x close

10 อันดับถนนกรุงเทพฯ มลพิษสูงทั้งฝุ่น-เสียง

มลพิษทางอากาศ

 

 

        สสส. เผย 10 ถนนกรุงเทพฯ มลพิษเกินมาตรฐานทั้งฝุ่นและเสียง นำโดยถนนราชปรารภ-สุขุมวิท-อาจณรงค์-บำรุงเมือง-สาธุประ ดิษฐ์ ขณะที่ตากสิน-อนุสาวรีย์ชัย รถติดหนักจนเสียงดังทะลุมาตรฐาน ชี้ทุ่มงบสร้างรถไฟฟ้าไม่ใช่คำตอบเดียว ต้องลดใช้รถส่วนตัว เน้นเดิน-ขี่จักรยาน หนุนสำรวจทางเท้า พร้อมจัดวันคาร์ฟรีเดย์ 21 กันยายนนี้ กระหึ่ม 40 กว่าจังหวัด

        เมื่อวันที่ 16 กันยายน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา "คุณภาพชีวิตคนเมือง...กับผู้ว่าฯกทม.คนใหม่" ในโอกาสวันคาร์ ฟรี เดย์ 2008" ซึ่งสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม เปิดเผยข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ สำรวจคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร ปี 2550

โดยตรวจฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 โมครอน พบว่า 10 ถนนมีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน คือ

         1. ถนนราชปรารภ
         2. ถนนสุขุมวิท
         3. ถนนอาจณรงค์
         4. ถนนบำรุงเมือง
         5. ถนนสาธุประดิษฐ์
         6. ถนนหลานหลวง
         7. ถนนเยาวราช 
         8. ถนนพิษณุโลก
         9. ถนนสุขาภิบาล 1
         10. ถนนพระราม 1

ส่วนสถานการณ์มลพิษด้านเสียง พบถนนที่มีระดับเสียงเกินมาตรฐานทุกวัน คือ เกิน 70 เดซิเบล คือ 

         1. ถนนอินทรพิทักษ์ 
         2. ถนนตรีเพชร

ส่วนถนนที่การจราจร หนาแน่นที่มีเสียงเกินมาตราฐาน 3 อันดับ คือ 

         1. ถนนตากสิน 
         2. ถนนสุขุมวิท 
         3. บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ


รถติด



        หนึ่งในสาเหตุสำคัญของมลพิษอากาศและเสียง คือ การจราจร หากลดปริมาณรถยนต์บนถนนลงได้ ปัญหาก็จะลดลงด้วย ซึ่ง สสส. ร่วมกับสมาคมนักผังเมืองไทย จัดสำ รวจทางเท้าเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นแนวทางปรับปรุงทาง เท้าให้เหมาะกับการเดิน คาดว่าจะส่งผลสรุปให้กรุงเทพมหานครได้ภายในสิ้นปีนี้ พร้อมทั้งสนับสนุนการออกกำลังกาย ด้วยการเดิน การใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพดี และช่วยลดปัญหาสิ่งแวด ล้อมไปพร้อมกันด้วย

        ด้าน ดร.เจษฏ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร คนใดพูดถึงนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมืองอย่างชัดเจน ด้วยการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และลดภาวะโลกร้อน และไม่มีใครกล้าพูดว่าประชาชนต้องทำอะไรบ้าง การเน้นนโยบายด้านจราจรด้วยการสร้างรถไฟฟ้าเพิ่ม ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ใช้งบประมาณสูง อีกทั้งอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง หากมองว่าปัญหาจราจรคือปริมาณรถและความคล่องตัว ยังมีวิธีแก้อีกหลายวิธี ที่สำคัญคือ ลดปริมาณการใช้รถ ทำให้ประชาชนหันมาใช้รถสาธารณะจริงๆ ใช้จักรยาน และการเดินให้มากขึ้น

        ส่วน ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ กรรมการบริหารแผน สสส. กล่าวว่า การทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ มิติหนึ่ง คือ คุณภาพอากาศที่เหมาะสม ซึ่งการจัดการระบบขนส่งมวลชน ให้ความสะดวกสบาย ประชาชนใช้รถส่วนตัวน้อยลง หันไปใช้ระบบขนส่งมวลชน ส่งเสริมการเดิน การใช้จักรยาน ที่ผู้บริหารกทม.ต้องสร้างความพร้อม ไม่ใช่แค่รณรงค์ขี่จักรยานแค่วันเทศกาล หรือขีดเส้นทางจักรยานไว้บนถนน แต่ต้องคิดเรื่องความปลอดภัย มีความต่อเนื่อง การลดมลพิษ ลดพลังงาน ลดภาวะโลกร้อน ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่จึงจะเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งไม่ต้องคิดใหญ่เสมอไป แต่ต้องคิดแบบจุลภาคแล้วค่อยสานต่อเป็นมหภาค

        "การรณรงค์และเตรียมความพร้อมให้ประชาชนหันมาใช้จักรยาน หรือการเดิน เป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งวันที่ 21 กันยายนนี้ กรุงเทพมหานคร ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และสสส. จะจัดกิจกรรมวันปลอดรถ คาร์ ฟรี เดย์ 2008 ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง มีผู้เข้าร่วมกว่า 3 พันคน และจะร่วมกันแปรขบวนจักรยานเป็นรูปแผนที่ประเทศไทย พร้อมกันนี้ยังมีกิจกรรมพร้อมๆ กันอีก 40 จังหวัด" ศ.ดร.ธงชัย กล่าว



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก
- dwr.go.th
- amulet2u.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 อันดับถนนกรุงเทพฯ มลพิษสูงทั้งฝุ่น-เสียง อัปเดตล่าสุด 17 กันยายน 2551 เวลา 12:20:21 85,755 อ่าน
TOP