เปิดรอยเลื่อนมีพลัง 9 แห่งที่เคยเกิดในไทย









ดินทรุดตัวและแยกเป็นทางยาว บนดอยแม่สลอง
แผ่นดินทรุด และแยกเป็นทางยาว ดอยแม่สลอง เชียงราย


ดินทรุดตัวและแยกเป็นทางยาว บนดอยแม่สลอง




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก กรมอุตุนิยมวิทยาTsunamimaknum

          รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย เคยเกิดขึ้นแล้ว 9 แห่งด้วยกัน คือ  รอยเลื่อนเชียงแสน รอยเลื่อนแพร่ รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนเถินรอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนระนอง และรอยเลื่อนคลองมะรุย

          จากเหตุแผ่นดินไหวเชียงราย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ส่งผลกระทบทำให้บ้านเรือนประชาชนเสียหายจำนวนมาก รวมถึงอาคาร สถานที่สำคัญในจังหวัดเชียรายด้วย และนี่ไม่ใช่แผ่นดินไหวครั้งแรก แต่อาจจะเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในไทย เพราะก่อนนี้เราจะได้ยินข่าวภัยพิบัติที่เกิดทั้งในประเทศ และต่างประเทศอยู่ตลอด โดยเฉพาะข่าวแผ่นดินไหวที่อยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไป แต่ทุกครั้งที่มีข่าวแผ่นดินไหว สิ่งที่ตามมาคือ ข้อมูลจากนักวิชาการหรือส่วนราชการเกี่ยวกับผลกระทบจากเขื่อน จึงทำให้ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ใกล้เขื่อน ต่างกังวลและหวาดกลัวว่า ด้วยผลของแผ่นดินไหวนี้จะทำให้เขื่อนแตก ว่าแต่รอยเลื่อนคืออะไร ทำไมจึงทำให้เกิดเเผ่นดินไหว ในไทยเคยเกิดขึ้นกี่ครั้ง วันนี้เรามีข้อมูลมาฝาก

          รอยเลื่อน คือ ผลจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ซึ่งจะมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา บางแผ่นเคลื่อนตัวเข้าหากันและมุดซ้อนเกยกัน และบางแผ่นแยกออกจากกัน ขณะที่บางแผ่นเคลื่อนเฉียดกัน ทำให้เกิดแรงเครียดสะสมไว้ภายในเปลือกโลก เมื่อรอยเลื่อนขยับตัวก็จะมีการปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของการสั่นไหวทำให้เกิดแผ่นดินไหว จึงเรียกว่า รอยเลื่อนมีพลัง ซึ่งรอยเลื่อนนี้เองที่เป็นแหล่งกำเนิดของแผ่นดินไหว ปัจจุบันพบว่ารอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย เคยเกิดขึ้นแล้ว 9 แห่งด้วยกัน คือ






          1. รอยเลื่อนเชียงแสน รอยเลื่อนนี้วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบนสุดของประเทศ มีความยาวประมาณ 130 กิโลเมตร โดยเริ่มต้นจากแนวร่องน้ำแม่จันไปทางทิศตะวันออก ผ่านอำเภอแม่จัน แล้วตัดข้ามด้านใต้ของอำเภอเชียงแสนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวลำน้ำเงิน ทางด้านเหนือของอำเภอเชียงของ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่วัดได้ตามแนวรอยเลื่อนนี้ เกิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2521 มี ขนาด 4.9 ริกเตอร์ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2521 มีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 3 ริกเตอร์ เกิดตามแนวรอยเลื่อนนี้ 10 ครั้ง และ 3 ครั้งมีขนาดใหญ่กว่า 4.5 ริกเตอร์ แผ่นดินไหวทั้งหมดเป็นแผ่นดินไหว ที่เกิดในระดับตื้นกว่า 10 กิโลเมตร

          2. รอยเลื่อนแพร่ รอยเลื่อนนี้อยู่ทางด้านตะวันออกของแอ่งแพร่ และวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเริ่มต้นจากด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเด่นชัย ผ่านไปทางด้านตะวันออกของอำเภอสูงเม่น และจังหวัดแพร่ ไปจนถึงด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอร้องกวาง รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 115 กิโลเมตร มีแผ่นดินไหวขนาด 3-4 ริกเตอร์ เกิดตามแนวรอยเลื่อนนี้กว่า 20 ครั้ง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนแผ่นดินไหวขนาด 3 ริกเตอร์ ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2533 เกิดตามแนวรอยเลื่อน ซึ่งแยกจากรอยเลื่อนแพร่ไปทางทิศเหนือ

          3. รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนนี้มีแนวเป็นรูปโค้งตามแนวลำน้ำแม่วอง และแนวลำน้ำแม่ทาในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 55 กิโลเมตร จากการศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (2523) พบว่า ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนของการศึกษาในปี พ.ศ.2521 มีแผ่นดินไหวขนาดเล็กเกิด ในระดับตื้นอยู่มากมายในบริเวณรอยเลื่อนนี้

          4. รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนเถินอยู่ทางทิศตะตกของรอยเลื่อนแพร่ โดยตั้งต้นจากด้านตะวันตกของอำเภอเถินไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ขนานกับรอยเลื่อนแพร่ไปทางด้านเหนือ ของอำเภอเถินไปทางตะวันออกเฉียงเหนือขนานกับรอยเลื่อนแพร่ ไปทางด้านเหนือของอำเภอวังชื้น และอำเภอลอง รวมความยาวทั้งหมดประมาณ 90 กิโลเมตร เคยมีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.7 ริกเตอร์ บนรอยเลื่อนนี้ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2521

          5. รอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี รอยเลื่อนนี้วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งต้นจากลำน้ำเมย ชายเขตแดนพม่ามาต่อกับห้วยแม่ท้อ และลำน้ำปิงใต้จังหวัดตาก ต่อลงมาผ่านจังหวัดกำแพงเพชร และนครสวรรค์ จนถึงเขตจังหวัดอุทัยธานี รวมความยาวทั้งสิ้นกว่า 250 กิโลเมตร มีรายงานแผ่นดินไหวเกิดตามรอยเลื่อนนี้ 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2476 ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2518 ที่ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก แผ่นดินไหวครั้งหลังนี้มีขนาด 5.6 ริกเตอร์






          6. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนนี้อยู่ทางด้านตะวันตก ของรอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี โดยมีทิศทางเกือบขนานกับแนวของรอยเลื่อน อยู่ในร่องน้ำแม่กลองและแควใหญ่ ตลอดขึ้นไปจนถึงเขตแดนพม่า รวมความยาวทั้งหมดกว่า 500 กิโลเมตร ในช่วงระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมามีรายงานแผ่นดินไหวขนาดเล็กหลายร้อยครั้ง ตามแนวรอยเลื่อนนี้ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่วัดได้ในระหว่างนี้ เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2526 มีขนาด 5.9 ริกเตอร์

          7. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนนี้อยู่ในลำน้ำแควน้อยตลอดสาย และต่อไปจนถึงรอยเลื่อนสะแกง (Sakaing Fault) ในประเทศพม่า ความยาวของรอยเลื่อนช่วงที่อยู่ในประเทศไทยยาวกว่า 250 กิโลเมตร มีรายงานแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนนี้มากมายหลายพันครั้ง






          8. รอยเลื่อนระนอง รอยเลื่อนระนองวางตัวตามแนวร่องน้ำของแม่น้ำกระบุรี มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 270 กิโลเมตร มีรายงานแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2521 มีขนาด 5.6 ริกเตอร์

          9. รอยเลื่อนคลองมะรุย รอยเลื่อนนี้ตัดผ่านด้านตะวันออกของเกาะภูเก็ต เข้าไปในอ่าวพังงา และตามแนวคลองมะรุย คลองชะอุน และคลองพุมดวงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จนกระทั่งไปออกอ่าวบ้านดอน ระหว่างอำเภอพุนพินกับอำเภอท่าฉาง รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 150 กิโลเมตร แผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนนี้ มีรายงานเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2476 ที่จังหวัดพังงา และทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ นอกฝั่งภูเก็ต เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2519, วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2542 และวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2542

          เนื่องจากประเทศไทยมีเขื่อนขนาดใหญ่ที่สร้างอยู่บนรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ นั่นคือ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี โดยทุกครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวขึ้นในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ประชาชนในพื้นที่ใกล้เขื่อนศรีนครินทร์ จะกังวลถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ด้วยเกรงว่า หากเกิดรอยร้าวขึ้นที่ตัวเขื่อน จะทำให้เขื่อนแตก พื้นที่ในจังหวัดกาญจนบุรี คงราบเป็นหน้ากลอง เพราะความรุนแรงของน้ำที่ถูกกักเก็บไว้ ผสมกับความเร็วกระแสน้ำที่ทะลักออกมาคงไม่ต่างจากสึนามิ จึงไม่แปลกที่จะเกิดกระแสข่าวลือเรื่องเขื่อนแตกทุกครั้งที่เกิดแผ่นดินไหว

          แต่จากการศึกษาของ ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่องความมั่นคงของเขื่อนศรีนครินทร์ต่อแรงกระทำแผ่นดินไหวร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนั้น พบว่า เขื่อนศรีนครินทร์จะเกิดความเสียหายที่สันเขื่อนมาก หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ริกเตอร์ โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ภายในระยะ 7 กิโลเมตรจากตัวเขื่อน แต่ถ้าจุดศูนย์กลางอยู่ที่ระยะห่างออกไป เช่น เกิน 50 กิโลเมตร ความเสียหายจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน 

          ซึ่งจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ยังไม่มีครั้งใดที่มีความรุนแรงถึงขนาดที่เขื่อนไม่สามารถรับได้ไหว จึงกล่าวได้ว่า เหตุการณ์ที่เขื่อนจะแตกจึงเกิดขึ้นไม่ง่ายนัก เพราะต้องใช้เวลาในการที่จะทำให้เขื่อนมีรอยรั่วหรือแตก ดังนั้นการเกิดแผ่นดินไหวจึงไม่สามารถทำให้เขื่อนแตกได้ในทันทีอย่างที่เราเข้าใจและหวาดกลัวกัน 

          หมายเหตุ : แรงเครียด คือ แรงที่เกิดจากการเสียดสีและความไม่ยืดหยุ่นของหินทำให้หินไม่สามารถเลื่อนไถลไปซึ่งกันและกันได้โดยง่าย โดยที่จะมีความเค้น (stress) เกิดขึ้นในหินและเมื่อความเค้นเพิ่มขึ้นจนถึงระดับหนึ่งที่เกินจุดสูงสุดของความเครียด (strain threshold) พลังงานศักย์ที่สะสมไว้จะถูกปล่อยออกมาเป็นความเครียดซึ่งจะถูกจำกัดลงบนระนาบตามที่การเคลื่อนที่สัมพัทธ์เกิดขึ้น ที่ทำให้เกิด "รอยเลื่อน" นั่นเอง



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดรอยเลื่อนมีพลัง 9 แห่งที่เคยเกิดในไทย อัปเดตล่าสุด 7 พฤษภาคม 2557 เวลา 22:30:43 219,036 อ่าน
TOP
x close