เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก wat76.diaryclub.com
หลังจากที่แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง อย่าง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายวีระ มุสิกพงษ์, นายแพทย์เหวง โตรจิราการ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย, นายขวัญชัย ไพรพนา, นายนิสิต สินธุไพร, นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก ฯลฯ ตัดสินใจยุติการชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์ และเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำตัว แกนนำเสื้อแดง ทั้ง 8 คน รวมถึงแนวร่วม นปช.คนอื่น ๆ ที่โดนจับกุมไปควบคุมตัวที่ค่ายนเรศวร จังหวัดเพชรบุรี เนื่องจากเป็นการดำเนินการตามข้อกฎหมายตามอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องควบคุมไว้ในสถานที่ ๆ กำหนด ซึ่งไม่ใช่เรือนจำสถานีตำรวจ หรือทัณฑสถาน เพราะไม่ใช่การควบคุมผู้ต้องหาในคดีอาญา ทำให้ช่วงนี้หลายคนคงได้ยินชื่อของ ตำรวจ นเรศวร 261 (สังกัด ตชด. ตำรวจพลร่ม) บ่อยครั้ง พร้อมกับอยากรู้ว่าพวกเค้าเป็นใคร วันนี้กระปุกดอทคอมจะบุก ค่ายนเรศวร พาไปทำความรู้จัก ตำรวจ นเรศวร 261 สังกัด ตชด. ตำรวจพลร่ม กันค่ะ...
นเรศวร 261 เป็นหน่วยตำรวจที่มีขีดความสามารถในการยุทธ์เคลื่อนที่ทางอากาศ การยุทธส่งทางอากาศ การรบพิเศษ และการปฏิบัติการพิเศษ เพื่อตอบโต้ต่อภัยคุกคามที่เป็นทหาร และไม่ใช่ทหาร ในการสงครามพิเศษ และการแก้ไขปัญหา การก่อความไม่สงบ, การก่อการร้าย ทุกรูปแบบ ด้วยการปฏิบัติการปกปิด รับผิดชอบการปฏิบัติการทั่วประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2526 เป็นหน่วยระดับกองกำกับการ (ผกก.) มีผู้กำกับการเป็นหัวหน้าหน่วยราชการ สังกัด กองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
การก่อตั้งหน่วย
ในช่วงทศวรรษที่ 70 โลกต้องเผชิญภัยคุกคามที่น่าหวาดกลัว อันเนื่องมาจากการจับยึดตัวประกัน การก่อวินาศกรรม และการลอบสังหาร โดยกลุ่มที่อ้างตัวผู้ก่อการร้าย ตามแบบสงครามอสมมาตร ทำให้หลายประเทศตระหนักถึงความร้ายแรง และความน่ากลัวที่จะเกิดขึ้น จนทำให้หลายประเทศต่างตกลงกันที่จะแบ่งแยกความแตกต่างของอาชญากรรม และการก่อการร้าย เพื่อให้รัฐภาคีใช้วิธีทางกฎหมายเพื่อระงับยับยั้งและจับกุม
สำหรับประเทศไทยขณะนั้น ยังไม่ได้ตระหนักถึงภัยคุกคามนี้อย่างเด่นชัด จนกระทั่งเหตุการณ์สำคัญ เมื่อ พ.ศ. 2524 ได้มีการปล้นยืดอากาศยาน ของสายการบิน การูด้า ของประเทศอินโดนิเซีย มาลง ณ ท่าอากาศยานดอมเมือง กรุงเทพฯ แต่มีการใช้กำลังในท้ายที่สุดเพื่อยุติเหตุการณ์ โดยการปฏิบัติของกองทัพอากาศร่วมกองทัพอินโดนีเซีย ทำให้รัฐบาลไทยขณะนั้น ตระหนักโดยทันทีว่าภัยคุกคามนี้ได้มาถึงแล้ว จึงได้สั่งการให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสากลขึ้น และได้มีการกำหนดลักษณะสำคัญของการก่อการร้ายสากล ตลอดจนแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ในขั้นเตรียมการ ปฏิบัติการ ฯลฯ ทั้งนี้ ตามคำสั่งลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2526 ได้สั่งการให้กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และตำรวจ ได้ดำเนินการคัดสรรบุคลากรที่มีความสามารถ เพื่อประกอบกำลังในการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายดังกล่าวด้วย
กรมตำรวจ จึงได้พิจารณาหน่วยงานที่มีขีดความสามารถสูง และมีอาวุธยุทโธปรณ์มีเพียงพอ จึงได้พิจารณาสั่งการให้ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน รวบรวมข้าราชการตำรวจที่สมัครใจเข้ารับการฝึกฝนเพื่อเป็นบุคลากรของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ที่จะตั้งขึ้นนี้ โดยอาศัยครูฝึกของ กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นหลักในการดำเนินการฝึก และเริ่มการฝึกโดยใช้พื้นที่ของ กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ (ค่ายนเรศวร) อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และเริ่มการฝึกครั้งแรกใน เมื่อ 19 กันยายน 2526 จนได้รับคำสั่งอนุมัติให้จัดตั้งหน่วยใน วันที่ 18 ธันวาคม 2527 เป็นหน่วยงานพิเศษในสังกัดกองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน
ต่อมาปลายปี 2529 ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 14 หน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261 ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนราชการระดับ กองร้อย ในอัตราการจัดของกองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน คือ กองร้อยที่ 4 กก.สอ.ตชด. ในปัจจุบัน
ความหมายของ นเรศวร 261
คณะที่ดำเนินการฝึก คณะครูฝึกได้พิจารณาชื่อเรียกหน่วยที่เหมาะสม ซึ่งพิจารณาจากความหมายที่เป็นมงคลแก่หน่วย เป็นที่เคารพยึดมั่นของ "เหล่านักรบแห่งค่ายนเรศวร" ประกอบกับเป็นพระนามของกษัตริย์นักรบ "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" และยังเป็นามค่ายซึ่งได้รับ พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงให้ชื่อหน่วยปฏิบัติการพิเศษนี้ว่า "นเรศวร"
ส่วนเลข "261" มีที่มาจาก ปีที่ได้รับเริ่มการฝึก พ.ศ. 2526 และ เลข 1 มาจากรุ่นที่ทำการฝึก คือ รุ่นที่ 1 นั้นเอง แต่ในเวลาต่อมา หลังจากที่มีการฝึกได้แล้วหลายรุ่นก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงชื่อหน่วยไปเป็นอย่างอื่น เพราะเลขดังกล่าว ยังประกอบกับได้เลข 9 ซึ่งถือเป็นเลขมงคล จึงใช้สืบต่อมาจนปัจจุบัน
ภารกิจและการจัดหน่วย
กองร้อยปฏิบัติการพิเศษ นเรศวร 261 มีภารกิจปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากลและการก่อการร้ายในเมืองทุกรูปแบบ นอกจากนั้น ยังมีภารกิจการถวายความปลอดภัยแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อเสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักต่าง ๆ ทั่วประเทศ รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ และสถานที่สำคัญซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
กองร้อยที่ 4 กก.สอ.ตชด. ประกอบด้วยที่บังคับการกองร้อย หมวดโจมตี หมวดลาดตระเวนซุ่มยิง หมวดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด หมวดการฝึก และหมวดสนันสนุน
การฝึก
การฝึกในครั้งแรกไม่มีรูปแบบที่แน่นอน โดยได้รับการสนับสนุนครูฝึกจากตำรวจ และยึดรูปแบบการปฏิบัติการเป็นทีม 5 คน เหมือนหน่วยปฏิบัติการพิเศษ GSG 9 ของประเทศเยอรมนี มีการฝึกการยิงปืนทางยุทธวิธี การฝึกพลแม่นปืน การปฏิบัติการทางน้ำ การต่อสู้ป้องกันตัว การขับขี่ยานพาหนะในรูปแบบต่าง ๆ เมื่อการฝึกรุ่นแรกสำเร็จ ก็มีการถ่ายทอดให้กับกำลังพลที่เข้าประจำการในกองร้อยปฏิบัติการพิเศษเรื่อยมา อีกทั้งมีการจัดส่งกำลังพลไปฝึกในหลักสูตรต่าง ๆ ของต่างประเทศและนำวิชาความรู้กลับมาถ่ายทอดให้กับกำลังพลที่อยู่ในหน่วย โดยจะทำการฝึกกันเองถ่ายทอดกันต่อ ๆ มา และได้มีการจัดแบ่งหลักสูตร ออกเป็น 5 หลักสูตร คือ...
หลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้ายสากล 24 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุใหม่
หลักสูตรทบทวนการต่อต้านการก่อการร้ายสากล 6 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่ประจำการอยู่ในหน่วย และฝึกทดสอบแผนปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย 1 สัปดาห์
หลักสูตรการทำลายระเบิด 12 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง "พลเก็บกู้ทำลายระเบิด"
หลักสูตรพลแม่นปืน 4 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง "พลซุ่มยิง"
หลักสูตรผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิคส์ 12 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง "ผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิคส์"
นอกจากนี้ ยังมีการฝึกร่วมกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษของเหล่าทัพ ในการเตรียมความพร้อมการต่อต้านการก่อการร้ายสากล และการฝึกร่วมกับมิตรประเทศทั้ง ประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเยอรมนี
การสั่งใช้กำลัง
เฉพาะคำสั่งโดยตรงของ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในการสั่งใช้กำลัง
ผลการปฏิบัติที่สำคัญ
กรณีเหตุการณ์จับยึดตัวประกันในสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย เมื่อ 1-2 ตุลาคม 2542
กรณีเหตุการณ์จับยึดตัวประกันในโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี เมื่อ 24-25 มกราคม 2543
กรณีนักโทษพม่าจับผู้บัญชาการเรือนจำ และเจ้าหน้าที่ ของจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อ 22-23 พฤศจิกายน 2543
และนี่คือที่ไปที่มาของ...ตำรวจ นเรศวร 261 สังกัด ตชด. ตำรวจพลร่ม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก