เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ , หนังสือพิมพ์คมชัดลึก , กระทรวงสาธารณสุข
หลังจากมีข่าวว่าพบผู้ประกอบอาชีพรับจ้างเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งเสียชีวิตอย่างต้องสงสัย 1 รายที่จังหวัดพิจิตร ก่อนจะมีรายงานว่าพบเชื้อไข้หวัดนกที่บ้านม่อนหินขาว อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย และที่อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานีในเวลาต่อมาจึงเป็นที่วิตกกังวลกันว่า โรคระบาดชนิดจะกลับมาคร่าชีวิตคนและสัตว์อีกครั้ง เหมือนกับที่เคยแพร่ระบาดมาแล้วในประเทศไทยเมื่อช่วงหลายปีที่ผ่านมา วันนี้เราจึงนำความรู้เรื่องไข้หวัดนกมาฝากกัน เพื่อจะได้เตรียมรับมือได้ถูกต้องค่ะ
รู้จัก ไข้หวัดนก
โรคไข้หวัดนก (Bird Flu) หรือโรคไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก (Avian Influenza) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (Avian Influenza Type A) แบ่งออกได้เป็นไข้หวัดนกชนิดรุนแรง และชนิดไม่รุนแรง สายพันธุ์ที่มักจะทำให้เกิดโรคในนกและมีความรุนแรงได้แก่ สายพันธุ์ H5 และ H7 ซึ่งเชื้อนี้สามารถแพร่ระบาดกันได้ในหมู่สัตว์ปีกทุกชนิด มีระยะการฟักตัวเฉลี่ย 3 - 5 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน หากเชื้อโรคติดต่อสู่คนจะมีระยะฟักตัวประมาณ 1-3 วัน โดยทั่วไปเชื้อไข้หวัดนกนี้มักระบาดในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส
การแพร่ระบาดของ โรคไข้หวัดนก
ในสมัยก่อนเชื้อไข้หวัดนกจะแพร่ระบาดกันในหมู่สัตว์ปีกเท่านั้น เพราะสัตว์ปีกทุกชนิดจะไวต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ โดยพบการระบาดครั้งแรกที่ประเทศอิตาลีเมื่อร้อยกว่าปีก่อน จากนั้นจึงมีรายงานว่าเกิดการแพร่ระบาดในหมู่สัตว์ปีกตามที่ต่างๆ ทั่วโลก
แต่ในระยะหลังเชื้อเหล่านี้เกิดการกลายพันธุ์ และแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมกัน จนเกิดเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และสามารถติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้ โดยพบการติดต่อจากสัตว์สู่คนเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.2540 ที่ฮ่องกง จากเชื้อไวรัส H5N1 ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ก่อนจะพบการแพร่ระบาดในปีต่อๆ มาทั่วเอเชีย ทั้งจีน ไทย เวียดนาม ฯลฯ ทำให้คร่าชีวิตผู้คนไปหลายราย ขณะที่ในแถบยุโรปก็พบการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H9N2 และ H7N7 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเช่นกัน
กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ ไข้หวัดนก
บุคคลที่เสี่ยงจะติดเชื้อไข้หวัดนก นั่นคือ
1.ผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงกับสัตว์ปีก ไม่ว่าจะเป็นผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้ทำงานในฟาร์ม ผู้ชำแหละสัตว์ หรือทำลายซากสัตว์ รวมทั้งเด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่ระบาด เป็นต้น
2.ผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับนก ไก่ สัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย
3.ผู้ที่ไปท่องเที่ยวหรืออยู่บริเวณที่มีการระบาดของไข้หวัดนก
4. ผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัดนกหรือผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจรุนแรง
การติดต่อ โรคไข้หวัดนก
การติดต่อในกลุ่มสัตว์
พาหะของโรคไข้หวัดนกคือ กลุ่มนกป่า เช่น นกเป็ดน้ำ เป็ดไล่ทุ่ง แต่สัตว์ปีกที่เป็นพาหะเหล่านี้จะไม่แสดงอาการให้เห็น เมื่อนกที่เป็นพาหะบินอพยพไปตามที่ต่างๆ ก็จะแพร่เชื้อโดยขับออกมาทางมูลสัตว์ ทำให้เชื้อโรคเหล่านี้แพร่ระบาดในกลุ่มสัตว์ปีก เช่น ไก่ เป็ด ที่เลี้ยงไว้ตามบ้าน และสามารถแพร่เชื้อไปยังนกอื่นๆ ตามธรรมชาติ อีกทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุกร เสือ แมว หากกินสัตว์ปีกที่ติดเชื้อไข้หวัดนก ก็สามารถทำให้สัตว์เหล่านั้นป่วยเสียชีวิตได้
การติดต่อจากสัตว์มาสู่คน
สาเหตุที่เชื้อไข้หวัดนกจากสัตว์ติดต่อมาสู่คนได้นั้น ส่วนใหญ่พบว่าผู้ติดเชื้อมีประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายโดยตรง หรือสัมผัสเสมหะ สารคัดหลั่ง หรือบริโภคสัตว์ปีกที่ป่วยตาย และยังพบในผู้ที่อยู่ในพื้นที่ระบาดของโรค นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้จากสัตว์อื่นๆ เช่น สุกรที่ติดเชื้อไข้หวัดนกจากสัตว์ปีก แต่ปัจจุบันยังไม่พบว่ามีการติดเชื้อจากรับประทานเนื้อสัตว์ปีกหรือกินไข่ รวมทั้งยังไม่พบการแพร่ระบาดจากคนสู่คนด้วย
อาการ ไข้หวัดนก ที่พบ
ในสัตว์ปีกที่ติดเชื้อจะมีไข้ ซึม ไม่กินอาหาร เหนียงบวม มีสีแดงคล้ำ มีจุดเลือดออกที่หน้าแข้ง ไอ จาม น้ำมูกไหล อาจท้องเสีย ชัก มีการระบาดในกลุ่มอย่างรุนแรงจนตายอย่างรวดเร็ว ส่วนเป็ดและห่านมักจะทนทานต่อโรคสูงกว่าสัตว์ปีกอื่นๆ จึงไม่ค่อยป่วยง่าย แต่ก็ยังพบว่ามีเป็ด ห่าน ป่วยตายด้วยโรคนี้ เมื่อปี พ.ศ.2547 ที่มีการระบาดในประเทศไทยและเวียดนาม โดยทั่วไปหากสัตว์ปีกติดเชื้อแล้ว มักเสียชีวิตเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และการจะตรวจสอบว่าสัตว์ตายจากเชื้อไข้หวัดนกหรือไม่จะต้องผ่านการตรวจจากห้องปฏิบัติการ
ในคนที่ติดเชื้อ จะมีการไข้สูงมากกว่า 38 องศา หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามข้อ ไอแห้ง ตาแดง มักพบอาการปวดบวมในผู้ป่วยทุกคน ขณะที่ผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจมีอาการรุนแรง หายใจลำบาก หอบ และอาจมีอาการระบบหายใจล้มเหลวอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเสียชีวิตได้ ส่วนมากมีระยะเวลาป่วย 5-13 วัน และหากติดเชื้อไข้หวัดนกแล้วมีโอกาสเสียชีวิตถึงร้อยละ 70-80 ส่วนมากจะเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวในวันที่ 9-10 หลังมีอาการป่วย
การรักษา โรคไข้หวัดนก
ผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกแล้ว สามารถรักษาโดยการให้ยาต้านไวรัส Olseltamivir หรือชื่อทางการค้าว่า Tamiflu ภายใน 48 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการป่วย และทานติดต่อกันนาน 5 วัน ร่วมกับการรักษาตามอาการ และการใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดความถี่สูง จะให้ผลการรักษาดี ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก็สามารถผลิตวัคซีนไข้หวัดนกตัวแรกได้ เมื่อ ปี พ.ศ.2550 เช่นเดียวกับประเทศจีนที่ได้ผลิตวัคซีนไข้หวัดนกขึ้นและได้ทดลองใช้กับอาสาสมัคร ซึ่งยืนยันว่าได้ผลดี
การทำลายเชื้อ ไข้หวัดนก
เชื้อไข้หวัดนกสามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ดังนั้นหากต้องการปรุงอาหารจากสัตว์ปีกควรจะใช้อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป นอกจากนี้การทำความสะอาดบ้านเรือนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มน้ำยาฟอกขาวที่เจือจาง หรือผงซักฟอกก็สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ หากเป็นสถานที่เลี้ยงสัตว์เช่น ฟาร์ม โรงเรือน ควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ ประเภทคลอรีน ควอเตอรีแอมโมเนียม และกลุตาราลดีไฮด์ ทำความสะอาด
การควบคุมการระบาดของ โรคไข้หวัดนก
การควบคุมการระบาดในสัตว์
1.เมื่อพบการระบาดในสัตว์ จะต้องทำลายสัตว์ปีกทั้งหมดในฟาร์มนั้น รวมทั้งสัตว์ปีกในรอบรัศมี 1-5 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่นๆ นอกจากนั้นแล้วซากสัตว์ ไข่ หรือมูลสัตว์ก็ต้องทำลายด้วยการฝังหรือเผา ห้ามนำมารับประทานหรือนำไปทำปุ๋ยเด็ดขาด
2.ทำความสะอาดโรงเรือน และรอบบริเวณด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ
3.ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกออกนอกพื้นที่ระบาดโดยเด็ดขาด และเฝ้าระวังการติดเชื้อในพื้นที่ควบคุมรัศมี 50 กิโลเมตร
4.ห้ามนำสัตว์ปีกเข้ามาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ระบาด จนกว่าจะตรวจสอบแล้วว่าไม่พบเชื้อเป็นเวลาอย่างน้อย 21 วัน และพิจารณาแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงจากการระบาดซ้ำ
การควบคุมการระบาดในคน
การควบคุมโรคไข้หวัดนก ต้องทำตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2523 ซึ่งกำหนดไว้ว่าให้โรคไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งโรคไข้หวัดใหญ่จากสัตว์ (ไข้หวัดนก) เป็นโรคที่ต้องแจ้งความ หากพบผู้ป่วยต้องสงสัยให้แจ้งไปสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เพื่อเฝ้าระวังโรค และค้นหาผู้ป่วยในพื้นที่โรคระบาด เมื่อพบผู้ต้องสงสัยจะต้องแยกผู้ป่วยออกโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ซึ่งต้องให้ผู้ป่วยได้รับยาต้านไวรัสภายใน 48 ชั่วโมง
การป้องกันการติดเชื้อ ไข้หวัดนก
การป้องกันการติดเชื้อในสัตว์
1.ควบคุมไม่ให้นกต่างถิ่นเข้ามาในสถานที่เลี้ยงสัตว์
2.ควรแยกขังสัตว์ที่นำเข้ามาใหม่ไว้ก่อนจนพ้นระยะฟักตัวของโรค
3.ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดวัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนยานพาหนะต่างๆ ในฟาร์ม
4.ไม่นำวัสดุอุปกรณ์จากพื้นที่แพร่ระบาดมาใช้
การป้องกันการติดเชื้อในคน
1.บริโภคอาหารที่ปรุงสุก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ หรือไข่ เพื่อให้ความร้อนได้ทำลายเชื้อเหล่านั้น
2.พยายามรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดภูมิต้านทานต่อโรค
3.หมั่นล้างมือเป็นประจำเพื่อฆ่าเชื้อโรค และสามารถป้องกันการติดเชื้อได้
4.ผู้ที่มีไข้สูง และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
5.หากต้องสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อต้องสวมเสื้อคลุมและถุงมือ และควรอยู่ห่างจากผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 3 ฟุต เพราะโดยปกติเชื้อไข้หวัดสามารถติดต่อทางเสมหะ การจาม หรือไอได้
6.ติดตามรับฟังข่าวการแพร่ระบาดจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด และหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าในพื้นที่นั้น
7.ช่วยกันเฝ้าระวังการระบาดในสัตว์ปีกที่เลี้ยงอยู่ตามบ้าน
8.ดูแลเด็กๆ ไม่ให้ไปสัมผัสสัตว์ป่วย หรือบริเวณที่อาจปนเปื้อนเชื้อ
9.หากพบสัตว์ปีกตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมของสำนักงานเขตทุกเขต หากเป็นในต่างจังหวัดให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอและปศุสัตว์จังหวัด เทศบาล อบต.
10.ไม่ควรสัมผัสสัตว์ป่วยหรือตายด้วยมือเปล่า ควรสวมถุงมือ หรือถุงพลาสติกหนาๆ แทน
11.ต้องขุดฝังหลุมฝังสัตว์ที่ตายให้ลึกอย่างน้อย 1 เมตร หรือนำไปเผา จากนั้นให้รีบล้างมือด้วยสบู่โดยเร็วที่สุด
จะเห็นได้ว่า โรคไข้หวัดนก นี้สามารถติดเชื้อจากสัตว์มาสู่คนได้เท่านั้น เพราะในปัจจุบันก็ยังไม่มีรายงานว่าไวรัสนี้จะติดต่อจากคนสู่คนได้ ดังนั้นเราก็วางใจได้เปลาะหนึ่งว่า หากเราไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยง และยังปฏิบัติตามข้อแนะนำในการป้องกันโรคไข้หวัดนก โรคไข้หวัดนกนี้ก็คงไม่สามารถเข้ามาทำอันตรายเราได้ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- กรมควบคุมโรค
- siamhealth.net