น้ำท่วมภาคใต้ คลี่คลายแล้ว 8 จังหวัด ตาย 64 ราย

 




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          ปภ. รายงานสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ คลี่คลายแล้ว 8 จังหวัด เหลือ 1 จังหวัดยังประสบปัญหา ขณะยอดผู้เสียชีวิต 64 ราย

          กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่ภาคใต้ ประจำวันที่ 16 เมษายนนี้ (ช่วงเช้า) โดยปัจจุบันจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว อยู่ระหว่างฟื้นฟูจำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพังงา สตูล นราธิวาส ชุมพร สงขลา กระบี่ พัทลุง ตรัง และนครศรีธรรมราช

          ขณะเดียวกัน จังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยทั้งสิ้น 1 จังหวัด 3 อำเภอ 29 ตำบล 187 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 36,396 ครัวเรือน 149,137คน ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายทั้งหลัง 813 หลัง บางส่วน 16,664 หลัง ถนน 6,013 สาย ท่อระบายน้ำ 922 แห่ง ฝาย/ทำนบ 227 แห่ง สะพาน/คอสะพาน 748 แห่ง วัด/โรงเรียน/มัสยิด 694 แห่ง มีผู้เสียชีวิต 64 ราย

ข่าวน้ำท่วม


[15 เมษายน] ระดับน้ำพุนพินยังสูง ชาวบ้านอดเล่นน้ำ

           ผู้บังคับการกองกำกับการตำรวจทางหลวง นำถุงยังชีพ มอบให้ชาวบ้าน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ฯ ที่น้ำท่วมขังมานานกว่า 2 สัปดาห์ ในขณะที่น้ำเริ่มเน่า ส่งกลิ่นเหม็น

          พล.ต.ต. นรบุญ แน่นหนา ผู้บังคับการกองกำกับการตำรวจทางหลวง นำถุงยังชีพและสิ่งของบรรเทาทุกข์ ไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 7 ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี โดยพื้นที่ดังกล่าวยังมีน้ำท่วมขังสูง ประชาชนจำนวนมาก ต้องอาศัยหลับนอนอยู่ในเต็นท์บนถนนนานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว ในขณะเดียวกันระดับน้ำที่ท่วมขัง เริ่มส่งกลิ่นเหม็นเน่า ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย

          ส่วนที่บ้านแหลมทอง ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน ได้จัดพิธีทำบุญเลี้ยงพระ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ที่เต็นท์ที่พักชั่วคราว ริมถนนสายสุราษฎร์ธานี ตะกั่วป่า เนื่องจากน้ำยังท่วมสูงอยู่ ไม่สามารถจัดงานในหมู่บ้านได้ตามปกติ นอกจากนั้นชาวบ้านยังประสบปัญหา และไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติด้วย ส่งผลให้ขาดรายได้ไปเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านมีอาชีพรับจ้างตัดปาล์มน้ำมัน ซึ่งสวนปาล์มน้ำมัน ถูกน้ำท่วมขังสูง ทำให้ไม่สามารถออกไปตัดปาล์มน้ำมันได้

          ทั้งนี้ ศูนย์ปฎิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สรุปสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตรวม 61 ราย โดยสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 8 จังหวัด ยังคงมีปัญหาน้ำท่วมขังอีก 2 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช และ สุราษฎร์ธานี ใน 5 อำเภอ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 67,259 ครัวเรือน ขณะที่การคมนาคมขนส่งทั้งทางหลวงแผ่นดิน รถไฟสายใต้และสนามบิน สามารถเปิดบริการได้เป็นปกติแล้ว

          สำหรับการให้ความช่วยเหลือในส่วนของการก่อสร้างบ้านน็อคดาวน์ ในพื้นที่ จ.กระบี่ ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย สามารถดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวน 18 หลัง จากทั้งหมด 74 หลัง




[14 เม.ย.] น้ำท่วมสุราษฎร์ธานี น้ำในแม่ตาปียังท่วมสูง

          ปภ. รายงาน สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ คลี่คลายแล้ว 8 จังหวัด เหลือ 2 จังหวัด ยังประสบปัญหา ขณะยอดผู้เสียชีวิต คงที่ 61 ราย

          กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ประจำวันที่ 14 เม.ย.นี้ โดยปัจจุบัน จังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว อยู่ระหว่างฟื้นฟู จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพังงา สตูล นราธิวาสชุมพร สงขลา กระบี่ พัทลุง และตรัง

          ปัจจุบัน จังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยทั้งสิ้น 2 จังหวัด 5 อำเภอ 34 ตำบล 237หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 67,259 ครัวเรือน 195,793 คนได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี บ้านเรือนราษฎร ได้รับความเสียหายทั้งหลัง 624 หลัง บางส่วน 6,225 หลัง ถนน 6,013 สาย ท่อระบายน้ำ 922แห่ง ฝาย/ทำนบ 227 แห่ง สะพาน/คอสะพาน 748 แห่ง วัด/โรงเรียน/มัสยิด 694 แห่ง มีผู้เสียชีวิต 61 ราย

           ด้านนายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผย สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า สถานการณ์ล่าสุด ระดับน้ำเริ่มลดลง แต่ยังท่วมขังในหลายพื้นที่ ถนนหลายสายรถเริ่มสัญจรผ่านไปมาได้ ขณะที่เหลือประชาชนประมาณ 100 กว่าครัวเรือน ที่ยังอยู่ในศูนย์อพยพ เนื่องจากยังไม่สามารถกลับเข้าที่พักอาศัยได้

           สำหรับการฟื้นฟูเยียวยาประชาชนนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า ในเรื่องของเส้นทางสัญจรทางจังหวัด ได้แก้ไขเรียบร้อยแล้ว ในเรื่องคุณภาพชีวิตก็สามารถดูแลได้ทั่วถึง แต่ยังมีความกังวลในเรื่องของคุณภาพชีวิตทางด้านครอบครัว เนื่องจากบ้านเรือนประชาชนเสียหายอย่างหนัก ซึ่งค่อนข้างจะทำได้ยาก ดังนั้น จึงมีโครงการช่วยซ่อมบ้านให้ประชาชนขึ้น และกำลังมีความคิดว่า จะต้องมีกองทุนช่วยเหลือ ซึ่งอาจจะมีการจัดระดมเงินช่วยเหลือก็ได้


[7 เม.ย.] น้ำท่วมสุราษฎร์ธานี น้ำในแม่ตาปียังท่วมสูง

          ระดับน้ำในแม่น้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี ยังท่วมสูง ขณะ อ.พุนพิน เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ด้านจังหวัดทหารบก นำกำลังลุยซ่อมแซมบ้านเรือน - ถนนที่เสียหาย ด้านหลายตำบลงดจัดงานสงกรานต์

          สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ที่เขตเทศบาลเมืองท่าข้าม อ.พุนพิน ระดับน้ำลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติเกือบทั้งหมดแล้ว มีเพียงชุมชนที่อยู่ติดริมแม่น้ำตาปี ที่ระดับน้ำยังท่วมสูงอยู่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ด้านจังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี นำกำลังทหารช่างนับ 100 นาย เข้าช่วยชาวบ้านทำความสะอาดบ้านเรือน ถนน และบาทวิถี ที่ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย

          ขณะเดียวกัน แขวงการทางสุราษฎร์ธานี ได้ออกสำรวจเส้นทางและใช้เครื่องจักรกลหนัก ปรับปรุงซ่อมแซมถนนที่สภาพชำรุด และเป็นอันตรายในการเดินทาง ให้สามารถใช้สัญจรไปมาได้แบบชั่วคราวไปก่อน ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม หน่วยงานทางภาครัฐแลเอกชน ยังคงระดมถุงยังชีพเข้าสู่พื้นที่น้ำท่วมอย่างไม่ขาดสาย มีการตั้งจุดซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าฟรี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้วย

          ขณะที่มีรายงานด้วยว่า ปีนี้เทศบาลเมืองท่าข้ามซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากที่สุด ประกาศงดจัดเทศกาลสงกรานต์ เช่นเดียวกับที่เทศบาลตำบลวัดประดู่ อำเภอเมือง และ อบต.คลองน้อยที่ประกาศงดจัดงานสงกรานต์ตามที่วางแผนไว้เช่นกัน เพราะหลายพื้นที่ยังมีน้ำท่วมสูง



[5 เมษายน] น้ำท่วมสุราษฎร์ธานี แม้ฝนหยุด แต่น้ำยังท่วม 

         เส้นทางลงใต้สายเอเชีย พื้นที่ จ.สุราษฏ์ธานี น้ำยังท่วม รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรได้ ขณะที่ตัวเมือง ระดับน้ำเริ่มลด ชาวบ้านที่อพยพ กลับเข้าบ้านแล้ว

         สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันนี้ (5 เมษายน) ระดับน้ำเริ่มลดลงแล้วในหลายพื้นที่ เนื่องจากฝนหยุดติดต่อกันเป็นวันที่ 3 แล้ว โดยมีเขตเทศบาลเมืองท่าขามระดับน้ำลดลงแล้ว อย่างช้า ๆ แต่ยังมีน้ำทะเลหนุนเข้ามาบ้างช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลง ชาวบ้านที่อพยพออกจากบ้านเรือนได้กลับเข้าบ้านทำความสะอาดบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมแล้ว

         ส่วนการสัญจรเข้าออกตัวเมืองสุราษฎร์ธานี คล่องตัวมากขึ้นโดยทางหลวงหมายเลข 417 สุราษฎร์ธานี สนามบินระดับน้ำลดลง แต่ยังคงท่วมสูงประมาณ 30 เซนติเมตร รถระบะและรถขนาดใหญ่สามารถสัญจรไปมาได้สะดวกมากขึ้น และยังมีบางช่วงที่ระดับน้ำเพิ่มสูงผู้ใช้รถใช้ถนนต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินทางเป็นพิเศษ ส่วนเส้นทางลงใต้บนถนนสายเอเชียช่วงสี่แยกกิโลเมตรที่ 18 ยังคงมีน้ำท่วมสูง รถทุกชนิดไม่สามารถเดินทางผ่านไปมาได้ผู้ที่ต้องการเดินทางลงใต้ต้องใช้ทางหลวงหมายเลข 417 สุราษฎร์ธานี สนามบินซึ่งยังคงมีน้ำท่วมอยู่เข้าสู่ตัวเมืองสุราษฎร์และผ่านออกไปทางจังหวัดนครศรีธรรมราชได้  
 

 

น้ำท่วมสุราษฎร์ธานี

แผ่นดินถล่ม

 

[4 เมษายน] น้ำท่วมสุราษฎร์ฯ ยังน่าห่วง การช่วยเหลือล่าช้า


          สุราษฎร์ฯ หลายพื้นที่ยังน่าห่วง การช่วยเหลือประชาชนเข้าไม่ถึง เพราะเส้นทางถูกตัดชาด ด้านการประปานำน้ำไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านแล้ว หลังการประปาสุราษฎร์ฯ ไม่สามารถผลิตน้ำได้

          นายไพศาล ตรีธัญญา นายอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาพอากาศทั่วไป ฝนหยุดตกแล้ว ท้องฟ้ายังมืดครึ้ม ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ ยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะ ต.ลีเล็ด ต.หนองไทย ระดับน้ำท่วมสูง เส้นทางคมนาคมถูกตัดขาดหลายสาย และในบางพื้นที่กระแสน้ำเชี่ยวกราก ทำให้การเดินทางเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องใช้เรือในการสัญจร ซึ่งส่งผลการแจกจ่ายน้ำดื่ม เครื่องอุปโภค - บริโภคแก่ชาวบ้านนั้นเป็นไปอย่างล่าช้าและอาจไม่ทั่วถึง แต่อย่างไรก็ตาม ได้เร่งส่งเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่อย่างต่อเนื่องแล้ว

          ขณะที่การอพยพชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงนั้น ยังคงทำอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากชาวบ้านบางส่วน ยังเป็นห่วงทรัพย์สิน ซึ่งตนได้สั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ ให้จัดเตรียมเรือท้องแบนไว้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านแล้ว หากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะได้สามารถช่วยลูกบ้านได้ทันท่วงที

          ทั้งนี้ ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมสูง ในอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่งผลให้การประปาส่วนภูมิภาค จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่สามารถผลิตน้ำประปาได้ ทำให้ประชาชนในเขตอำเภอเมือง และอำเภอพุนพิน ไม่มีน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค มานานกว่า 5 วันแล้ว ประชาชนโดยทั่วไปหาซื้อน้ำดื่มตามห้างร้านต่าง ๆ จนเริ่มขาดแคลน

          นอกจากนั้น ถังพลาสติกขนาดใหญ่ ยังขายดีจนแทบขาดตลาดเช่นกัน โดยประชาชนแห่ซื้อเพื่อนำไปรองรับน้ำบาดาล หรือน้ำอุปโภคที่หน่วยงานของภาครัฐ นำมาแจกจ่ายตามจุดต่าง ๆ กระจายไปทั่วเมือง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

          ส่วนองค์กรภาคเอกชน มูลนิธิต่าง ๆ รวมไปถึงประชาชนทั่วไปยังคงระดมกำลังผลิตอาหารปรุงสุกและบรรจุถุงยังชีพให้ได้มากที่สุด เพื่อกระจายออกไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ริมฝั่งแม่น้ำตาปี ซึ่งคาดการณ์กันว่า ระดับที่ท่วมสูงอยู่ในขณะนี้จะค่อย ๆ ลดระดับลงอย่างช้า ๆ ซึ่งส่งผลให้บางพื้นที่ ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ยังมีน้ำท่วมขังไปอีกหลายวัน


[3 เมษายน] เตือนภาคใต้เฝ้าระวังดินโคลนถล่มอีก 1-2 วัน

             ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เผยภาคใต้ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ดินโคลนถล่ม ต่ออีก 1 - 2 วัน

             น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า ภาคใต้ยังคงต้องติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยดินโคลนถล่มต่อไปอีก 1 - 2 วัน โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ร่อนพิบูลย์ อ.ลานสกา อ.จุฬาภรณ์ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช, อ.ปากพยอม จ.พัทลุง, อ.นาโยง จ.ตรัง, อ.นาสาร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งยังคงมีปริมาณน้ำสะสมอยู่บนเนินเขา ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์ของพี่น้องประชาชนได้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยที่ลาดเชิงเขา ระมัดระวังอันตรายดังกล่าวไว้ด้วย

            พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงวันที่ 5 - 7 เม.ย. นี้ ระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง จากความกดอากาศสูงกำลังปานกลาง ที่จะแผ่ลงมาปกคลมพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ไว้ด้วย พร้อมขอให้ติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อย่างต่อเนื่อง หรือ สอบถามข้อมูลเตือนภัยได้ที่สายด่วน 192



คลิป ข่าวสามมิติ น้ำท่วมพุนพิน 2-4-2554



[2 เม.ย.] น้ำท่วมสุราษฎร์ฯ พุนพินวิกฤต รถวิ่งผ่านไม่ได้

          นายอำเภอพุนพิน ระบุ ปริมาณน้ำยังท่วมสูง น้ำเหนือไหลผ่าน วอนประชาชนเลี่ยงสัญจร หลัง ถนนและสะพานถูกตัดขาด

          นายไพศาล ตรีธัญญา นายอำเภอพุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดในพื้นที่ อ.พุนพิน ว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ปริมาณน้ำฝนจะน้อยก็ตาม เนื่องจากน้ำเหนือได้ไหลลงมารวมที่แม่น้ำตาปีอย่างต่อเนื่อง พร้อมแนะนำให้ประชาชนที่จะเดินทางมายัง จ.สุราษฎร์ธานี นั้น งดใช้เส้นทาง เนื่องจากไม่สามารถวิ่งผ่านไปได้ เพราะถนนและสะพานถูกตัดขาด และส่วนใหญ่จะมาติดรวมกันที่ อ.พุนพิน จึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนให้งดเดินทางและติดตามสถานการณ์ จนกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

          อย่างไรก็ตาม นายอำเภอพุนพิน ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมสูงนั้น ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ เข้าถึงทุกพื้นที่ แต่เป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเรือที่จะเข้าไปในพื้นที่ได้นั้น ต้องมีความแข็งแรง ส่วนในช่วงเช้าของวันนี้ ทางเจ้าหน้าที่จะระดมเรือ เพื่อนำถุงยังชีพเข้าไปช่วยเหลือประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป

          ด้านนายทศพล งานไพโรจน์ นายกเทศมนตรี ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน เปิดเผยว่า เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ในอดีต 2 ครั้งที่ผ่านมา เมื่อ ปี พ.ศ.2518 และ 2531 ถือว่ารุนแรงมากแล้ว แต่ครั้งนี้ถือว่าเลวร้ายที่สุด การช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากชาวบ้านไม่ยอมทิ้งบ้าน เพราะไม่เชื่อว่าน้ำจะท่วมสูงขนาดนี้ และมีแนวโน้มว่า ระดับน้ำจะสูงขึ้นอีก

          ขณะที่นายธีระ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า พุนพิน เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมหนักที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ที่แม่น้ำ 2 สายมาบรรจบกัน ได้แก่ แม่น้ำพุมดวง ซึ่งรับน้ำป่ามาจากเทือกเขา ชุมพร ระนอง ส่วนอีกสายคือ แม่น้ำตาปี ที่รับน้ำป่ามาจากเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช โดยขณะนี้ชาวบ้านต้องการน้ำดื่มมากที่สุด รวมทั้งถุงยังชีพที่ยังกระจายเข้าไปไม่ถึงชาวบ้านที่ติดอยู่ด้านใน เนื่องจากเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด

          ทั้งนี้ มีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ระดับน้ำในพื้นที่ 6 ตำบลของ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี เพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำริมฝั่งแม่น้ำตาปีต่อจาก อ.พุนพิน ก่อนไหลงสู่อ่าวบ้านดอน ขณะที่ ความช่วยเหลือยังคงเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากกระแสน้ำไหลเชี่ยว เจ้าหน้าที่และเรือที่ออกไปช่วยเหลือและออกไปส่งอาหารต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ส่วนเส้นทางการเข้าออกเมืองสุราษฎร์ธานี ฝั่ง อ.พุนพิน รถขนาดใหญ่สามารถเข้าออกบ้างได้แล้ว ส่วนรถเล็กต้องอ้อมไปออกไปทาง อ.คีรีรัฐนิคม และ อ.เคียนซา ซึ่งเพิ่มระยะทางในการเดินทางกว่า 100 กม. ซึ่งเป็นเพียงเส้นทางเดียว ที่รถเล็กสามารถเข้าเมืองได้ในขณะนี้

          
ด้านองค์กรทางภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงประชาชนทั่วไปต่างระดมกำลังทรัพย์และกำลังคน ทำอาหารปรุงสุขออกไปแจกจ่ายช่วยเหลือผู้เดือดร้อนที่ติดค้างอยู่ตามบ้านเรือนและสะพานสูง ซึ่งไม่มีอาหารรับประทาน เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมยาวนานหลายวันแล้ว

          ล่าสุด ยังคงมีการอพยพชาวบ้านตามบ้านเรือนต่างๆ ในเขต อ.พุนพิน และ อ.เมือง ให้มาอยู่ในที่ปลอดภัยพ้นน้ำ ซึ่งบางคนมีเพียงเสื้อออกมาติดตัวได้เพียงชุดเดียว เนื่องจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การอพยพและการให้ความช่วยเหลือรวมถึงการส่งอาหารและน้ำดื่มเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากกระแสน้ำเชี่ยวกรากและยังเพิ่มระดับขึ้นอีก บนทางหลวงหมายเลข 417 หรือ สายสุราษฎร์-สนามบิน มีรถขนาดใหญ่ทั้งรถบรรทุก และรถโดยสารติดขัดตลอดทั้งเส้นทาง และมีอุบัติเหตุรถตกข้างทางหลายคัน โดยมีรถโดยสารของบริษัทสมบัติ ทัวร์ ตกอยู่ข้างทาง แต่สามารถช่วยเหลือผู้โดยสารกว่า 30 คน ออกมาได้ทั้งหมด


          ขณะที่สถานการณ์ที่สนามบินสุราษฏร์ธานี แม้ฝนจะไม่ตก และน้ำไม่ท่วมสนามบิน แต่การจราจรรอบนอกสนามบินเป็นอัมพาต เนื่องจากถนนสายหลักและสายรองรอบนอกมีน้ำท่วมสูง ทำให้ทหารต้องนำรถจีเอ็มซี จำนวน 8 คัน เข้ามารับส่งผู้โดยสารจากสนามบินไปส่งยังศาลากลางจังหวัด ซึ่งการเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบากมาก โดยใช้เวลาประมาณ 3-5 ช.ม. ในระยะทางเพียง 18 ก.ม. เนื่องจากต้องฝ่ากระแสน้ำเชี่ยวกราก และระดับน้ำที่สูงเข้ามา





[1 เมษายน] น้ำท่วมสุราษฎร์ฯ พุนพินหนักสุด เขื่อนปัดปล่อยน้ำ

          สถานการณ์น้ำท่วมยังวิกฤต สุราษฎร์ธานี การจราจรเป็นอัมพาต คอสะพานแม่น้ำตาปีขาด เร่งอพยพคนออกจากริมฝั่งหลังน้ำท่วมสูง พุนพินวิกฤตหนัก เหตุเป็นพื้นที่รับน้ำก่อนออกอ่าวไทย ด้าน ผอ.เขื่อนรัชชประภายันไม่ได้ปล่อยน้ำ หลังชาวบ้านลือ เพราะระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น

          ศูนย์ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวภาคใต้ รายงานว่า จากสถานการณ์ท่วมในพื้นที่ภาคใต้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ สถานการณ์ในหลายพื้นที่ของจังหวัดทางภาคใต้ยังคงวิกฤต โดยเฉพาะการจรจรไปยังภาคใต้ ล่าสุดพบว่า ทางหลวงสายเอเชีย(41) ช่วง กม.18 อ.พูนพิน สุราษฎร์ธานี มีน้ำท่วมสูง รถยนต์ไม่สามารถผ่านได้ รวมทั้ง สะพานข้ามแม่น้ำตาปี จากการตรวจสอบพบว่า คอสะพานขาด เนื่องจาก น้ำท่วมสูงรถไม่สามารถผ่านได้ ซึ่งสำนักโยธาธิาการและผังเมือง จะเข้าตรวจสอบในช่วงเช้าของวันนี้

          ส่วนถนนสายสุราษฎร์ธานี สนามบิน หรือทางหลวงหมายเลข 417 ระดับน้ำท่วมสูง รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านไปมาได้เช่นกัน ส่งผลให้เส้นทางเข้าออกเมืองสุราษฎร์ธานีเป็นอัมพาต ส่วนในเขตเทศบาลเมืองท่าขาม อำเภอพุนพิน น้ำยังคงไหลหลากเข้าท่วมระดับน้ำบางแห่งท่วมสูงถึง 3 เมตรแล้ว

          ขณะเดียวกัน ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้ริมฝั่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก เจ้าหน้าที่ต้องช่วยกันอพยพออกจากพื้นที่เนื่องจาก น้ำจากจังหวัดอื่นได้ไหลลงมารวมกันที่แม่น้ำตาปี ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งอาหารและน้ำดื่มเริ่มขาดแคลน เนื่องจากน้ำท่วมสูงจนมีการตัดกระแสไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัย ส่วนเขตเมืองสุราษฎร์ธานี แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายลงแล้ว แต่ยังขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ เนื่องจากระบบน้ำประปาไม่สามารถผลิตน้ำประปาได้ โดยสถานีสูบน้ำในเขตอำเภอพุนพิน ถูกน้ำท่วมสูงและถูกตัดกระแสไฟฟ้า

          อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนที่จะเดินทางไปทางใต้ต้องวางแผนการเดินทาง เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางบริเวณดังกล่าว ส่วนขบวนรถไฟสายใต้ที่เป็นขบวนยาว อาทิ กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช กรุงเทพฯ-ยะลา และกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ งดการเดินรถทุกขบวน ซึ่งประชาชนสามารถนำตั๋วไปคืนได้ ภายใน 15 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง

          ขณะที่มีรายงานว่า ที่ ต.หนองไซ อ.พุนพิน น้ำได้ท่วมสูงมากตั้งแต่บริเวณถนนสายเอเชีย 41 ช่วงเซาท์เทิร์นซีบอรด์ มีชาวบ้านติดอยู่ที่เขาหัวควาย 160 บนริมถนนสายเอเชียอีก 20 คน และยังมีชาวบ้านติดอยู่ภายในนับพันคน ไม่มีอาหารรับประทานมา 2 วันแล้ว เรียกร้องผู้ที่เกี่ยวข้องส่งเรือและอาหารเข้าไปช่วยเหลือด้วย ทั้งนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่เชื่อว่า ระดับน้ำที่ท่วมสูงนี้เป็นเพราะเขื่อนรัชชประภาปล่อยน้ำออกมา

          ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ผลพฤกษ์ ผู้อำนวยการเขื่อนรัชประภา ยืนยันว่า ไม่มีการระบายน้ำออกจากเขื่อนแต่อย่างใด เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้หยุดเดินเครื่องมาตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมาเพื่อช่วยลดปริมาณน้ำในคลองพุมดวง และจะหยุดเดินเครื่องโดยไม่มีกำหนด ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในเขื่อนมีอยู่ราวร้อยละ 80 และยังสามารถรองรับน้ำได้อีก

          อย่างไรก็ตาม มีรายงานด้วยว่า ขณะนี้ อ.พุนพิน ประสบความเสียหายมากที่สุด เพราะน้ำท่วมทุกพื้นที่ 16 ตำบล 79 หมู่บ้าน ราษฎรกว่า 12,660 คนได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากอำเภอพุนพินเป็นจุดรับน้ำจากหลายอำเภอก่อนลงสู่อ่าวไทย จึงมีระดับน้ำท่วมสูงกว่าจุดอื่น


แผ่นดินถล่ม





[31 มีนาคม]น้ำท่วมสุราษฎร์ธานี ดินถล่มสุราษฎร์ธานี บ้าน 2 หลัง สูญหาย 5 ราย  

           ดินถล่มทับบ้าน 2 หลัง อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี สูญหาย 5 ราย ขณะน้ำในแม่น้ำตาปี - พุมดวง ล้นตลิ่ง เข้าท่วมสถานีอุตุฯ ต้องถอนเจ้าหน้าที่ออก

 
          สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สุราษฎร์ธานี ยังคงวิกฤติหนักต่อเนื่อง ระดับน้ำในพื้นที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะริมฝั่งแม่น้ำตาปี และแม่น้ำพุมดวง ที่ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยนายบุญชุม ชุมบัวจันทร์ เจ้าหน้าที่สถานีอุตุนิยมวิทยาอุทกพระแสง เปิดเผยว่า ระดับน้ำในแม่น้ำตาปี ที่ อ.พระแสง ไม่สามารถวัดระดับได้แล้ว เนื่องจากสถานีถูกน้ำท่วมสูง จำเป็นต้องถอนอุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ออกจากสถานีเพื่อความปลอดภัยก่อน 

          ทั้งนี้ คาดว่า ระดับน้ำในแม่น้ำตาปีสูงถึง 8 เมตรแล้ว ซึ่งสูงกว่าระดับตลิ่ง 2.50 เมตร ส่งผลให้พื้นที่น้ำท่วมขยายวงกว้างออกไปอีก โดยเฉพาะในอำเภอที่มีแม่น้ำตาปีไหลผ่าน คือ อ.พระแสง อ.เคียนซา อ.บ้านนาเดิม อ.เวียงสระ และ อ.พุนพิน ซึ่งทุกพื้นที่ได้ถูกน้ำท่วมทั้งหมด และยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง จึงไม่สามารถระบายน้ำไปทางใดได้เลย

          ส่วนที่อำเภอบ้านตาขุน และอำเภอพุนพิน ระดับน้ำหลายแห่งท่วมสูงกว่า 2 เมตร โดยน้ำในแม่น้ำพุมดวงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีฝนตกหนักอีก สำหรับความช่วยเหลือเร่งด่วนที่ผู้ประสบภัยต้องการ ในขณะนี้ คือ อาหารปรุงสุก ส่วนข้าวสารและอาหาร ผู้ประสบภัยหลายพื้นที่ยังไม่สามารถหุงข้าว และปรุงอาหารได้ เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าใช้ และไม่มีอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร ทำให้ครัวสภากาชาดไทยได้ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือตั้งครัวที่บริเวณสามแยกหนองผี แต่ปรากฎว่า ในเวลาต่อมาน้ำได้ไหลเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องถอนอุปกรณ์ออกไปตั้งครัวใหม่ที่วัดกลางใหม่ ในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีแทน

          ส่วนโรงพยาบาลท่าโรงช้าง อ.พุนพิน ได้มีการอพยพเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยราว 100 ชีวิต ออกจากโรงพยาบาลเป็นการด่วน เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงขึ้นจนเข้าท่วมชั้น 1 ของโรงพยาบาลแล้ว ส่วนทางหลวงหมายเลข 44 กระบี่ - ถนอม หรือ สายเซาเทิร์นซีบอร์ด ช่วง อ.เคียนซา ระดับน้ำสูงกว่าพื้นผิวถนนราว 1 เมตร เช่นเดียวกับบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำพุมดวง จนถึงบริเวณหน้าสหกรณ์สุราษฎร์ธานี ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร เช่นกัน รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ โดยกระแสน้ำไหลเชี่ยวกรากมาก

          ด้านนายสนิท ศรีวิหค นายอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยถึงข่าวลือ กรณีมีดินภูเขาถล่มลงมาอีกว่า จากการตรวจสอบยืนยันว่า ไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเหตุดินถล่มในตำบลคลองสระนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวานที่ผ่านมา และเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เนื่องจากสภาพดินโคลน และถนนถูกตัดขาด หากเดินเท้า ก็จะเป็นอุปสรรค และอันตรายต่อชีวิต จึงได้ประสานขอเฮลิคอปเตอร์เข้าไปพื้นที่ดังกล่าว แต่เนื่องด้วยอากาศที่ปิด ท้องฟ้าไม่เอื้ออำนวยต่อการบิน ทำให้ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ในขณะนี้

          อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สถานการณ์น้ำท่วมเลวร้ายมากกว่าเดิม เนื่องจากมีฝนตกหนักลงมาอีก ทำให้ระดับที่มีทีท่าจะลดลงกลับเพิ่มขึ้น และชาวบ้านก็ไม่มีไฟฟ้าใช้มานาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการอพยพชาวบ้านไปอยู่ยังจุดที่ปลอดภัยแล้ว ซึ่งพื้นที่อำเภอกาญจนดิษฐ์นั้น เป็นพื้นที่ติดกับภูเขา และอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขา และจุดที่ถูกน้ำท่วม ก็เป็นพื้นที่สวนผลไม้ และสวนยางของชาวบ้าน

          ในส่วนของการเดินทางด้วยเรือเฟอร์รี ระหว่าง อ.ดอนสัก เกาะสมุย และเกาะพะงัน สามารถใช้การได้แล้ว

 

ข่าวน้ำท่วมสุราษฎร์ธานี

 

[3 พ.ย. 53] น้ำท่วมสุราษฎร์ธานี สุราษฎร์ธานี ฝนตกต่อเนื่อง เฝ้าระวังดินถล่ม


          สุราษฎร์ธานี เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มอำเภอวิภาวดี หลังฝนตกหนัก เจ้าหน้าที่เข้าเปิดเส้นทางดินถล่ม อำเภอไชยา ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำตาปีลดลงแล้ว

          สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดสุราษฎร์ธานี วันที่ 16 พฤศจิกายน ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณน้ำฝนไม่มาก โดยทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้สั่งเฝ้าระวัง และเตือนภัยดินถล่มในพื้นที่หมู่ที่ 13 บ้านคลองมุย ตำบลตะกุกเหนือ อำเภอวิภาวดี เนื่องจากเมื่อคืนที่ผ่านมา มีฝนตกค่อนข้างมาก และมีน้ำป่าไหลหลาก 

          ส่วนพื้นที่หมู่ 7 ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา ซึ่งเกิดดินสไลด์ ล่าสุด เจ้าหน้าที่จากหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 46 ได้เข้าปฏิบัติงาน เพื่อเปิดเส้นทาง โดยรถขับเคลื่อน 4 ล้อ สามารถผ่านเส้นทางได้แล้ว และชาวบ้านกว่า 400 คน ยังคงมีอยู่ในศูนย์อพยพ ที่โรงเรียนบ้านคลองไม้แดง 

          ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำตาปี ที่อำเภอพระแสง ได้ลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง และพื้นที่น้ำท่วมขังในอำเภอพุนพิน ระดับน้ำยังทรงตัวอยู่ โดยทางอำเภอต้องออกแจกจ่ายอาหารแห้งทุก ๆ 3 วัน เนื่องจากชาวบ้านเดินทางไม่สะดวก
 

น้ำท่วมสุราษฎร์ธานี สมุยวิกฤต น้ำท่วมสูง


ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมสุราษฎร์ 15 พฤศจิกายน


          สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย วันที่ 15 พ.ย. นายนรินทร์ เกิดสม หัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า สภาพอากาศในพื้นที่ ท้องฟ้า ยังคงมืดครึ้ม และมีฝนตกหลายแห่ง ซึ่งต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ดินถล่ม ในพื้นที่เสี่ยงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ ช่วงวันที่ 15 - 20 พ.ย.นี้ เนื่องจาก คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนพื้นที่ที่เกิดดินโคลนถล่มใน อ.ไชยา อ.ท่าชนะ อ.วิภาวดี ซึ่งเป็นช่วงตอนบนของจังหวัด จุดรอยต่อ จ.ชุมพร - ระนอง นั้น ทางจังหวัดได้เครื่องจักรกลหนักเข้าไปตักดินที่ถล่มลงมาปิดทับเส้นทางแล้ว


ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมสุราษฎร์ 14 พฤศจิกายน

          ความคืบหน้าเหตุดินถล่มทับเส้นทางบ้านวังน้ำตูม บ้านควนนกหว้า บ้านเขาหลัก ต.ปากหมาก อ.ไชยา เช้าวันนี้ (14 พ.ย.) เจ้าหน้าที่ได้นำเครื่องกลขนาดใหญ่ เข้าไปทำการเปิดเส้นทางให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ หลังตลอดคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ทำการเปิดช่องทางให้สามารถสัญจรได้แล้ว ส่วนประชาชนที่อาศัยนั้น พบว่า มีจำนวนกว่า 400 คน เจ้าหน้าที่ได้อพยพ มาพักอาศัย ที่โรงเรียนคลองไม้แดง ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นไม่มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้เฝ้าระวังเหตุ และอพยพประชาชนออก ก่อนที่จะเกิดเหตุ ซึ่ง อ.ไชยา เป็นอำเภอที่ต้องเฝ้าระวังเหตุดินถล่ม เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำ เช่นเดียวกับ อ.พุนพิน ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากเป็นจุดที่แม่น้ำตาปีไหลผ่าน ก่อนจะไหลลงสู่ทะเล ซึ่งคาดว่าภายใน 1-2 วันนี้ ระดับน้ำอาจเพิ่มสูงขึ้น

          อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังกล่าวถึง พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมว่า ขณะนี้ ยังมีพื้นที่ อ.ดอนสัก และอ.กาญจนดิษฐ์ ที่มีน้ำท่วมขัง แต่ปริมาณไม่สูงมาก ซึ่งทางจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าดูแลช่วยเหลือ และเตรียมแผนฟื้นฟูเยียวยาชาวบ้านแล้ว และตลอดที่เกิดเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้น ก็พบว่า ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ไม่มีปัญหาขาดแคลน เครื่องอุปโภค-บริโภค และไม่มีโรคระบาดในพื้นที่ด้วย


ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมสุราษฎร์ 13 พฤศจิกายน

          เกิดน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ส่งผลให้น้ำทะลักท่วมพื้นที่ บ้านวังบัวตูม บ้านเขาหลัก บ้านควนนกหว้า บ้านน้ำตกโตนเรือบิน หมู่ที่ 7 ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งเกิดดินถล่มลงมาด้วย เจ้าหน้าที่ต้องเร่งอพยพชาวบ้านออกมาอยู่ยังที่ปลอดภัย แต่ยังมีชาวบ้านบางส่วนกว่า 200 คน ไม่ยอมเดินเท้าลงมาจากเขา เนื่องจากห่วงทรัพย์สิน จึงขออยู่ในบ้านต่อไปจนกว่าเหตุการณ์จะคลี่คลาย พร้อมกับยืนยันว่าสามารถดูแลตัวเองได้

          สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังคงมีน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขัง สองริมฝั่งของแม่น้ำตาปี ตั้งแต่ อ.พระแสง อ.เคียนซา และ อ.พุนพิน โดยระดับน้ำในแม่น้ำตาปีที่สถานีอุตุนิยมวิทยาอุทกพระแสง อยู่ในระดับทรงตัวที่ 5.68 เมตร ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมขังและน้ำล้นตลิ่งต่อไปอีกระยะหนึ่ง

          ส่วนในพื้นที่หมู่ 7 ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา ซึ่งเกิดเหตุดินโคลนถล่มทับเส้นทางเข้าหมู่บ้าน เป็นระยะทางราว 100 เมตร ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ใช้เครื่องจักรกลหนักตรวจเส้นทางแล้วในเช้าวันนี้

          ทางด้าน นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ดินถล่ม และสั่งการอพยพราษฎรไปยังจุดปลอดภัย คือ ที่โรงเรียนคลองไม้แดง ด้านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รายงานสรุปความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนี้ โดยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 7 ราย บ้านพัง 2 หลัง บ้านเสียหายบางส่วนกว่า 1,300 หลัง ร.ร.ได้รับความเสียหาย 23 แห่ง พื้นที่การเกษตร ทั้งสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และนาข้าว ได้รับความเสียหายกว่า 260,000 ไร่


ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมสุราษฎร์ 12 พฤศจิกายน

          ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานี ห่วง อ.ไชยา หวั่นดินถล่ม หลังฝนตกดินอุ้มน้ำนาน 4- 5 วัน ขณะ อ.พุนพิน ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก 

          สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดสุราษฎร์ธานี วันที่ 12 พฤศจิกายน นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า เช้าวันนี้ท้องฟ้าโปร่ง ไม่มีเค้าเมฆ และฝนนั้น ได้หยุดตกตั้งเเต่เมื่อวานเย็น แต่ยังมีหลายพื้นที่ที่ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากฝนตกในพื้นที่ติดต่อกัน ทำให้ดินอุ้มน้ำนานกว่า 4 - 5 วัน โดยเฉพาะ บ้านปากหมาก อ.ไชยา ที่เกิดดินโคลนถล่ม ปิดทับเส้นทางสัญจร และบ้านเรือนประชาชน โดยขณะนี้หลายหน่วยงาน ได้นำรถตักดินเข้าไปให้ความช่วยเหลือแล้ว ล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้เร่งอพยพประชาชน ไปอยู่ยังจุดปลอดภัย แต่มีประชาชนบางส่วนที่ยังอยู่เฝ้าทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เครื่องจักรกลหนักขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เข้าถึงพื้นที่เพื่อเปิดเส้นทางแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดได้ทั้งหมด เนื่องจากยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง

          ขณะที่ อ.พุนพิน ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากรับน้ำจากที่อื่น ก่อนจะไหลลงสู่ทะเล ทางจังหวัดได้นำอาหารและสิ่งของเข้าแจกจ่ายแก่ประชาชน ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

          ด้านนายแพทย์สุรชัย ล้ำเลิศกิตติกุล รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วม เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทำให้โรงพยาบาลหาดใหญ่เสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ในการรับบริจาคโลหิต และรถบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ซึ่งมีอยู่เพียงคันเดียว ได้ถูกน้ำท่วมไม่สามารถดำเนินการออกรับบริจาคโลหิตได้ ขณะที่ความต้องการโลหิตในการใช้รักษาผู้ป่วย มีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้โลหิตที่สำรองไว้ไม่เพียงพอต่อการใช้รักษา 

          ดังนั้น โรงพยาบาลหาดใหญ่ ขอรับบริจาคโลหิตทุกหมู่อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุ๊ปเอบี ซึ่งขณะนี้เหลืออยู่เพียง 7 ถุงเท่านั้น ท่านที่มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคโลหิตได้ที่ ตึกพยาธิวิทยาคลินิค ชั้น 4 งานธนาคารโลหิต โรงพยาบาลหาดใหญ่ สำหรับหน่วยงานที่ประสงค์ จะบริจาคโลหิตตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทางโรงพยาบาลมีรถตู้พร้อมรับ-ส่ง ติดต่อได้ที่โทรศัพท์ 0-74273-124

 

น้ำท่วม
น้ำท่วม

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมสุราษฎร์ 11 พฤศจิกายน

          สถานการณ์อุทกภัย และวาตภัย ดินถล่ม ในวันที่ 11 พฤศจิกายน มีรายงานว่า น้ำป่าจากเทือกเขาในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ได้ไหลทะลักทำลายพื้นที่บ้านวังบัวตูม บ้านเขาหลัก และบ้านน้ำตก ต.ปากหมาก อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ทำให้ถนนเข้าหมู่บ้านขาดกว่า 10 แห่ง และยังมีดินถล่มลงมาปิดทับเส้นทางด้วย

          ขณะที่ยังเกิดดินถล่มทับตัวบ้านในหมู่บ้านน้ำตก จนทับร่างเด็กหญิงวัย 11 ปี เหลือเพียงคอ แต่ชาวบ้านช่วยกันขุดดินออกจากร่างนานกว่า 1 ชั่วโมง และสามารถช่วยชีวิตไว้ได้ทัน ล่าสุด นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี ประสานนำเครื่องจักรกลหนักเปิดเส้นทาง เพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว โดยแต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดดินถล่มตลอดเวลา

          ด้านสถานการณ์น้ำท่วมในภาพรวม พื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี หลายเเห่งยังเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะ อ.พุนพิน จำนวน 15 หมู่บ้าน 6 ตำบล ประมาณ 5,000 ครัวเรือน ยังต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมขัง เนื่องจากเป็นเเหล่งรับน้ำจากที่อื่น ก่อนลงไหลสู่ทะเล ส่วนพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มยังคงเป็น ต.ปากหมาก อ.ไชยา เขตอุทยานแห่งชาติแกร่งกรุง ที่ชาวบ้านยังไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ เนื่องจากยังห่วงทรัพย์สิน โดยทางจังหวัดได้ประกาศเตือนว่า หากเกิดการเปลี่ยนเเปลงของสีน้ำฝน ให้เคลื่อนย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัยทันที และให้ติดตามการพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่อง


ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมสุราษฎร์ 10 พฤศจิกายน

          สถานการณ์น้ำท่วม จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันที่ 10 พฤศจิกายน จากที่มีฝนตกหนักลงมาอย่างต่อเนื่องตลอดตั้งแต่เวลา 22.00 น. วันที่ 9 พฤศจิกายนทำให้ในอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะย่านการค้าบนถนนริมหาดเฉวง ขณะนี้ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 1 เมตร ตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก โดยบางบ้านทยอยเข้าเก็บข้าวของออกจากพื้นที่แล้ว ส่วนใหญ่ไปพักบ้านญาติ ซึ่งทางเทศบาลก็ได้จัดเตรียมแหล่งที่พักอาศัยชั่วคราว และเครื่องอุปโภค-บริโภค ไว้แล้ว โดยสามารถอพยพได้ทันที หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

          ขณะที่รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ สำหรับพื้นที่บริเวณหาดเฉวง น้ำยังวิกฤต เนื่องจากบริเวณพื้นที่ในเฉวงมีทางน้ำไหลลงทะเลได้เพียงทางเดียว จึงทำให้มีระดับน้ำที่สูง ส่วนแนวโน้มคาดว่าหากฝนยังคงตกหนักต่อเนื่องไปอีก 2 ชั่วโมง คาดว่าปริมาณน้ำจะไหลทะลักลงมาจากภูเขาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ระดับน้ำจะสูงมากกว่าครั้งก่อน ที่ระดับ 2 เมตร เจ้าหน้าที่สั่งเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง  ทั้งนี้ หากประชาชนที่ประสบภัยต้องการความช่วยเหลือสามารถแจ้งมาได้ที่ 0-7742-6005 หรือ 0-7723-1042 

          นอกจาก อ.เกาะสมุยแล้ว ที่ อ.บ้านนาเดิม และ อ.พุนพิน ก็ได้เกิดน้ำท่วมแล้วเช่นกัน หลังจากแม่น้ำตาปีล้นฝั่ง ชาวบ้านต้องเร่งอพยพขนย้ายข้าวของกันอย่างโกลาหล แต่ส่วนใหญ่ไม่ยอมออกจากบ้าน ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ได้เกิดดินถล่มที่บ้านคลองมุย เจ้าหน้าที่ต้องเร่งอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่แล้ว เช่นเดียวกับที่ อ.ดอนสัก อ.กาญจนดิษฐ์ อ.เมือง และอ.ไชยา ที่มีน้ำท่วมสูง 80 เซนติเมตรแล้ว หลังจากฝนตกหนักต่อเนื่อง

          อย่างไรก็ตาม นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เปิดเผยว่า ล่าสุดสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดเริ่มคลี่คลายแล้วทุกพื้นที่ เบื้องต้นมีราษฎรเดือดร้อนใน 19 อำเภอ 116 ตำบล 858 หมู่บ้าน 60,748 ครัวเรือน 203,446 คน มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บ้านพักอาศัยเสียหายทั้งหลัง 2 หลัง เสียหายบางส่วน 1,332 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหายจำนวน 41,055 ไร่ ปศุสัตว์ 1,589 ตัว บ่อปลา 651 บ่อ ถนนชำรุด 385 สาย สะพาน/คอสะพาน 54 แห่ง ฝาย 5 แห่ง วัด 4 แห่ง และท่อระบายน้ำเสียหาย 54 แห่ง รวมมูลค่าความเสียประมาณ 33,733,560 บาท ส่วนมูลค่าความเสียหายเพิ่มเติมอยู่ระหว่างการสำรวจ

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมสุราษฎร์ 9 พฤศจิกายน

          สถานการณ์น้ำท่วม จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันที่ 9 พฤศจิกายน ที่อำเภอพระแสง มีน้ำล้นตลิ่งและไหลต่อเนื่องเข้าท่วมอำเภอเคียนซา และจะเข้าท่วมอำเภอพุนพิน อำเภอเมือง ขณะที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ, อำเภอหัวไทร, อำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอปากพนัง ยังมีน้ำท่วมขังค้างในทุ่ง 30-50 เซนติเมตร เช่นเดียวกับน้ำในลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งชลประทานจังหวัดคาดว่า หากฝนไม่ตกลงมาอีก น่าจะใช้เวลาอีก 1 สัปดาห์จึงจะกลับสู่ภาวะปกติ

          ด้านนายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเกาะสมุย กล่าวว่า จากที่มีฝนตกหนักลงมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ทำให้ในอำเภอเกาะสมุยมีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ จึงทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก โดยน้ำท่วมครั้งนี้มีปริมาณน้ำมากกว่าครั้งแรก ขณะที่ถนนสายรอบเกาะบางส่วนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ตำบลบ่อผุด ละไม และตำบลหน้าเมือง สาเหตุเพราะมีน้ำฝนไหลทะลักลงมาจากภูเขาเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งอำเภอเกาะสมุย การไฟฟ้าเกาะสมุย และการประปาส่วนภูมิภาค ให้ช่วยดูแลและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องด้วย


น้ำท่วมสุราษฎร์ธานี

 

 

สถานการณ์น้ำท่วมสุราษฎร์ธานี วันที่ 8 พฤศจิกายน

          สถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี วันที่ 8 พ.ย. ระดับน้ำในแม่น้ำตาปีได้เพิ่มระดับสูงขึ้นเฉลี่ยชั่วโมงละ 1 ซม. หลังจากฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ล่าสุดแม่น้ำตาปีล้นตลิ่ง รวมกันน้ำจาก จ.กระบี่ และนครศรีธรรมราชที่ไหลเข้ามาสมทบจนท่วม อ.พระแสง แล้ว ขณะที่เกาะสมุยยังมีน้ำท่วมขังที่หาดเฉวง ทางเทศบาลต้องเร่งใช้เครื่องสูบน้ำระบายน้ำลงสู่ทะเล

          ขณะเดียวกันทางจังหวัดได้ประกาศให้ชาวบ้านที่อยู่ริมภูเขาเฝ้าระวังดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะที่ อ.พนม ,คีรีรัฐนิคม ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย


สถานการณ์น้ำท่วมสุราษฎร์ธานี วันที่ 6 พฤศจิกายน

           สถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี วันที่ 6 พ.ย. หลังภาวะน้ำท่วมเริ่มคลี่คลายลงในหลายพื้นที่ เจ้าหน้าที่เร่งออกสำรวจความเสียหายเบื้องต้น โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สุราษฎร์ธานี ได้รายงานสรุปสถานการณ์น้ำท่วม ระหว่างวันที่ 27 ต.ค. ถึง 6 พ.ย. ว่า จ.สุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมแล้วทั้งหมด 19 อำเภอ 858 หมู่บ้าน ประชาชน ได้รับความเดือดร้อนกว่า 14,000 ครอบครัว มีผู้เสียชีวิต รวม 5 ราย บ้านพักอาศัย พัง 2 หลัง และได้รับความเสียหายบางส่วนกว่า 1,200 หลัง มีถนนชำรุด กว่า 244 สาย สะพานชำรุด 18 แห่ง มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นกว่า 30 ล้านบาท และยังคงสำรวจความเสียหายเพิ่มเติมอีก ส่วนที่ อ.พระแสง ระดับน้ำในแม่น้ำตาปีสูง กว่าระดับตลิ่งที่ 5.50 เมตรแล้ว เช้าวันนี้วัดได้ 5.64 เมตร และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

           ด้านนายณัฏฐจักร ภู่ประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มงานอุตุนิยมวิทยาอุทกพระแสง อ.พระแสง กล่าวว่า ในช่วงบ่ายถึงค่ำวันนี้ มวลน้ำจากทางตอนเหนือของ อ.พระแสง จะไหลลงมาสมทบอีกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำตาปี เพิ่มสูงขึ้นได้อีก โดยขณะนี้ น้ำได้เอ่อล้นตลิ่งท่วมถนน พื้นที่การเกษตรและชุมชนริมฝั่งแม่น้ำตาปีแล้ว

          ขณะที่มีรายงานว่า ช่วงเที่ยงวันนี้ได้เกิดคลื่นสูงประมาณ 4-5 เมตร ที่บริเวณหมู่เกาะอ่างทอง มุ่งหน้าอ่าวบ้านดอน หลังมีพายุลมแรง ทำให้เรือบรรทุกสินค้าศรีวิชัย นาวี 1 ของ บริษัท ศรีวิชัย จำกัด ล่มกลางอ่าวไทย ส่งผลให้ลูกเรือ 10 คนต้องลอยคอกลางทะเล แต่โชคดีที่มีเรือประมงผ่านมา จึงเข้าช่วยเหลือลูกเรือไว้ได้ทั้งหมด


สถานการณ์น้ำท่วมสุราษฎร์ธานี วันที่ 5 พฤศจิกายน

         สถานการณ์อุทกภัยวันที่ 5 พ.ย. นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำท่วมว่า ในเช้าวันนี้ ท้องฟ้าเริ่มเปิด ไม่มีฝนแล้ว แต่ยังมีฝนพรำเล็กน้อย ซึ่งระดับน้ำในอำเภอไชยา และอำเภอท่าชนะ ก็ลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง โดยยังมีบางจุดที่น้ำเจิ่งนองเล็กน้อย ซึ่งระดับน้ำได้ไหลลงเส้นทางอ่าวไทย

          แต่ที่ อ.กาญจนดิษฐ์ และ อ.ดอนสัก ระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะที่ ต.ชลคราม และ ต.ไชยคราม ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำสุดท้าย ก่อนระบายลงสู่ทะเล โดยรับน้ำจาก อ.ขนอม และ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ส่วนที่ อ.เกาะสมุย ระดับน้ำได้ลดลงจนเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ประชาชนและผู้ประกอบการ ได้เริ่มทำความสะอาดบ้านเรือน และร้านค้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการย่านการค้าสำคัญ ได้ขนสินค้าที่เสียหายจากน้ำท่วมออกมาทิ้ง ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก

         ส่วนเรื่องการเดินทางสู่ จ.สุราษฎร์ธานี การบินไทย,บางกอกแอร์เวย์ และเรือเฟอร์รี่ ไปเกาะพงัน-สมุย ไม่มีปัญหา

         อย่างไรก็ตาม จากความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่ง ที่ไม่มีที่พักอาศัย และอยากขอวอนผู้ใจบุญร่วมบริจาค อุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน เนื่องจากในพื้นที่สามารถปรุงอาหารได้ แต่อุปกรณ์วัสดุก่อสร้างไม่มี ที่จะซ่อมแซมบ้านเรือน

         ด้านครัวสภากาชาดไทย ซึ่งตั้งอยู่สี่แยกหนองขรี อ.พุนพิน ยังคงเร่งผลิตอาหารกล่อง ออกแจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยในวันนี้จะผลิตอาหารกล่อง จำนวน 3,200 กล่อง แจกจ่ายไปยังอำเภอต่าง ๆ ที่ประสบภัย ส่วนสำนักงานสาธารณสุข จ.สุราษฎร์ธานี ได้ร่วมกับนักศึกษาวิทยาลัยพยาบาล บรมราชชนนี ราว 500 คน เร่งจัดยาและเวชภัณฑ์ เป็นจำนวน 10,000 ชุด เพื่ออกแจกจ่ายให้กับประชาชนหลังจากน้ำลดด้วย


สถานการณ์น้ำท่วมสุราษฎร์ธานี วันที่ 4 พฤศจิกายน

          สถานการณ์อุทกภัยใน จ.สุราษฎร์ธานี วันที่ 4 พ.ย.นี้ บริเวณที่ยังคงน่าเป็นห่วงอยู่ที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี หลังมีน้ำท่วมสูงในหลายพื้นที่ของเกาะสมุย โดยเฉพาะที่บ้านปลายแหลม และหาดเฉวง ซึ่งยังมีน้ำท่วมสูงระดับสูง ประมาณ 50 ซ.ม. ถึง 1 เมตร รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ และบางจุดบนถนนสายรอบเกาะน้ำท่วมสูงถึง 1.2 เมตร ส่วนน้ำในพรุเฉวง ได้เอ่อล้นท่วมบ้านเรือนราษฎรที่อยู่บริเวณรอบ ๆ พรุ ขณะที่บ้านปลายแหลม ไม่มีไฟฟ้าใช้ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงการไฟฟ้าจำเป็นต้องตัดกระแสไฟ เพื่อความปลอดภัย

          ด้านนายสุรพงษ์ วิริยานนท์ รองนายกเทศมนตรีเกาะสมุย เปิดเผยว่า จุดวิกฤติขณะนี้อยู่ที่ตอนล่างของพรุเฉวง ซึ่งเป็นแอ่งกระทะ ระดับน้ำสูง 1-1.50 เมตร โดยได้เร่งระบายน้ำออกจากบริเวณดังกล่าวลงสู่ทะเล และทาง จ.สุราษฎร์ธานี ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำใหญ่ เพิ่มอีก 5 เครื่อง และเรือท้องแบน 4 ลำ เข้าช่วยเหลือราษฎรแล้ว ขณะที่เรือเฟอร์รี่ ลดเที่ยวเรือลงเหลือ 6 เที่ยว ในวันนี้ และถ้าไม่มีฝนตกซ้ำลงมาอีก สถานการณ์ต่างๆ  จะเข้าสู่สภาวะปกติ ภายใน 2-3 วัน

          ด้านนายธีรยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ทั้ง 19 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยฉุกเฉินแล้ว หลังสถานการณ์น้ำท่วมยังหนัก โดยเฉพาะที่อำเภอท่าชนะ อำเภอไชยา อำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพะงัน นอกจากนั้น ยังมีเหตุดินสไลด์ในพื้นที่อำเภอวิภาวดี และอำเภอบ้านนาเด่นด้วย โดยทางจังหวัดได้ประสานงานไปยังแขวงการทางทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช มาสร้างสะพานชั่วคราว หรือ แบริ่ง ในพื้นที่อำเภอท่าชนะ และอำเภอไชยา เนื่องจากมีการขุดเจาะถนนเพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเล   

          ขณะที่นายณัฏฐจักร ภู่ประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มงานอุตุนิยมวิทยาอุทกพระแสง ได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ริมฝังแม่น้ำตาปี ให้ระวังน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่งแล้ว เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำตาปีที่อำเภอพระแสง เพิ่มระดับขึ้นจนถึงขั้นวิกฤติแล้ว และยังมีน้ำสะสมทางตอนเหนือของอำเภอพระแสงไหลลงมาสมทบเพิ่มอีก คาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำตาปี จะเพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว นอกจากนั้นปริมาณน้ำฝนเหนือลุ่มน้ำ ที่ส่งผลต่อระดับน้ำในแม่น้ำตาปี ยังวัดได้ 219.9 ม.ม.

          ส่วนในพื้นที่ อ.กาญจนดิษฐ์ และ อ.ดอนสัก ของ จ.สุราษฎร์ธานี มีระดับน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำต่อจาก จ.นครศรีธรรมราช ก่อนระบายลงสู่ทะเล

น้ำท่วมสุราษฎร์ธานี

น้ำท่วมสุราษฎร์ธานี

 


สถานการณ์น้ำท่วมสุราษฎร์ธานี วันที่ 3 พฤศจิกายน

          สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในเขตอำเภอเมือง ระดับน้ำลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ถนนทุกสายสามารถสัญจรได้ตามปกติ ส่วนในอำเภอรอบนอก ยังคงมีน้ำท่วมขังและน้ำป่าไหลหลากในบางพื้นที่ สำหรับอำเภอเกาะสมุย ระดับน้ำในย่านการค้าสำคัญ คือ บริเวณหาดเฉวงยังมีน้ำท่วมสูง ระดับน้ำสูงประมาณ 70 ซ.ม. รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ระบบการสื่อสารยังใช้การได้ไม่สมบูรณ์

          ด้านเรือโดยสารระหว่างอำเภอดอนสัก อำเภอเกาะสมุย เรือเฟอร์รี่ ของบริษัทซีทรานซ์เฟอร์รี่ จะเดินเรือเที่ยวแรกของวันนี้ ในเวลา 10.00 น. และเที่ยวถัดไปในเวลา 12.00 น. หลังจากนั้น ผู้โดยสารต้องโทรสอบถามเวลาเดินเรือกับทางบริษัทอีกครั้งหนึ่ง

          เช่นเดียวกันที่สนามบินสมุย ได้ประกาศไม่สามารถให้บริการเครื่องบินขึ้นและลงได้ชั่วคราว เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย โดยผู้โดยสารสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1771 หรือ โทร. 02 270 6699

          อย่างไรก็ตามที่อำเภอท่าชนะ น้ำป่าได้ไหลหลากเข้าท่วมในตัวอำเภอ และเขตเทศบาลตำบลท่าชนะ ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร โดยเฉพาะในศูนย์ราชการอำเภอท่าชนะ รถยนต์ไม่สามารถเข้าไปได้ เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงมาก และไหลเชี่ยวกราก ถนนหลายสายไม่สามารถใช้การได้แล้ว โดยมีรายงานว่า ชาวบ้านได้อพยพมาอยู่บริเวณสถานีรถไฟ เพราะน้ำท่วมสูงถึงคอแล้ว แต่ยังไร้หน่วยงานใดเข้าไปให้การช่วยเหลือ

          ด้านนายสุรศักดิ์ ชัยเดช นายสถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า เส้นทางรถไฟในเขตอำเภอท่าชนะถูกตัดขาด เนื่องจากกระแสน้ำได้พัดเอาหินในทางรถไฟออกไป โดยขบวนรถไฟที่ 167 จาก กรุงเทพมหานคร ถึงกันตัง ได้จอดขนถ่ายผู้โดยสารที่สถานีละแม ขบวนรถที่ 85 จากกรุงเทพมาหนคร ถึงนครศรีธรรมราช จอดขนถ่ายผู้โดยสารที่สถานีหลังสวน และได้มีการประกาศงดเดินรถไฟสายใต้แล้ว

          ขณะที่อุตุนิยมวิทยาพระแสง ได้รายงานระดับน้ำในแม่น้ำตาปีที่อำเภอพระแสง ซึ่งระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระดับน้ำสูง 5.02 เมตร เนื่องจากปริมาณน้ำฝนสะสม ได้ไหลลงสู่แม่น้ำตาปีแล้ว ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง และเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำตาปี

          ด้าน พ.ต.ต.ธีรยุทธ คำมีศรี สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 5 เปิดเผยว่า ทางหลวงสายเอเชีย มีปัญหาการจราจรอยู่ 2 จุด เนื่องจากมีน้ำไหลผ่านถนน คือ บริเวณกิโลเมตรที่ 107-108 อำเภอท่าชนะ ไม่สามารถสัญจรได้เพียงช่องทางเดียว ระดับน้ำบนถนนสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ทำให้มีรถชะลอตัวสะสมอยู่ในบริเวณนี้ ส่วนกิโลเมตรที่ 133-134 อำเภอไชยา มีคอสะพานทรุดตัวสามารถสัญจรได้เพียง 1 ช่องทางเช่นกัน เจ้าหน้าที่ได้อำนวยความสะดวกบนท้องถนนแล้ว และระดับน้ำมีแนวโน้มว่า ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยถ้าไม่มีฝนตกลงมาอีกคาดว่า ระดับน้ำบนถนนสายเอเชียทั้ง 2 จุด จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 2-3 ชั่วโมง ส่วนระดับน้ำในพื้นที่อำเภอท่าชนะและไชยา ยังคงมีน้ำท่วมสูงอยู่หน่วยงานต่าง ๆ ได้เร่งนำน้ำดื่ม และข้าวของออกแจกจ่าย ผู้ประสบภัยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น

 



 



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
      , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมอุตุนิยมวิทยา

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น้ำท่วมภาคใต้ คลี่คลายแล้ว 8 จังหวัด ตาย 64 ราย อัปเดตล่าสุด 16 เมษายน 2554 เวลา 09:18:45 119,335 อ่าน
TOP
x close