ปะการังฟอกขาว
ปะการังฟอกขาว
ปิดอุทยาน 7 แห่ง เร่งฟื้น ปะการังฟอกขาว (ไทยโพสต์)
อช.ประกาศปิดอุทยานแห่งชาติทางทะเลทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยรวม 7 แห่ง เฉพาะส่วนที่ปะการังตายเกิน 80% งดกิจกรรมดำน้ำ พร้อมจับมือนักวิชาการฟื้นฟูปะการัง เพาะเลี้ยงตัวอ่อนและสร้างแหล่งปะการัง เทียม คาดสถานการณ์รุนแรงขึ้นอีก
เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อช.) แถลงแนวทางการจัดการปะการังในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่เกิดปรากฏการณ์ ปะการังฟอกขาวและตายจำนวนมาก โดยนายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ประกาศปิดอุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน 7 แห่งเฉพาะบริเวณที่เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเกิน 80% ของพื้นที่ โดยไม่อนุญาตให้มีกิจกรรมดำน้ำ เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งในช่วงนี้จะศึกษาความแตกต่างระหว่างพื้นที่งดดำน้ำกับพื้นที่ดำน้ำได้ว่า มีผลต่อสภาพแวดล้อมและการฟื้นตัวของปะการังอย่างไร รวมทั้งจะตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษา เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์แนวปะการังที่เสียหายจากสภาวะฟอกขาวให้กลับคืนสู่ความสมบูรณ์อีกครั้ง
อุทยานแห่งชาติทางทะเลที่งดกิจกรรมดำน้ำ ได้แก่
1. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา บริเวณอ่าวไฟแว๊บและอีส ออฟ อีเด็น
2. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา บริเวณอ่าวสุเทพ อ่าวไม้งาม เกาะสตอร์ค หินกอง อ่าวผักกาด และแนวปะการังหน้าที่ทำการอุทยาน
3. อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี แนวปะการังบริเวณหินกลาง
4.อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง บริเวณเกาะเชือก
5. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล บริเวณเกาะบุโหลนไม้ไผ่ เกาะบุโหลนรังผึ้ง
6. อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล บริเวณเกาะตะเกียง เกาะหินงาม เกาะราวี หาดทรายขาว เกาะดง
7. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร บริเวณเกาะมะพร้าว
นายสุนันต์กล่าวว่า จากข้อเสนอของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้มีการปิดอุทยานแห่งชาติทาง ทะเลฝั่งอันดามันทั้งหมดนั้น คงมีผลกระทบกับหลายฝ่ายอย่างแน่นอน กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้พิจารณาทั้งด้านกายภาพของพื้นที่ เศรษฐกิจและสังคม และเชิญนักวิชาการที่เกี่ยวข้องจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทางทะเลทุกแห่งมาหารือในการแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาว ซึ่งมีข้อสรุปว่าควรปิดพื้นที่ในส่วนที่ปะการังตายเกิน 80% ให้เป็นเขตหวงห้าม หากยังพบแหล่งปะการังเสียหายเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้ง 7 แห่งดังกล่าว ก็มอบให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสั่งงดกิจกรรมดำน้ำได้ทันที
"กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ร่วมมือนักวิชาการสถาบันการศึกษา เพื่อร่วมกันเพาะเลี้ยงตัวอ่อนปะการัง โดยเฉพาะปะการังเขากวางที่ตายมากที่สุด ทำแปลงเลี้ยงปะการังเพิ่มขึ้นและสร้างปะการังเทียมให้เป็นที่อยู่อาศัยของ สัตว์น้ำ โดยในจุดที่ห้ามดำน้ำก็จะร่วมกันศึกษาปัญหาปะการังฟอกขาว ซึ่งมีสาเหตุทั้งภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและฝีมือมนุษย์ นอกจากนี้ยังเตรียมจัดหาแหล่งดำน้ำใหม่เพื่อระบายนักท่องเที่ยวไม่ให้หนาแน่นเกิน ไป เนื่องจากคาดว่าปัญหาปะการังฟอกขาวคงจะเกิดขึ้นอีก และอยู่ในภาวะรุนแรงในขั้นวิกฤติ" อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าว
นายสุนันต์กล่าวเพิ่มเติมว่า การฟอกขาวของปะการังเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น ปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทะเลเปลี่ยนแปลง รังสีจากดวงอาทิตย์ แสงแดดและพายุ ตะกอนและความขุ่นของน้ำทะเล น้ำจืดเข้ามาปะปนน้ำทะเล สภาพสารและธาตุอาหารในน้ำทะเล สารเคมีหรือสารชีวภาพที่มนุษย์ใช้ในชีวิต ประจำวัน และเชื้อโรค เป็นต้น
แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในครั้งนี้เกิดจากภาวะโลกร้อน โดยอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส ส่งผลให้สาหร่ายซูแซนเทลลีที่อาศัยในปะการังทนอยู่ไม่ได้ และหนีออกมาจากปะการัง ทำให้ปะการังกลายเป็นสีขาว ไม่มีสีสันคล้ายหินปูน เมื่อเกิดการฟอกขาวแล้ว ปะการังจะยังไม่ตายทันที แต่จะอ่อนแอและมีชีวิตอยู่ได้อีก 2-3 สัปดาห์ หากอุณหภูมิน้ำทะเลหรือสภาพแวดล้อมกลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์ ปะการังจะสามารถปรับสภาพและฟื้นตัวได้ ดังนั้นหากในช่วง 2-3 สัปดาห์อุณหภูมิในสภาพอากาศลดลงหรือมีฝนตกลงมา ก็จะช่วยให้อุณหภูมิน้ำทะเลลดลงเช่นกัน มีโอกาสที่ปะการังจะกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก