เผยคนไทยฮิตตั้งชื่อแปลกยาว-ไร้ความหมาย "ว.วชิรเมธี" ชี้หวังโดดเด่น "ด้านนายตายนานแล้ว" อ้างไม่ซ้ำใคร (มติชนออนไลน์)
"นายตายนานแล้ว ลืมจำไม่ได้" อ้างชื่อไม่ซ้ำใคร "ว.วชิรเมธี" ชี้คนตั้งชื่อแปลกเพราะหลงตัวเอง ให้ความสำคัญกับหน้าตามากกว่าคุณค่าของชีวิต ทำทุกทางที่จะโดดเด่นแม้กระทั่งตั้งชื่อ "ราชบัณฑิต" เผยหลักการตั้งชื่อคนไทยเปลี่ยน เดิมใช้ตำรา "ทักษาปกรณ์" ปัจจุบันนิยมชื่อแปลก ยาว อ่านยาก ห่วงตั้งชื่อเล่นเด็กฮิตใช้ภาษาอังกฤษ เกาหลี
กรณีกระแสที่คนไทยนิยมตั้งชื่อและนามสกุลให้ดูแปลก บางชื่อยาวแต่ไม่มีความหมาย บางชื่อไม่ได้คำนึงหลักภาษาไทยและอ่านยากนั้น ทางนางกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตและนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย กล่าวเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ถึงหลักการตั้งชื่อว่า หลักการตั้งชื่อจะใช้ตำรา "ทักษาปกรณ์" โดยกำหนดคุณค่าของตัวอักษรตามวันเกิด เช่น อักษรจะต้องมี เดช ศรี และมนตรี หลีกเลี่ยงตัวอักษรกาลกิณี แต่ปัจจุบันหลักการตั้งชื่อเปลี่ยนไปอย่างมาก ส่วนใหญ่ตั้งชื่อโดยเน้นความแปลก ยาว รูปร่างแปลกๆ อ่านยาก ไม่มีความหมาย ที่สำคัญใช้ตัวอักษรที่ไม่ค่อยมีใครนิยมใช้มาเป็นตัวสะกดและประกอบการตั้งชื่อ เช่น ตัว ฏ, ฆ, ษ, ฑ, ฐ, ฌ, ฝ, ฬ เป็นต้น ทุกวันนี้กระแสการตั้งชื่อแปลก สะกดยาก อ่านออกเสียงลำบากกำลังเป็นสิ่งที่นิยม ทำให้พบปัญหาอย่างมากเวลาอ่านชื่อออกเสียงและเขียนชื่อเด็กรุ่นใหม่
"ปัจจุบันเป็นห่วงเรื่องตั้งชื่อเล่นของเด็กรุ่นใหม่ ที่นิยมตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาเกาหลี โดยหาคนชื่อเป็นภาษาไทยยากมาก ซึ่งน่าเสียดายหากเด็กไทยมีชื่อเป็นภาษาต่างประเทศกันทั้งหมด ทั้งๆ ที่ชื่อแบบไทยมีจำนวนมากที่ไพเราะ ดิฉันมองว่าการตั้งชื่อเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น แม้ชื่อจะดี แปลก หรือยาวแค่ไหน ไม่ได้หมายความจะทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตโดยที่เราไม่ต้องลงมือทำ ทุกอย่างอยู่ที่การกระทำมากกว่า" นางกาญจนา กล่าว
ด้าน พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย กล่าวว่า การตั้งชื่อ - นามสกุล ให้เป็นมงคลกับชีวิตในทรรศนะของพระพุทธศาสนา อันดับแรกถูกต้องตามหลักภาษาไทย มีความหมายในทางที่ดี และเป็นชื่อไม่พ้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และต้องเข้าใจว่าการตั้งชื่อเป็นเพียงสมมติบัญญัติที่มนุษย์ตั้งขึ้นมาใช้เรียก ไม่มีอิทธิพลที่จะให้ใครได้ดีเพราะชื่อดี หรือย่ำแย่เพราะชื่อไม่เพราะ ทุกวันนี้คนไทยมีค่านิยมแบบผิดๆ เชื่อว่าหากชื่อเพราะ ชื่อแปลกทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่จริงแล้วไม่ใช่ ชีวิตจะดีหรือชั่วอยู่ที่กรรม ชื่อและนามสกุลไม่มีผล ที่สำคัญการตั้งชื่อของคนไทยเปลี่ยนไปมาก ในอดีตตั้งชื่อเพื่อใช้เรียกขาน แต่ปัจจุบันคำนึงถึงความเท่ ความแปลกประหลาดไม่เหมือนใคร พยายามไม่ซ้ำใคร ที่สำคัญจะเน้นภาษาต่างประเทศ จนหาคนชื่อแบบไทยแท้ได้ยากมาก และสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยนิยมตั้งชื่อแบบแปลกไว้ก่อน โดยไม่สนใจว่าจะมีความหมายหรือไม่
"การตั้งชื่อแปลกๆ เพราะคนหลงตัวเองมากขึ้น ให้ความสำคัญกับหน้าตามากกว่าคุณค่าของชีวิต จึงทำทุกทางที่จะทำให้ตัวเองโดดเด่นแม้กระทั่งตั้งชื่อ ที่ผ่านมามีคนไม่ต่ำกว่า 450 คน มาปรึกษาในการตั้งชื่อ - นามสกุลกับอาตมา โดยเฉพาะแปลความหมายของชื่อ เนื่องจากไปตั้งมาจากหมอดูแล้วไม่ทราบความหมาย จึงต้องการให้อาตมาเปลี่ยนชื่อให้ เช่น นักศึกษารายหนึ่งตั้งชื่อว่า "วัญฎา" แต่ไม่ทราบความหมายพอแปลว่า "หญิงผู้เป็นหมัน" นักศึกษาคนดังกล่าวบอกว่า ไม่เอาชื่อนี้ขอเปลี่ยน รวมทั้งผู้หญิงรายหนึ่งตั้งชื่อว่า "ชามาตุ" (อ่านว่า ชา-มาต) แต่พอกลับมาบ้านสามีอ่านพร้อมกับผวนคำ จึงเกิดทะเลาะกัน ในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนชื่อใหม่ให้" พระมหาวุฒิชัยกล่าว และว่า อีกรายตั้งชื่อลูกว่า "ธันวาวิน" โดยให้เหตุผลว่าลูกเกิดเดือนธันวาคม นำไปผสมกับภาษาอังกฤษคำว่าวิน คือชัยชนะ ปรากฏว่านายทะเบียนไม่อนุญาต เพราะไม่มีความหมาย จึงต้องเปลี่ยนใหม่ เป็นต้น
ด้าน นายตายนานแล้ว ลืมจำไม่ได้ อายุ 71 ปี อยู่หมู่ที่ 11 ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.จันทบุรี ให้เหตุผลที่ตั้งชื่อแปลกว่า บ้านเดิมอยู่ อ.ขลุง จ.จันทบุรี ย้ายครอบครัวไปทำสวนเกษตรที่ อ.สวี จ.ชุมพร ปรากฏว่า ในปี 2539 กลุ่มผู้มีสี และผู้ใหญ่บ้าน เข้ามาขับไล่ให้ออกจากที่ดิน จึงไปร้องเรียนนายอำเภอ เข้าแจ้งความตำรวจดำเนินคดีกับกลุ่มผู้มีสีในข้อหาบุกรุก ใช้อาวุธขู่ทำร้ายร่างกาย รื้อบ้านทำลายทรัพย์ จากนั้นตนก็กลับมาอยู่ที่ จ.จันทบุรี พร้อมกับไปแจ้งเปลี่ยนชื่อนามสกุลกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.ขลุง
"เจ้าหน้าที่ให้ตั้งชื่อนามสกุลเพื่อไม่ให้ซ้ำคนอื่น จึงเขียนชื่อตัว และชื่อนามสกุลไป 3 ชุด คือ 1. ชื่อนายตายนานแล้ว นามสกุล ลืมจำไม่ได้ 2. ชื่อนายผมไม่รู้ นามสกุล คุณจำไม่ได้ และ 3. ชื่อนายสุรา นามสกุล เช้าแบนเย็นกลม ต่อมานายพจน์ รักความสุข นายอำเภอขลุง แจ้งว่า การตั้งชื่อดังกล่าวไม่ขัดต่อระเบียบราชการ จึงเปลี่ยนจากชื่อเดิมว่า นายฉลอม แดงละอุ่น เป็นนายตายนานแล้ว นามสกุลว่า ลืมจำไม่ได้ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549" นายตายนานแล้ว กล่าว
นายตายนานแล้ว กล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์ถูกกลุ่มผู้มีสีและผู้ใหญ่บ้านขับไล่ออกจากที่ดินที่ จ.ชุมพร ยังร้องขอความเป็นธรรมอยู่ โดยเมื่อปี 2550 - 2551 ไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.ชุมพร และร้องเรียนไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อมา พล.ต.ต.อุดม ชัยมงคลรัตน์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 แจ้งมาว่า คดีรื้อถอนบ้านพัก ข่มขู่เอาชีวิต อัยการจังหวัดชุมพรมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ให้เหตุผลว่า ที่ดินที่ครอบครองทำประโยชน์ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่ารับร่อ-ป่าสลุย
"แต่ผมยืนยันว่าที่ดิน 200 ไร่ ปัจจุบันยังมีผู้ครอบครองทำประโยชน์ เพราะพื้นที่อยู่นอกเขตป่ารับร่อป่าสลุย มีป้ายและหลักเขตป่าสงวนแบ่งแยกไว้ชัดเจน และพื้นที่รอบด้านที่มีเอกสารสิทธิแล้ว จึงยื่นขอถวายฎีกาไปยังสำนักพระราชวังเพื่อขอความเป็นธรรม" นายตายนานแล้วกล่าว