x close

5 มีนาคม วันนักข่าว


             วันนักข่าว ตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ซึ่งถือกำเนิดมาจากวันที่นักข่าวรุ่นบุกเบิกหลายท่านได้ร่วมชุมนุมกันก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยขึ้นมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 สำหรับประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับวันนักข่าวเป็นอย่างไร เรามีข้อมูลมาฝาก

วันนักข่าว

            
 ก่อนหน้านั้นหนังสือพิมพ์ทั้งหลายต่างให้ความสำคัญกับวันนักข่าวกันเป็นอย่างดี ซึ่งถือว่าเป็นวันหยุดการทำงานของบรรดากระจอกข่าวทั้งหลาย และเป็นที่ทราบกันดีว่า วันที่ 6 มีนาคม ของทุกปี จะไม่มีหนังสือพิมพ์ออกมาขาย ต่อมาเมื่อความต้องการในข่าวสารมีมากขึ้น นักข่าวทั้งหลายจึงมีการแอบออกหนังสือพิมพ์มาขายในวันที่ 6 มีนาคม ทำให้หนังสือพิมพ์อื่นจำใจต้องเลิกประเพณีนี้ไป

             เมื่อวันที่ 5 มีนาคม เป็นวันหยุดของนักข่าว สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย จึงกำหนดให้วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้จัดเฉลิมฉลองกันได้อย่างเต็มที่ในการจัดงานประชุมใหญ่และงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปี แต่เดิมได้จัดที่บริเวณถนนราชดำเนิน ซึ่งบรรดาเหยื่อข่าวได้มาพบปะสังสรรค์กันที่ริมทางเท้าถนนราชดำเนิน

วันนักข่าว

            ต่อมาเมื่อจำนวนสมาชิกของสมาคมเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับถนนราชดำเนินเป็นถนนสายหลักที่มีผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก สถานที่ของสมาคมจึงคับแคบ และการจัดงานของสมาคมยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่บุคคลที่สัญจรไป-มา การจัดการประชุมใหญ่ประจำปีของสมาคมจึงต้องย้ายสถานที่ไปตามโรงแรมต่าง ๆ ต่อมาสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยรวมเข้ากับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลายเป็น "สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2542 และกำหนดให้วันที่ 4 มีนาคม เป็นวันประชุมใหญ่ประจำปีของสมาคม

            คณะกรรมการบริหารงานของสมาคมใช้เวลาในการปรับปรุงอาคารที่ทำการเดิมของสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเป็นเวลา 2 ปี จึงลงมือก่อสร้างและปรับปรุงให้เสร็จสมบูรณ์ไปเมื่อปลายปี 2545 อาคารแห่งนี้นอกจากจะเป็นที่ทำการของสมาคม ยังเป็นที่ทำการขององค์กรด้านวิชาชีพสื่อมวลชนตั้งแต่ระดับชาติไปจนถึงระดับภูมิภาค เช่น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เครือข่ายสนับสนุนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และเครือข่ายสนับสนุนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียอาคเนย์ เป็นต้น เรียกว่าเป็นศูนย์รวมขององค์กรด้านวิชาชีพสื่อสารมวลชนไทย

            ปัจจุบันข่าวสารข้อมูลกำลังกลายมาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต แต่ความจำเป็นดังกล่าวไม่ใช่เพียงเนื้อหาของข่าวเท่านั้น คนหนังสือพิมพ์ หรือนักข่าว ก็มีความสำคัญในฐานะคนกลางที่ทำหน้าที่ส่งผ่านข่าวสารที่เป็นข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนไปยังผู้อ่านด้วยเช่นกัน จึงเปรียบเทียบได้กับกระจกที่สะท้อนสังคมในทุก ๆ ด้าน ไม่เฉพาะเจาะจงเพียงด้านเดียวในแวดวงหนังสือพิมพ์ มีผู้เรียกนักหนังสือพิมพ์หรือนักข่าวว่า "ฐานันดรที่ 4" ความหมายโดยนัยแล้วคือ ผู้ที่มีสถานะแตกต่างจากบุคคลธรรมดาทั่วไป หรือผู้ที่มีอภิสิทธิ์ในการขีดเขียนเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านสื่อมวลชน

วันนักข่าว

            บุคคลบางกลุ่มให้ความเห็นว่าไม่ควรให้ความสำคัญ เพราะนักข่าวควรเป็นบุคคลที่อ่อนน้อมถ่อมตน สมถะ ก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ของตนเพื่อประชาชน เพื่อชุมชน และเพื่อประเทศชาติ โดยไม่มีการเรียกร้องอะไร ถ้ายังมี "วันนักข่าว" ก็แปลว่าเรายกตนเหนือคนอื่นถึงขนาดประกาศให้มีวันพิเศษขึ้นมาโดยเฉพาะ และในอดีตได้เคยกำหนดให้เป็นวันหยุดด้วย เป็นการให้ความสำคัญจนเกินเหตุ

            แต่บุคคลอีกกลุ่มกลับให้ความเห็นที่ต่างไปว่า เหตุที่ให้มีวันนักข่าวและเน้นให้เห็นความสำคัญของวันนี้ ไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อตัวนักข่าวเท่านั้น สิ่งที่ต้องการคือย้ำให้ทุกฝ่ายตระหนักว่า นักข่าวหรือนักหนังสือพิมพ์นั้นคือผู้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแทนประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เป็นผู้ใช้ปากและใช้หน้ากระดาษแสดงความคิดเห็นแทนประชาชน

            ทั้งนี้ วันนักข่าวค่อย ๆ แปรโฉมไปสู่ความมีสาระมากขึ้น โดยเฉพาะที่ได้กำหนดให้เป็นวันหยุดของนักข่าวก็ได้ถูกล้มเลิกไป ปัจจุบัน "วันนักข่าว" เป็นวันที่ทำงานตามปกติของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ มิใช่วันหยุดพักผ่อนอย่างเช่นแต่เดิมที่ผ่านมา

            ส่วนกิจกรรมที่ทำอยู่แล้วโดยเฉพาะการประกาศยกย่องหนังสือพิมพ์ หรือนักข่าว ช่างภาพ ที่มีผลงานดีเยี่ยมสมควรได้รับรางวัล "อิศรา อมันตกุล" ก็ยังคงมีต่อไป กิจกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่รุ่นพี่นักข่าวผู้ล่วงลับไปก็ยังคงมีอยู่เหมือนแต่เดิมที่ได้จัดทำกันมา

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 มีนาคม วันนักข่าว อัปเดตล่าสุด 5 มีนาคม 2567 เวลา 14:07:00 55,084 อ่าน
TOP