สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
วันนี้ (3 ธันวาคม) การประชุมคณะรัฐมนตรีรักษาการ ที่สำนักงานกองปลัด จังหวัดนนทบุรี ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนากยรัฐมนตรี นั่งรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากที่วานนี้ (2 ธันวาคม) คณะตุลาศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติยุบ 3 พรรคการเมือง และตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี ส่งผลให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่ง รวมทั้งรัฐมนตรีที่เป็นกรรมการบริหารทั้ง 3 พรรคการเมือง
นอกจากนี้ ที่ประชุมรักษาการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังแต่งตั้งให้ นายโอฬาร ไชยประวัติ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ปิดสนามบิน 2 แห่ง ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดรักษาการในวันนี้ ได้มีการพิจารณาเพื่อมีมติแต่งตั้ง และแบ่งงานรับผิดชอบในส่วนของรัฐมนตรีที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง รวมถึงจะมีการหารือถึงกรอบการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
ด้านนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ยังมีบุคคลในพรรคพลังประชาชนหลายคนที่เหมาะสม แต่ไม่อยากให้นำเรื่องนี้ไปเชื่อมโยงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ นอกจากจะให้ นายชวรัตน์ เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี แล้ว ยังให้ดูแลกระทรวงการต่างประเทศด้วย
- พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- นายโอฬาร ไชยประวัติ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ดูแลกระทรวงพาณิชย์
- นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ดูแลกระทรวงศึกษาธิการ
- พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ดูแลกระทรวงกลาโหม
ขณะที่ นายชวรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลรักษาการจะอยู่ให้กำลังใจและดูแลความเรียบร้อยของประเทศ จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งส่วนตัวยังไม่ตัดสินใจเลือกสถานที่ทำงาน ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงบประมาณ และท่าอากาศยานดอนเมือง หากพันธมิตรฯ เลิกชุมนุมแล้ว
ประวัติ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เกิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2479 ปัจจุบันอายุ 72 ปี สมรสกับ นางทัศนีย์ ชาญวีรกุล มีบุตร 3 คน คือ นายอนุทิน ชาญวีรกุล, นายมาศถวิน ชาญวีรกุล, นางสาวอนิลรัตน์ ชาญวีรกุล จบการศึกษาปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อด้วยปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอณาจักร ภาครัฐร่วมเอกชน และได้ร่วมอบรมหลักสูตร Chairman 2000 รุ่นที่ 3/2001 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) อีกทั้งอบรมหลักสูตร Directors Accreditation Program (DAP) รุ่นที่ 17/2004 สมาคมส่งเสริมกรรมการบริษัทไทย (IOD)
เติบโตมาในสายธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เมื่อปี 2510 สมัยที่อายุได้ 31 ปี ได้ก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างเล็กๆ ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาทขึ้น ใช้ชื่อว่า บริษัท ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ก่อนจะขยายอาณาจักรรับงานระดับ "เมกะโปรเจ็คต์" ของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย งานใหญ่ที่สร้างชื่อ เช่น งานก่อสร้างโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ 12,260 ล้านบาท, ก่อสร้างโรงไฟฟ้าราชบุรี วงเงิน 4,325 ล้านบาท, งานโรงงานไฟฟ้าแก่งคอย 2,534 ล้านบาท, การก่อสร้างโรงงานไฟฟ้ากรุงเทพใต้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2,360 ล้านบาท
สำหรับทางเดินบนถนนการเมืองนั้น นายชวรัตน์ มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองมานานแล้ว พร้อมกันนี้ยังเคยผลักดันให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล บุตรชายเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ผลสำเร็จอีกด้วย ขณะที่ในปี 2539 นายชวรัตน์ เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ตามโควต้าของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก่อนจะยึดเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตามโควต้าของลูกชาย นายอนุทิน ผู้ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
ประวัติการทำงาน
- พ.ศ. 2537 2538 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยที่ 1
- พ.ศ. 2539 2540 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยที่ 2
- พ.ศ. 2551 รองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- พ.ศ. 2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา
- ที่ปรึกษาประธานวุฒิสภา
- ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
- ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
- กรรมการ ธนาคารกรุงไทย จำกัดมหาชน
- กรรมการบริษัท ยูไนเต็ดมอเตอร์เวิคส์ สยาม จำกัด (มหาชน)
- กรรมการบริษัท ฟินิกซ พัลพ์ แอนด์เพเพอร์ จำกัด (มหาชน)
- กรรมการบริษัท ซันพาราเทค จำกัด
- กรรมการบริษัท อุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด (มหาชน)
- กรรมการบริษัท ไทยอินดัสเตรียล แก๊ส จำกัด (มหาชน)
- กรรมการบริษัท ดีเอชแอล (ประเทศไทย) จำกัด
- กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ประเทศปาปัวนิวกินี ประจำประเทศไทย
- รองประธานคณะอนุกรรมการสรรหาบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- ที่ปรึกษาคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- กรรมการที่ปรึกษาสมาคมเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คณะกรรมการกิตติมศักดิ์ไทยคันทรีคลับ
- สมาชิกสมาคมศิษย์เก่าอัสสัมชัญ
- สมาชิกราชกรีฑาสโมสร
- ประธานกรรมการ South East Asia Iron and Steel Institute (SEAISI)
- ประธานกรรมการ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย
- ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ
- รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ดูแลธุรกิจต่างประเทศ)
- ประธานคณะทำงานให้ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมในกลุ่มประเทศภาคีเอเซียน
- ประธานอนุกรรมการการศึกษาเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียน (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย)
- อุปนายกสมาคมเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย
- สมาชิกหอการค้าไทย
- นายกยุวสมาคมแห่งประเทศไทย สาขาป้อมปราบฯ
- กรรมการสมาคมก่อสร้างไทย
- ประธานองค์การนักธุรกิจหนุ่ม สาขาประเทศไทย (YPO) สมาชิกองค์การนักธุรกิจหนุ่มสากล (YPO)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2524 เบญจมาภรณ์ช้างเผือก
- พ.ศ. 2533 ORDRE DELA COURONNE-ROYAUME DE BELGIQUE
- พ.ศ. 2534 มงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตราภรณ์
- พ.ศ. 2535 ช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตราภรณ์
- พ.ศ. 2538 มงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์
- พ.ศ. 2539 ประถมาภรณ์ช้างเผือก
- พ.ศ. 2540 มหาวชิรมงกุฎ ม.ว.ม.
- พ.ศ. 2547 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
- พ.ศ. 2550 Member of the Most Excellent Order of the British Empire (MBE)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
และ thaigov.go.th