อาจมีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันบ้าง ดังนี้
ประเพณีวันสารทไทย ถือว่าเป็นประเพณีของภาคกลาง
เมื่อใกล้ถึงวันสารท ชาวบ้านทุกบ้านจะกวนกระยาสารทเพื่อนำไปตักบาตรและแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน ในวันสารทชาวบ้านจะจัดแจงข้าวปลาอาหาร
ไปทำบุญกรวดน้ำที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับ และถือศีล
ฟังธรรมเทศนา
บางท้องถิ่นจะทำขนมสำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
แม่พระโพสพ ผีนา ผีไร่ด้วย เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้วก็นำไปบูชาตามไร่นา
โดยวางตามกิ่งไม้ต้นไม้ หรือที่จัดไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ
พิธีสารทไทยในภาคเหนือ
มีชื่อเรียกว่า "ตานก๋วยสลาก" หรือ ทานสลากภัต (ชื่อในภาคกลาง)
และมีชื่ออื่น ๆ อีกตามแต่ในท้องถิ่น เช่น ตานสลาก, กิ๋นข้าวสลาก,
กิ๋นก๋วยสลาก หรือ กิ๋นสลาก คำว่า "ก๋วย" แปลว่า "ตะกร้า"หรือ "ชะลอม" ส่วน "สลากภัต" หมายถึงอาหารที่ถวายพระตามสลาก นับเข้าเป็นเครื่องสังฆทาน
ประเพณีตานก๋วยสลาก
เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล มีตำนานเล่าว่า
มีนางยักษิณีตนหนึ่งมักจะเบียดเบียนผู้คนอยู่เสมอ
ครั้นได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว นางก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา
นิสัยใจคอที่โหดร้ายก็กลับเป็นผู้เอื้ออารี
จนผู้คนต่างพากันซาบซึ้งนางยักษิณีตนนั้น ถึงกับนำสิ่งของมาแบ่งปันให้
แต่เนื่องจากสิ่งของที่ได้รับมีจำนวนมาก
นางยักษิณีจึงนำสิ่งของเหล่านั้นมาทำเป็นสลากภัต แล้วให้พระสงฆ์-สามเณรจับสลากด้วยหลักอปโลกนกรรม คือสิ่งของที่ถวายมีทั้งของมีราคามาก
และมีราคาน้อยแตกต่างกันไปตามแต่โชคของผู้ได้รับ
การถวายแบบจับสลากของนางยักษิณีจึงนับเป็นครั้งแรกของประเพณีทำบุญสลากภัตในพุทธศาสนา
ประเพณี "ตานก๋วยสลาก" หรือ "สลากภัต" ของชาวล้านนา นิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน
12 เหนือ ถึงเดือนยี่เหนือ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนถึงตุลาคมของทุกปี เพราะช่วงนี้ชาวนาจะได้หยุดพักหลังจากทำนาเสร็จแล้ว ขณะที่พระสงฆ์ก็จำพรรษาอยู่วัดไม่ได้ไปไหน
บวกกับในช่วงเวลานี้มีผลไม้สุก เช่น ลำไย มะไฟ ส้มโอ เป็นต้น
และยังเป็นการสงเคราะห์คนยากจน เช่น ชาวนาที่ฐานะไม่ค่อยดี
ไม่มีข้าวเหลือพอก่อนฤดูเก็บเกี่ยว จึงนับว่าเป็นการให้สังฆทาน ได้กุศลแรง
ก่อนจะถึงวันตานก๋วยสลาก 1 วัน จะเรียกว่า "วันดา" หรือ "วันสุกดิบ" เป็นวันที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมข้าวของไม่ว่าจะเป็นของกิน หรือของใช้ต่าง ๆ สำหรับที่จะนำมาจัดดาใส่ก๋วยสลาก
เช่น เกลือ ข้าวสาร หอม กะปิ ชิ้นปิ้ง เนื้อเค็ม จิ้นแห้ง แคบหมู เมี่ยง
บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไข สีย้อมผ้า ผลไม้ต่าง ๆ เป็นต้น
วันนี้มักจะมีญาติสนิทมิตรสหายที่อยู่ต่างบ้านมาร่วมไฮ่ฮอม
(ทำบุญ) และมาร่วมจัดดาสลากด้วย ซึ่งถือเป็นประเพณีที่จะได้ทำบุญร่วมกัน
ผู้ชายจะเป็นคนสานก๋วยสลาก (ตะกร้า) สำหรับที่จะบรรจุใส่ของกินของใช้ต่าง
ๆ ก๋วยจะกรุด้วยใบตอง หรือตองจี๋กุ๊ก
เมื่อรวบปากก๋วยมัดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีไม้ไผ่เหลาเป็นก้านเล็ก ๆ
สำหรับเสียบสตางค์, กล่องไม้ขีดไฟ, บุหรี่ เพื่อทำเป็นยอด
ก๋วยสลากจะมากน้อยบ้างตามแต่กำลังศรัทธาและฐานะ
แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยมีคนสาน "ก๋วย" เป็น จึงใช้ถุงพลาสติกบรรจุสิ่งของต่าง
ๆ แทน
1. ก๋วยน้อย เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ
ทั้งญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหายหรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรักและมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิต เช่น ช้าง ม้า วัว ควายและสุนัข
เป็นต้น หรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ภายหน้า
2. ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษ ซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น
ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธาและฐานะดี
เป็นปัจจัยนับว่าได้กุศลแรง
สลากที่มักจัดทำขึ้นเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ "สลากโชค" มักจะเป็นสลากของผู้ที่มีฐานะดีระดับเศรษฐี
(บางคน) ที่ต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้กับบิดามารดา
หรือญาติผู้ใหญ่ที่ได้ล่วงลับอันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณคน
มักทำเป็นต้นสลากที่สูงใหญ่สำหรับที่จะนำเอาวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ
ผูกมัดติดกับต้นสลาก เช่น ผ้าห่ม ที่นอน หมอน หม้อนึ่ง ไหข้าว หม้อแกง ถ้วย
ชาม ช้อน ร่ม เครื่องนุ่งห่ม อาหารแห้งต่าง ๆ
และเงินที่เป็นธนบัตรชนิดต่าง ๆ
ต้นสลากจะมีการประดับตกแต่งให้สวยงามกว่าสลากธรรมดา
ก่อนที่จะนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันที่วัด
ต้องเขียนเส้นสลากเสียก่อน โดยเส้นสลากนี้ผู้เป็นเจ้าของก๋วยสลากจะเอาใบลานมาตัดเป็นเส้นยาว ๆ ความกว้าง 2-3 นิ้ว
แล้วจารึกชื่อของเจ้าของไว้ บอกว่าอุทิศส่วนกุศลให้ใครบ้าง
แต่ปัจจุบันจะเขียนลงบนแผ่นกระดาษ คำจารึกในเส้นนั้นมักจะเขียน ดังนี้
เจติ
ตานํ
สลากข้าวซองนี้หมายมีผู้ข้าชื่อ...........ของทานไว้กับตนกับตัวภายหน้า ขอหื้อสุขสามประการ
มีนิพพานเป๋นยอดแด่เน้อ.............ฯ
เมื่อนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันไว้ที่วัดแล้ว
เส้นสลากจะถูกนำไปกองรวมกันไว้ในวิหารหน้าพระประธาน
จากนั้นทายกผู้เป็นหัวหน้าก็จะนำเบอร์มาติดที่สำรับกับข้าวของเจ้าภาพแต่ละราย แล้วเขียนหมายเลข
เมื่อเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว
เส้นสลากจะถูกนำมาแบ่งสันปันส่วนกันไปโดยการจับสลากในหมู่ของพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์มาจากวัดต่าง
ๆ รูปละ 5 เส้น 10 เส้นบ้าง แล้วแต่กรณี
ส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งให้วัดที่เป็นเจ้าภาพ
ก่อนจะถึงเวลาเพล พระสงฆ์ก็จะนำเอาเส้นสลากไปอ่าน โดยเริ่มจากเจ้าอาวาส
พระจับได้เบอร์อะไรของเจ้าภาพคนใดก็ไปฉันสำรับกับข้าวที่เจ้าภาพนำมา
ก่อนที่จะมีการเส้นสลาก (จับสลาก) ก็จะมีการฟังเทศน์อย่างน้อย 1 กัณฑ์
ต่อจากนั้นก็จะมีการยกของประเคนตามสลาก เมื่อพระฉันเสร็จแล้วก็จะอนุโมทนา
และให้ศีล ให้พร
เจ้าภาพก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้วเป็นอันเสร็จพิธี
งานสารทไทยภาคเหนือที่เป็นเอกลักษณ์อีกแห่งคือ "งานสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง" ของจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องกล้วยไข่
งานนี้เริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 และจัดต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ เนื่องจากเห็นว่า กล้วยไข่จะออกผลมากในช่วงเดือนกันยายนพอดี
และสามารถรับประทานเคียงกับกระยาสารท ซึ่งเป็นขนมประจำวันสารทไทยได้เป็นอย่างดี
จึงเป็นการประชาสัมพันธ์จังหวัดไปในตัว
มีประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว ในเดือน 10 เป็น 2 วาระ คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ครั้งหนึ่ง และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 อีกครั้งหนึ่ง โดยถือคติว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ดังนั้น จึงมีการทำบุญใน 2 วาระ ดังกล่าวนี้ แต่ส่วนใหญ่ทำวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เพราะมีความสำคัญมากกว่า
การทำบุญของชาวไทยภาคใต้ดังกล่าวนี้ มีชื่อเรียกเป็น 4 อย่าง คือ
1. ประเพณีทำบุญเดือนสิบ โดยกำหนดเอาเดือนทำบุญเป็นหลัก
2.
ประเพณีทำบุญวันสารท โดยถือหลักของการทำบุญที่มีความสัมพันธ์กับอินเดีย
เหมือนวันสารทไทยของคนไทยในภาคกลางดังกล่าวมาแล้ว บางครั้งก็เรียกว่า
ประเพณีทำบุญสารท หรือเดือนสิบ ซึ่งที่รู้จักกันดีคือ
ประเพณีสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช
3.
ประเพณีจัดหมรับ (อ่านว่า หมับ แปลว่า สำรับ) การยกหมรับ และการชิงเปรต
คำว่า จัดหมรับ ได้แก่ การจัดเสบียงอาหารเป็นสำรับถวายพระภิกษุ
โดยให้พระภิกษุจับสลากแล้วให้ศิษย์เก็บไว้ แล้วนำถวายพระภิกษุเป็นมื้อ ๆ
การยกหมรับที่จัดเรียบร้อยแล้วไปวัด
พร้อมทั้งภัตตาหารไปถวายพระภิกษุในช่วงเวลาเช้าก่อนเพล
จะจัดเป็นขบวนแห่ใหญ่โตก็ได้ บางแห่งแต่งตัวเป็นเปรตเข้าร่วมไปในขบวนด้วย
ส่วนชิงเปรตหรือตั้งเปรตนั้นเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำบุญ กล่าวคือ เมื่อจัดหมรับ
ยกหมรับไปถวายพระภิกษุแล้วจะเอาอาหารที่จัดไว้
ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากไปจัดตั้งไว้ให้เปรต
โดยมากเป็นอาหารที่ผู้ล่วงลับไปแล้วชอบในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่
แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือขนม 5 อย่าง คือ ขนมพอง โดยหมายถึงจะให้เป็นแพฟ่อง
ล่องลอยพาบรรพชนล่วงข้ามสังสารวัฏ, ขนมลา ให้เป็นแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม,
ขนมกง หรืองบางทีก็ใช้ขนมไข่ปลา ให้เป็นเครื่องประดับ, ขนมดีซำ
ให้เป็นเบี้ยไว้ใช้สอย และขนมบ้า
ให้บรรพชนใช้เป็นลูกสะบ้าสำหรับเล่นรับสงกรานต์
สถานที่ตั้งอาหารเป็นร้านสูงพอสมควร
เรียกว่า ร้านเปรตหรือหลา (ศาลา) เปรตมีสายสิญจน์วงรอบ
โดยให้ปลายสายสิญจน์อีกข้างหนึ่งโยงมาสำหรับพระภิกษุชักบังสุกุล
ซึ่งชาวบ้านจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ พอเก็บสายสิญจน์แล้วก็จะมีการแย่งอาหารและขนมที่ตั้งเปรตไว้นั้นอย่างสนุกสนาน เรียกว่า
ชิงเปรต แล้วนำมากิน ถือว่าได้กุศลแรงและเป็นสิริมงคล
การทำบุญด้วยวิธีตั้งเปรตและชักบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลนี้ บางครั้งเรียกว่า
การฉลอง หมรับและบังสุกุล ถือว่าสำคัญ
เพราะถือว่าเป็นวันส่งญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย
ซึ่งต่อมาได้มีการจัดเป็นแถวรอรับเพื่อความเรียบร้อยและไม่ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทเนื่องจากการแย่งชิงกัน
4.
ประเพณีทำบุญตายาย หรือประเพณีรับ-ส่งตายาย โดยถือคติว่า
ญาติที่ล่วงลับไปแล้วกลับมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10
และกลับนรกตามเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
แต่มีบางแห่งถือว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วเหล่านี้เป็นตายาย
เมื่อท่านมาก็ทำบุญรับ เมื่อท่านกลับก็ส่งกลับ
จึงเรียกประเพณีดังกล่าวนี้ว่า ทำบุญตายาย
มีประเพณีการทำบุญในเดือน 10 เหมือนกัน คือ ทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 แต่แบ่งระยะเวลาของประเพณีการทำบุญออกไปเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะแรก
ก่อนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านจะเตรียมข้าวเม่าพองและข้าวตอก
(บางแห่งเรียกดอกแตก) ขนมและอาหารหวานคาวอื่น ๆ เพื่อจะทำบุญในวันขึ้น 15
ค่ำ เดือน 10 โดยเฉพาะข้าวสาก ซึ่งคนไทยภาคกลางเรียกว่า กระยาสารท
เมื่อเตรียมของทำบุญไว้เรียบร้อยก็จะเอาข้าวปลาอาหารไปส่งญาติพี่น้อง
เพื่อนฝูง ถ้าหากบุคคลเหล่านั้นอยู่ห่างไกลก็จะไปค้างคืน
นอกจากมอบของแล้วจะถือโอกาสเยี่ยมเยียนไปด้วย เรียกว่า ส่งเขาส่งเรา
ผลัดกันไปผลัดกันมา เป็นการแลกเปลี่ยนกัน
ส่วนข้าวสารหรือกระยาสารทนั้นจะส่งก่อนวันทำบุญหรือในวันทำบุญก็ได้
เรียกว่า ส่งข้าวสาก
ระยะที่สอง
คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เวลาเช้า
ชาวบ้านไปทำบุญตักบาตรที่วัด อุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว
แต่อาจมีบางคนอยู่วัดรักษาศีล ฟังเทศน์ เมื่อถึงเวลาใกล้เพลก็เตรียมภัตตาหารไปวัดอีกครั้งหนึ่ง มีห่อข้าวน้อย ห่อข้าวใหญ่ ข้าวสาก
และอาหารอื่น ๆ บางแห่งอาจจัดของที่จะถวายเป็นกัณฑ์เทศน์ไปด้วย
เมื่อถึงวัดแล้วก็จะจัดภัตตาหารและของที่จะถวายพระภิกษุถวายเสียก่อน
บางแห่งนิยมทำเป็นสลาก ชาวบ้านคนไหนจับสลากถูกชื่อพระภิกษุรูปใดก็ถวายรูปนั้น ทำนองเดียวกับการทำบุญสลากภัต
จึงเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจว่า การทำบุญข้าวสากก็คือทำบุญด้วยวิธีถวายตามสลาก
ส่วนห่อข้าวน้อย
ห่อข้าวใหญ่ ชาวบ้านแจกกันเอง
ห่อข้าวน้อยนั้นเมื่อแจกแล้วก็แก้ห่อออกกินกันในวัดทีเดียว
ถือกันว่าเป็นการกินในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้
ส่วนห่อข้าวใหญ่เอากลับไปบ้าน
เก็บไว้ในเวลาต่อไป เพราะอาหารในห่อนั้นเป็นพวกของแห้ง เช่น ปลาแห้ง
เนื้อแห้ง ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน ๆ ถือคติว่าเอาไปกินในปรโลก
ประเพณีแจกห่อข้าวน้อยและห่อข่าวใหญ่นี้ปัจจุบันเกือบไม่มีแล้ว
จะจัดเพียงภัตตาหารไปถวายพระภิกษุพร้อมด้วยข้าวสาก
หรือถวายกระยาสารทเท่านั้น
สำหรับข้าวสากที่จะนำไปแจกกันเหมือนกระยาสารทของคนไทยภาคกลางนั้น
วิธีห่อผิดกับทางภาคกลาง เพราะห่อด้วยใบตอง กลัดด้วยไม้กลัด
หัว-ท้ายมีรูปลักษณะคล้ายข้าวต้มมัด
แต่ตรงปลายทั้งสองข้างที่เรียกว่าสันตองไม่ต้องพับเข้ามา ของที่ใส่ในห่อมีข้าวต้ม (ข้าวเหมือนแบบข้าวต้มผัด) ข้าวสาก แกงเนื้อ แกงปลา หมาก พลู
บุหรี่ ห่อแล้วเย็บติดกันเป็นคู่ ๆ เอาไปห้อยไว้ตามต้นไม้ รั้วบ้าน
เมื่อห้อยไว้แล้วก็ตีกลองหรือโปง
เป็นสัญญาณให้เปรตมาเอาไปและปล่อยทิ้งไว้ชั่วพักหนึ่ง
กะเวลาที่เปรตได้มารับเอาอาหารที่ห้อยไว้นั้นไปแล้ว ชาวบ้านก็แย่งกันชุลมุน
ใครแย่งเก่งก็ได้มากกว่าคนอื่น เรียกว่า แย่งเปรต
ของที่แย่งเปรตไปได้นี้
ชาวบ้านจะเอาไปไว้ตามไร่นา เพื่อเลี้ยงตาแฮก (ยักษิณีหรือเทพารักษ์
รักษาไร่นา ซึ่งเคยเลี้ยงมาเมื่อตอนเริ่มทำนาในเดือน 6 มาครั้งหนึ่งแล้ว)
นอกจากเลี้ยงตาแฮกแล้วก็เอาไปให้เด็กกิน เพราะถือว่าเด็กที่กินแล้วจะอ้วนท้วนสมบูรณ์ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย
กระยาสารท เป็นขนมประจำวันสารทในทุกท้องถิ่นของประเทศไทย ด้วยมีความเชื่อว่า
ถ้าไม่ได้ใส่บาตรขนมกระยาสารทในวันสารทไทยแล้ว
ญาติผู้ล่วงลับก็จะไม่ได้ส่วนบุญส่วนกุศลที่กระทำในวันนั้น
ขนมกระยาสารทมีส่วนประกอบ คือ ข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่ว งา และน้ำตาล
นำทั้งหมดมากวนเข้าด้วยกัน เมื่อสุกแล้วจึงนำมาปั้นเป็นก้อนกลม
หรือจะตัดเป็นแผ่นก็ได้
สำหรับการกวนกระยาสารทนั้นต้องใช้เวลาและแรงคนหลาย ๆ คนจึงจะทำเสร็จได้
ดังนั้น การกวนกระยาสารทจึงต้องอาศัยความสามัคคีกันของคนในครอบครัว
เมื่อกวนกระยาสารทเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะนำไปทำบุญและแจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน
จะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของประเพณีวันสารทไทยมิใช่เป็นเพียงเรื่องของขนมที่ใช้ในการทำบุญเท่านั้น
หากแต่อยู่ที่กุศโลบายในการสร้างความสามัคคีภายในครอบครัว
การแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ
และการแสดงน้ำใจไมตรีต่อกันระหว่างเพื่อนบ้านอีกด้วย
นอกจากกระยาสารทแล้วก็ยังมีขนมอื่น ๆ เช่น ขนมลา ขนมพอง ขนมกง ขนมไข่ปลา ขนมเทียน ขนมดีซำ ขนมบ้า
ข้าวยาคู มีตำนานเล่ามาว่า
มีชาวนาพี่น้อง 2 คน คนโตชื่อว่า มหาการ น้องชื่อ จุลการ มีไร่นากว้างใหญ่
ในฤดูที่ข้าวออกรวง คนน้องเห็นว่าควรจะนำข้าวนั้นมาทำอาหารถวายพระพุทธเจ้าผู้ทรงนามว่า วิปัสสี
แต่พี่ชายไม่เห็นด้วย เพราะจะต้องเสียข้าวในนาจำนวนไม่น้อย
น้องชายจึงแบ่งไร่นาและนำเมล็ดข้าวในสวนไร่นาของตนไปทำอาหารที่เรียกว่า
ข้าวยาคู ไปถวายพระวิปัสสี และอธิษฐานขอให้เกิดในบวรพระพุทธศาสนา
ซึ่งภายหลังจุลการได้เกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะ
สำหรับข้าวยาคูนี้ จุลการได้ข้าวสาลีที่กำลังท้องฉีกรวงข้าวอ่อนออกมา
แล้วต้มในน้ำนมสด เจือด้วยเนยใส น้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวด
ข้าวมธุปายาส คือ ข้าวที่หุงเจือด้วยน้ำนมและน้ำผึ้ง มีตำนานเล่าว่า นางสุชาดา
ลูกสาวเศรษฐี ปรุงขึ้นเป็นอาหารไปแก้บน และได้เห็นพระพุทธเจ้าเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นนิโครธ (ต้นไทร) ก็เข้าใจว่า
พระองค์เป็นเทพยดา จึงนำอาหารนั้นไปถวาย
พระโพธิสัตว์จึงได้เสวยข้าวมธุปายาสเป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
จึงมีความเชื่อกันว่า ข้าวมธุปายาส เป็นอาหารวิเศษ ผู้ใดมีวาสนาได้กินแล้วจะมีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย อุดมด้วยสติปัญญา
และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ข้าวทิพย์
หมายถึง อาหารอันโอชะ ที่มีเครื่องปรุงถึง 108 ชนิด (หากทำแบบโบราณ)
แต่โดยหลัก ๆ ก็มี 9 อย่าง คือ น้ำนมข้าว เนย น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำตาล นม
ถั่ว งา และข้าวเม่า ซึ่งการกวนแต่ละครั้งก็ต้องประกอบพิธีกรรมหลายอย่าง
เช่น ต้องใช้สาวพรหมจารีกวน
ฟืนที่ใช้ต้องเป็นไม้ชัยพฤกษ์หรือไม้พุทราเท่านั้น
ส่วนไฟก็ต้องเกิดจากแดดผ่านแว่นขยายที่เรียกว่า "สุริยกานต์" เป็นต้น
สำหรับวันสารทไทยในปีนี้ เราคนรุ่นใหม่อย่าลืมช่วยกันรักษาประเพณีไทยนี้ไว้ เพื่อไม่ให้ความเป็นไทยสูญหายไปตามกาลเวลา
ขอบคุณข้อมูลจาก : culture.go.th, uniserv.buu.ac.th