สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และหนังสือพิมพ์ข่าวสด
วันนี้ (2 ธันวาคม) นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชน, พรรคมัชฌิมาฯ และ พรรคชาติไทย โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรคดังกล่าว โดยมีเหตุผลดังนี้
พรรคพลังประชาชน
สำหรับพรรคพลังประชาชน ศาลมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรค โดยมีประเด็นพิจารณาดังนี้
ประเด็นที่ 1 นายยงยุทธ ติยะไพรัช กระทำความผิดตามพรบ.เลือกตั้งส.ส. หรือไม่ เห็นว่าประเด็นปัญหาการกระทำผิดของนายยงยยุทธ ได้ต่อสู้คดีกันโดยผู้ร้องและผู้ถูกร้องได้นำพยานหลักฐานสู่ศาลฎีกา และศาลมีคำวินิจฉัยว่านายยงยุทธ กระทำผิด ฝ่าฝืนพรบ.เลือกตั้ง มาตรา 53 ทำให้การเลือกตั้งส.ส.เชียงรายไม่สุจริต เที่ยงธรรม ตามคำสั่งศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดการทุจริต ส.ส. แล้วว่ามีเหตุสมควรเชื่อได้ว่านายยงยุทธ กระทำการฝ่าฝืนพรบ.เลือกตั้ง กรณีนายยงยุทธ จึงถือยุติตามคำสั่ง ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจไปตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลฎีกาและไม่มีอำนาจคัดค้าน ตามประเด็นคัดค้านว่าคำสั่งศาลฎีกาไม่มีคำสั่งผูกพันหัวหน้าพรรค เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยคดีนี้ แต่เป็นการพิจารณาว่านายยงยุทธ รองหัวหน้าพรรค ฝ่าฝืนพรบ.เลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้ยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งตามมาตรา 237 ประกอบมาตรา 68 วรรค 3 หรือไม่ โดยไม่จำเป็นว่าต้องวินิจฉัยว่าคนอื่นเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
ประเด็นที่ 2 มีเหตุสมควรให้ยุบพรรคหรือไม่ กรณีศาลรธน.มีคำสั่งยุบพรรค ให้เพิกถอนสิทธิ์ 5 ปี
แม้ข้อเท็จจริงจะไม่ได้กระทำ แต่กฎหมายให้ถือว่าเป็นผู้กระทำ ศาลรธน.ไม่สามารถวินิจฉัยเป็นอื่นได้ เพราะการซื้อเสียงความผิด ใช้วิธีการแยบยล จึงให้ผู้บริหารพรรคคัดเลือกผู้ที่จะทำงานกับพรรคและควบคุมสอดส่องไม่ให้คนของพรรคกระทำผิด ถือได้ว่ามีเหตุว่าสมควรยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้องหรือไม่ เนื่องจากต้องเป็นแบบอย่างถูกต้องชอบธรรม การได้มาซึ่งส.ส.ควรได้มาด้วยความนิยมเป็นหลัก มิใช่ได้มาด้วยผลประโยชน์หรืออามิสสินจ้าง กก.บห.ต้องช่วยกันทำหน้าที่ควบคุมดูแล แต่นายยงยุทธ และกก.บห.ใช้วิธีการผิดกฎหมายตนเองได้รับการเลือกตั่ง ได้ส.ส.เพิ่มขึ้น ถือว่าได้ประโยชน์แล้ว
การที่นายยงยุทธ เป็นกรรมการบริหารพรรค มีบทบาทสำคัญในพรรค ได้รับยกย่องเป็นรองหัวหน้าและประธานสภา มีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลส.ส. แต่กลับกระทำความผิดเสียเอง คุกคามระบอบประชาธิปไตย มีเหตุมควรให้ยุบพรรคเพือเป็นมาตรฐานพฤติกรรมที่ดีงาม ไม่ให้กระทำความผิดขึ้นอีก
ประเด็นที่ 3 หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารผู้ถูกร้องต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่
มาตรา 237 วรรค 2 หากศาลรธน.มีคำสั่งยุบพรรคให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีนับแต่มีคำสั่งยุบพรรค เน้นย้ำมาตรา 68 วรรค 4 เมื่อศาลมีคำสั่งยุบพรรค ต้องเพิกถอนสิทธิ ศาลไม่อาจใช้ดุลยพินิจเป็นอื่นได้
ส่วนข้อโต้แย้งว่าต้องมีส่วนรู้เห็นนั้น เห็นว่าการเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคในคดีนี้เป็นการเพิกถอนตามรธน. 68 วรรค 3 ไม่ใช่ตามพรบ.พรรคการเมือง มิอาจลบล้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญข้อโต้แย้งทั้งหมดจึงฟังไม่ขึ้น ศาลจึงมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพปช.เนื่องจากนายยงยุทธ กระทำความผิดตามพรบ.เลือกตั้ง มีผลให้การเลือกตั้งไม่สุจริต 68-237 วรรค และให้เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งกก.บห.ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างกระทำความผิดเป็นเวลา 5 ปี มาตรา 68 วรรค 4 237 วรรค 2
พรรคมัชฌิมาธิปไตย
สำหรับพรรคมัชฌิมาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในคดียุบพรรคที่ นายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรค และ กรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า ให้ยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย เนื่องจากนายสุนทร กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ
โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ประกอบ มาตรา 237 วรรค 2 และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย และกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งรักษาการอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในขณะที่กระทำความผิดเป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 4 ประกอบมาตรา 237 วรรค 2
พรรคชาติไทย
สำหรับพรรคชาตไทย ศาลรัฐธรรมนูญมีประเด็นวินิจฉัยอยู่ 3 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 นายมณเทียร สงฆ์ประชา รองเลขาธิการพรรค กระทำความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.สและส.ว.หรือไม่
ประเด็นที่ 2 เป็นเหตุให้สมควรให้ยุบพรรคการเมืองที่ถูกร้องหรือไม่
ประเด็นที่ 3 หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรค ต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่
จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8:1 วินิจฉัยให้ยุบพรรคชาติไทย และลงมติ 8:1 ตัดสิทธิ์ทางการเมืองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค
อ่านรายชื่อพรรคชาติไทย ถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี คลิกเลยค่ะ
สำหรับ รมต. ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี มีดังนี้
พรรคพลังประชาชน
1. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ และรมว.กลาโหม
2. นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์
3. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ต่างประเทศ
4. นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รมต.สำนักนายกฯ
5. นายศรีเมือง เจริญศิริ รมว.ศึกษาฯ
6. นายธีระชัย แสนแก้ว รมช.เกษตรฯ
พรรคมัชฌิมาธิปไตย
1. นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ทรัพยากรฯ
2. นายบรรยิน ตั้งภากรณ์ รมช.พาณิชย์
พรรคชาติไทย
1. นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.เกษตรฯ
2. นายวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ รมว.ท่องเที่ยว
3. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมช.คมนาคม
4. นายสมพัฒน์ แก้วพิจิตร รมช.เกษตรฯ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก