Thailand Web Stat

ค้านสร้างโรงแรมสูง ทำลายมรดก วัดยานนาวา

 พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ วัดยานนาวา
 พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ วัดยานนาวา


โวยผุดโรงแรมสูง ทำลายมรดก! (ไทยโพสต์)

          นักวิชาการค้านสร้างโรงแรมในเขตธรณีสงฆ์วัดยานนาวา ข่มโบราณสถานทั้งพระเจดีย์รูปเรือสำเภาและพระอุโบสถ ชี้ทำลายคุณค่าผลงานสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 บดบังภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม แต่สร้างสิ่งแปลกปลอมริมแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมเคลื่อนไหวต่อต้านหลังบริษัทผู้รับเหมาเปลี่ยนแบบก่อสร้างจากอาคารพาณิชย์ 4 ชั้นเป็นโรงแรมหรูสูง 26 และ 32 ชั้น

          วัดยานนาวา พระอารามหลวงริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในเรื่องการค้าเรือสำเภาและการตั้งถิ่นฐานชุมชนของชาวจีนในประเทศไทย โดยมีสัญลักษณ์อันโดดเด่นคือ พระเจดีย์รูปเรือสำเภาขนาดใหญ่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่คนรุ่นหลังได้เห็นรูปแบบเรือสำเภาและประวัติการเจริญสัมพันธไมตรีของการค้าขายระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ

          ปัจจุบันเรือสำเภาพระเจดีย์ นับเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าความเป็นผลงานทางสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีเพียงแห่งเดียวในโลก แต่คุณค่าดังกล่าวอาจจะถูกทำลายเมื่อทางวัดยานนาวามีโครงการพัฒนาพื้นที่วัดทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมเฝ้าจับตาตรวจสอบโครงการอย่างต่อเนื่อง

          ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนางปองขวัญ (สุวัฒนา) ลาซูส ประธานกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้วัดยานนาวามีโครงการก่อสร้างโรงแรมหรูในเขตธรณีสงฆ์ หลังจากทางวัดยานนาวาได้รื้อทุบอาคารเก่าของชุมชนหวั่งหลีที่อยู่ติดวัดออกไปหมดเมื่อปี 2550 เพื่อนำพื้นที่ไปสร้างเป็นอาคารพาณิชย์สูง 4 ชั้น อ้างว่าจะให้ชาวบ้านเช่าพักอาศัย แต่เมื่อเร็วๆ นี้กลับมีการเปลี่ยนแปลงแบบอาคารเป็นโรงแรมหรือคอนโดมิเนียมจำนวน 2 หลัง มีความสูง 26 และ 32 ชั้น ซึ่งโครงการนี้จะกระทบต่อภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมของพื้นที่โดยรอบวัด เพราะความสูงของโรงแรมจะข่มหรือบดบังความสง่างามความศักดิ์สิทธิ์ของเรือสำเภาพระเจดีย์ พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 3 และพระอุโบสถ ซึ่งถือเป็นศิลปกรรมชั้นเอกของกรุงรัตนโกสินทร์

          "กรณีพิพาทระหว่างชุมชุมหวั่งหลีกับวัดยานนาวา เป็นตัวอย่างของการไล่รื้อชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ย่านการค้าของชาวจีน ตัวอาคารเก่าที่ทุบทิ้งหมดแล้วนั้นก็ถือเป็นมรดกสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เพื่อศึกษา แต่ก็ไม่สามารถต้านทานกระแสทุนนิยมได้ หน่วยงานที่ดูแลโดยตรงทั้งกรมศิลปากรและ กทม. ไม่เหลียวแล" นางปองขวัญกล่าว

          นางปองขวัญ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม อาทิ สมาคมสถาปนิกสยามฯ สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม และสมาคมสถาปนิกชุมชนเมือง ซึ่งมีนักวิชาการทางด้านสถาปัตยกรรมหลายคนพยายามติดตามการพัฒนาพื้นที่วัดยานนาวา จนกระทั่งเมื่อเข้าไปตรวจสอบแบบก่อสร้างอาคารของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินวัดระยะเวลา 30 ปี ก็พบว่าแบบก่อสร้างเป็นโรงแรมสูง ไม่ใช่อาคารพาณิชย์ 4 ชั้นตามที่ไปขออนุญาตกับหน่วยงานรัฐ

          "กำลังจับตาดูว่าสำนักผังเมือง กทม. และกรมศิลปากรจะมีความคิดเห็นอย่างไร และเป็นเรื่องที่ทำอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ โดยจะนำประเด็นนี้ไปพิจารณาในที่ประชุมกรรมาธิการศาสนา จริยธรรมและศิลปวัฒนธรรม วุฒิสภา ซึ่งตนร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย เพื่อเชิญผู้เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวมาชี้แจงและเตรียมเคลื่อนไหวต่อต้านต่อไป"

          นักวิชาการสถาปัตยกรรมรายนี้ยังเน้นย้ำประเด็นของการก่อสร้างโรงแรมหรูมีความสูง 26 และ 32 ชั้น ว่าเป็นการลดทอนคุณค่าความสำคัญของโบราณสถานที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้แล้ว เพราะหากมองจากแม่น้ำเจ้าพระยาจะทำให้เห็นโรงแรมสูงเป็นทัศนะอุจาดขึ้นมาทันที เหมือนมีวัตถุสิ่งแปลกปลอมเข้ามาบดบังมรดกทางสถาปัตยกรรมอันทรงค่าสมัยรัชกาลที่ 3

          "ดิฉันได้เข้าไปพบเจ้าอาวาสวัดยานนาวามาแล้ว ถามท่านว่าสร้างโรงแรมสูงๆ ให้คนไปยืนค้ำหัวพระสงฆ์จะดูเหมาะสมหรือไม่ หลวงพ่อกลับตอบว่าไม่เป็นอะไรเพราะยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้สะท้อนถึงแนวคิดในการบริหารจัดการพื้นที่ธรณีสงฆ์เพื่อการพาณิชย์อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม จะคัดค้านรูปแบบการสร้างอาคารไม่ให้สูงเกินไปเพื่อให้สังคมยอมรับได้และไม่ทำลายศิลปวัฒนธรรมของชาติ" นางปองขวัญ กล่าว

          อนึ่ง ก่อนหน้านี้ได้เกิดข้อพิพาทระหว่างวัดยานนาวากับชุมชนซอยหวั่งหลี ถนนเจริญกรุง 52 ซึ่งเช่าที่ดินวัดมาเป็นเวลานาน แต่ในปี 2547 วัดไม่ต่อสัญญาเช่ากับชุมชน แต่ทำสัญญาเช่ากับบริษัท เจ.เอส.พี.สาทร จำกัด เป็นเวลา 30 ปี ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากวัดในการรื้อถอนอาคารเพื่อปรับพื้นที่สร้างเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น ในช่วงนี้มีเสียงคัดค้านว่าไม่ให้ทุบตึกเก่าแก่ของชุมชน ขณะที่ชาวบ้านไม่ยอมรับและอาศัยอยู่ต่อไป จนกระทั่งศาลมีคำตัดสินให้ชุมชนย้ายภายในวันที่ 4 มกราคม 2550 ขณะนี้ตัวอาคารของชุมชนหวั่งหลีถูกทุบทิ้งหมดแล้ว ล่าสุด บริษัทผู้เช่าพื้นที่วัดรายใหม่ได้เปลี่ยนรูปแบบอาคารเป็นโรงแรมสูง 32 ชั้นดังกล่าว

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ธรรมะไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ค้านสร้างโรงแรมสูง ทำลายมรดก วัดยานนาวา อัปเดตล่าสุด 26 กรกฎาคม 2553 เวลา 14:45:33 14,521 อ่าน
TOP
x close