

สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
เท็ปโกหมดทางแล้ว เดินตามรอย "เชอร์โนบิล" เตรียมปิดตายเตาปฏิกรณ์ 1-4 แถมมีสิทธิ์พ่วงเตา 5-6 ด้วย ตอกย้ำรังสีแพร่กระจายจริง พบไอโอดีน 131 สูงเกินกำหนดกว่า 3 พันเท่าในน้ำรอบโรงไฟฟ้า สภาที่ปรึกษาฯ โผล่แนะ "มาร์ค" ให้ไทยเป็นแหล่งพักพิงผู้ประสบภัยเมืองปลาดิบ!
เมื่อวันพุธ บริษัทเท็ปโก ผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้ประกาศว่า เตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 1-4 จะเลิกใช้งานเป็นการถาวร และจะหารือกับชาวบ้านในท้องถิ่นว่าจะปิดเตาหน่วยที่ 5-6 ซึ่งได้ถูกปิดใช้งานโดยปลอดภัยแล้วด้วยหรือไม่
ประธานบริหาร ทสึเนฮิซะ คัตสุมาตะ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวเป็นครั้งแรก โดยยอมรับว่า บริษัทไม่สามารถลดความร้อนของเตาปฏิกรณ์ได้ และต้องปิดเตาที่ 1-4 เพื่อความปลอดภัย ซึ่งบริษัทพร้อมจะจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี บริษัทต้องขอโทษต่อประชาชนที่ต้องดับกระแสไฟฟ้าเป็นช่วงๆ เพื่อรับมือกับภาวะพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอ
รองผู้อำนวยการองค์การความปลอดภัยอุตสาหกรรมและนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ฮิเดฮิโกะ นิชิยามะ แถลงว่า น้ำทะเลในบริเวณใกล้กับเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 1 ของโรงไฟฟ้ามีกัมมันตรังสีของธาตุไอโอดีน 131 ในปริมาณสูงเกินข้อกำหนดตามกฎหมาย 3,355 เท่า แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ เพราะประชาชนในบริเวณนั้นได้อพยพออกไปหมดแล้ว และไม่มีการจับสัตว์น้ำในพื้นที่แถบนั้น โดยไอโอดีน 131 สามารถสลายตัวหมดในเวลา 8 วัน ดังนั้นต่อให้พบกัมมันตรังสีในสัตว์น้ำในปริมาณมาก แต่ก็จะลดลงอย่างมากเมื่อไปถึงประชาชน
ก่อนหน้านี้ นิชิยามะยอมรับว่า น้ำที่ปนเปื้อนบางส่วนจากโรงไฟฟ้าได้ซึมลงไปในทะเล แต่ไม่รู้ว่าจุดรั่ว และเมื่อวันก่อนมีการพบธาตุพลูโตเนียมในดินนอกโรงไฟฟ้าด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าปริมาณที่พบไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่การพบได้สนับสนุนข้อสงสัยที่ว่า น้ำปนเปื้อนรังสีกำลังรั่วไหลจากแท่งเชื้อเพลิงปรมาณูที่เสียหาย
ยังมีรายงานว่า ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาใช้แผ่นคลุมชนิดพิเศษห่อหุ้มอาคารครอบเตาปฏิกรณ์เพื่อลดการแผ่รังสี และสูบน้ำที่ปนเปื้อนรังสีไปเก็บไว้ในลำเรือบรรทุกน้ำมัน ขณะเดียวกันทางการได้เชิญบรรดาผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติไปช่วยแก้ไขวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ร้อนจัด โดยสหรัฐอเมริกาได้ให้ญี่ปุ่นยืมหุ่นยนต์ที่ใช้ในอิรักและอัฟกานิสถาน เพื่อนำไปใช้ถ่ายรูปและเก็บกวาดเศษซากปรักหักพังภายในอาคารเตาปฏิกรณ์ ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถเข้าไปได้เนื่องจากมีรังสีในปริมาณสูง ขณะที่ฝรั่งเศสกำลังส่งทีมผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทอาเรวา ผู้ผลิตเตาปฏิกรณ์ ไปช่วย
และเมื่อค่ำวันอังคาร ประธานบริษัทเท็ปโก มาซาทากะ ชิมิซุ วัย 66 ปี ได้เข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาอาการความดันโลหิตสูงและหน้ามืด หลังจากไม่ได้ปรากฏตัวในที่สาธารณะมานาน 2 สัปดาห์
หนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุนรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังคิดใช้ผ้าทอเส้นใยชนิดพิเศษคลุมเตาปฏิกรณ์ 3 หน่วยที่เสียหายหนัก และติดตั้งเครื่องกรองอากาศเพื่อลดการแผ่รังสี และอีกแผนการหนึ่งคือ นำเรือบรรทุกน้ำมันมาจอดหน้าเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 2 เพื่อปั๊มเอาน้ำที่ปนเปื้อนรังสีไปเก็บไว้บนเรือ โฆษกรัฐบาล ยูกิโอะ เอดาโนะ ไม่ได้ยืนยันข่าวนี้ แต่บอกว่า ผู้นำญี่ปุ่นและผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์กำลังหารือถึงหนทางที่เป็นไปได้ต่าง ๆ
ส่วนที่ประเทศไทยนั้น นายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แถลงข่าวว่า สภาที่ปรึกษาฯ ได้เสนอแนะเรื่องแนวทางความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศญี่ปุ่นกรณีดังกล่าวแก่คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีหลายเรื่อง แต่ที่น่าสนใจคือการเสนอให้ใช้ไทยเป็นแหล่งพำนักชั่วคราวเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจแก่ชาวญี่ปุ่น โดยเน้นกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก สตรี และครอบครัวคนไทยที่สมรสกับชาวญี่ปุ่น เป็นต้น โดยให้รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกและจัดส่งผู้ประสบภัย
"แหล่งอาศัยควรพิจารณาจากสถานที่พักของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวไทย โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าที่พักในอัตราที่ส่วนลดพิเศษ หรืออาจเลือกสถานที่พักขนาดใหญ่ของรัฐที่มีสภาพดี เช่น หมู่บ้านนักกีฬา เป็นต้น"
สำหรับเรื่องการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และอดีต รมว.พลังงาน ได้กล่าวในงานสัมมนา "สมดุลพลังงานไฟฟ้า เพื่อเศรษฐกิจและสังคมยั่งยืน" ว่า เรื่องนิวเคลียร์ไม่ควรเอามาเป็นอารมณ์หรือปิดประตู ควรเก็บไว้เป็นทางเลือกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แต่ยอมรับว่ากรณีญี่ปุ่นนั้นทำให้การตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้แผนการก่อสร้างชะงักไป และอาจต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจใหม่เป็น 10 ปี
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า ตามแผนไทยจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังการผลิตโรงละ 1,000 เมกะวัตต์ จำนวน 5 โรง แต่ปัญหาญี่ปุ่นทำให้รัฐบาลต้องทบทวนอย่างรอบคอบที่สุด ซึ่งหากไม่สามารถเกิดได้ ก็คาดว่าต้องเสริมพลังงานถ่านหินสะอาด ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ อยู่ที่การยอมรับของประชาชน

ภาพโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฟุกุชิมะ ระเบิด
[30 มีนาคม] ญี่ปุ่นส่งสัญญาณ สั่งรับมือขั้นสูงสุด หลังพบ พลูโตเนียม โผล่
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะน่าวิตก รัฐบาลญี่ปุ่นส่งสัญญาณเตรียมพร้อมขั้นสูงสุด ขณะที่พบพลูโตเนียมปนเปื้อนในดินสหรัฐ เตือนหากเข้าสู่ร่างกายอันตราย เสี่ยงเป็นมะเร็งสูง
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (29 มีนาคม) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นาโอโตะ คัง กล่าวกับสภาผู้แทนราษฎรว่า รัฐบาลกำลัง "เตรียมพร้อมขั้นสูงสุด" ในการแก้ไขวิกฤติของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ซึ่งเขาบอกว่า สถานการณ์ที่โรงไฟฟ้าดังกล่าวยังคง "ไม่สามารถคาดเดาได้" และนับแต่นี้ไปรัฐบาลจะ "แก้ปัญหานี้ขณะอยู่ในภาวะเตรียมพร้อมขั้นสูงสุด"
เมื่อถูกถามว่า รัฐบาลจะขึ้นภาษีเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายในการฟื้นฟูประเทศหรือไม่ คังไม่ได้ปฏิเสธ โดยบอกว่าตอนนี้ยังไม่ได้คิด แต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่อาจพิจารณา ซึ่งผลสำรวจโพลล์เมื่อวันอาทิตย์ระบุว่า ชาวญี่ปุ่นกว่า 2 ใน 3 จะสนับสนุนการเก็บภาษีพิเศษเพื่อการนี้
ด้านบริษัทเทปโก ผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้า ออกมาระบุว่า มีการตรวจพบธาตุพลูโตเนียมในดินจากการเก็บตัวอย่างที่โรงไฟฟ้าดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ดี นายยูกิโอะ เอดาโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ทำหน้าที่โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ระดับรังสีที่พบยังไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ และรัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ในระหว่างการดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้สารกัมมันตรังสีอันตรายรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ตอนนี้ยอมรับว่าน่าวิตกอย่างยิ่ง
ขณะที่นายฮิเดฮิโตะ นิชิยามะ เจ้าหน้าที่สำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ระบุว่า การพบพลูโตเนียมดังกล่าวบ่งบอกว่าแท่งเชื้อเพลิงบางส่วนได้รับความเสียหาย จึงทำให้สารกัมมันตภาพรังสีอันตรายปนเปื้อนออกมากับน้ำหล่อเย็นของแท่งเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม โอกาสที่มนุษย์จะรับกัมมันตภาพรังสีจากพลูโตเนียมมีน้อยมาก เนื่องจากเป็นธาตุหนัก ไม่สลายตัวและรวมตัวกับธาตุน้ำหนักน้อย ๆ ทำให้ธาตุพลูโตเนียมจะปล่อยสารกัมมันตรังสีตกค้างอยู่นิ่ง ๆ ไม่กระจายตัวง่าย ๆ เหมือนกับซีเซียมและไอโอไดน์ แต่ทว่า ธาตุพลูโตเนียมถือเป็นธาตุที่มีพิษร้ายแรง มีอายุยืนยาวหลายแสนปี หากใครสูดดม สารกัมมันตภาพรังสีนั้นจะอยู่ในร่างกายตลอดไป และฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่อ โครงสร้างเซลล์พันธุกรรม ทำให้เกิดโรคมะเร็งตามมาได้
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ยังได้พบสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนในน้ำหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ที่ 2 มีค่ารังสี 1,000 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าที่รัฐบาลกำหนดไว้ถึง 4 เท่า และเป็นระดับที่ก่อให้เกิดอาการแพ้รังสี เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ได้ในเวลาหนึ่งชั่วโมง ทำให้คนงานซึ่งกำลังซ่อมแซมระบบหล่อเย็นต้องถอนกำลังออกมาก่อน เพื่อความปลอดภัย โดยปัญหาเฉพาะหน้าในเวลานี้คือ การหาทางปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนรังสีโดยปลอดภัย ซึ่งเฉพาะในอุโมงค์ของเตาปฏิกรณ์ที่ 2 เพียงเตาเดียวมีน้ำถึง 6,000 ลูกบาศก์เมตร
ด้านความคืบหน้าในการค้นหาผู้เสียชีวิต ตำรวจเผยว่า พบศพผู้เสียชีวิตในเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิถล่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเมื่อวันที่ 11 มีนาคมแล้วกว่า 11,000 ศพ คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดคงเกิน 18,000 ราย มูลค่าความเสียหายอาจสูงถึง 310,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 9,300,000 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายเป็นประวัติการณ์
ขณะที่หนังสือพิมพ์โยมิอูริรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังไม่พอใจการแก้ปัญหาของเทปโกมากขึ้นเรื่อย ๆ และกำลังพิจารณาที่จะโอนกิจการเป็นของรัฐเป็นการชั่วคราว อย่างไรก็ดี เอดาโนะและเจ้าหน้าที่ของเท็ปโกปฏิเสธว่าไม่มีการหารือกันถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด
วันเดียวกันนี้ นายชาญชัย เอื้อชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักด่านอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และคณะ เดินทางไปเก็บตัวอย่างปลาทูน่าสกริปแจ็ก ของบริษัท เซาท์อีสต์เอเชียนแพคเกจจิงแอนด์แคนนิ่ง จำกัด ที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 18-19 มีนาคม 2554 จำนวน 21,280 กิโลกรัม ที่เข้ามายังท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนส่งต่อมายังสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบังเพื่อตรวจสอบก่อน จากนั้น อย.จะส่งตัวอย่างปลาจำนวน 2 กิโลกรัม ไปตรวจหาสารปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับส่วนที่เหลือจะต้องอายัดไว้ก่อน หากผลการตรวจออกมา ไม่พบสารปนเปื้อน ทางบริษัทจึงจะสามารถส่งเข้าโรงงานผลิตอาหารกระป๋องต่อไปได้
ด้าน รศ.มลุลี ตัณฑวิรุฬห์ อาจารย์ประจำสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า จากการตรวจพบการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในมันเทศ ที่นำเข้าจาก จ.อิบารากิ บนเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น อยู่ในระดับต่ำ ไม่เกินมาตรฐาน โดยตรวจพบได้เพียง 15 Becquerel ซึ่งเกณฑ์ที่เป็นอันตรายจะต้องอยู่ที่ประมาณ 100 Becquerel ต่อกิโลกรัม ดังนนั้น หากประชาชนจะบริโภคก็สามารถบริโภคได้ในปริมาณที่เหมาะสม แต่ถ้าจะบอกว่าปริมาณเท่าใดจึงจะเป็นอันตรายต่างร่างกาย ก็ต้องบริโภคในจำนวนที่มากกว่า 1 กิโลกรัมขึ้นไปซึ่งคงไม่มีใครรับประทานได้
"กัมมันตรังสีมีทั้งประโยชน์และโทษ ทางการแพทย์มีการฉายรังสีในการรักษามากกว่าหลายเท่า ถ้าเทียบกับการปนเปื้อน"

[29 มีนาคม] สหรัฐฯ - จีน ยันพบสารกัมมันตรังสีเข้าประเทศแล้ว
เทปโก เผย มีน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ออกจากอาคารกังหันผลิตไฟฟ้า ของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ขณะที่มลรัฐโอไฮโอ ยืนยัน พบสารกัมมันตรังสี จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ของญี่ปุ่น ในน้ำฝน
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ของมลรัฐโอไฮโอ รายงานว่า พบระดับสารกัมมันตรังสีในน้ำฝน ซึ่งนับเป็นรอบที่ 3 ที่ตรวจพบสารปนเปื้อนในน้ำฝน หลังจากสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือ อีพีเอ ได้ทำการตรวจพบสารอย่างเดียวกันในมลรัฐแมตซาชูเซตส์ และเพนซิลวาเนีย มาก่อนหน้านี้
โดย นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเคส เวสเทิร์น รีเซิร์ฟ ในคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ เปิดเผยว่า ได้ตรวจพบสารรังสีไอโอดีน 131 จากญี่ปุ่น ในน้ำฝน ที่รองมาจากหลังคาอาคารเรียน ขณะที่ เจอรัล์ด มาทิซอฟ อาจารย์ด้านธรณีวิทยา ซึ่งตรวจสอบน้ำฝนที่ตกลงในทะเลสาบอีรี ให้กับอีพีเอ ชี้ว่า ในทางทฤษฎี ไอโอดีน 131 อาจมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใดก็ได้ แต่ก็น่าจะเป็นจากญี่ปุ่น เพราะโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ไม่มีการรั่วไหลของรังสีนั่นเอง และได้มีการประเมินค่าระดับกัมมันตภาพรังสีว่า มีประมาณ 1 ใน 10 จากระดับพื้นฐานตามธรรมชาติ ซึ่งยังไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์
อย่างไรก็ตาม อีพีเอ ชี้แจง ระดับสารกัมมันตรังสี ที่เพิ่มนในน้ำฝนนั้น คาดว่า เป็นผลมาจากเหตุการณ์นิวเคลียร์ในญี่ปุ่น เนื่องจากสารรังสี สามารถลอยไปตามอากาศและจะมีการเพิ่มการควบคุม ตรวจตราน้ำฝน-น้ำดื่ม ที่อาจรับรังสีได้ เพื่อป้องกันไว้ก่อนด้วย
ด้าน บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ หรือ เทปโก ได้ออกมาเผยว่า ทีมงานได้ตรวจพบน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี อยู่ที่บริเวณคูน้ำ ที่เชื่อมต่อกับเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิจิ
นอกจากนี้ทาง เทปโก ได้เผยว่า เมื่อมีการนำน้ำดังกล่าวไปตรวจสอบ พบว่า น้ำดังกล่าวมีระดับของรังสีสูงกว่า 1,000 มิลลิซีเวิร์ต / ชั่วโมง ซึ่งทาง เทปโก ได้เผยว่าจะมีการตรวจสอบต่อไปว่าน้ำในบริเวณดังกล่าวได้ไหลออกไปสู่ทะเลหรือไม่
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีน ได้ออกมาเผยเพิ่มเติมว่า ว่าได้มีการตรวจพบสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ของประเทศญี่ปุ่นในหลาย ๆ พื้นที่ของจีน
สำหรับสารกัมมันตรังสีที่ตรวจพบนั้นได้แก่ ไอโอดีน-131 ซึ่งมีระดับต่ำในอากาศที่ทิศเหนือของมณฑลเฮย์หลงเจียง รวมทั้งพบสารกัมมันตรังสีดังกล่าวในมณฑลเจียงซู, มณฑลอานฮุย, มณฑลเจ้อเจียง, มณฑลกวางตุ้ง,นครเซี่ยงไฮ้ และเขตปกครองตนเองกว่างซี
หลังการตรวจพบได้มีการเปิดเผยว่าระดับไอโอดีนที่พบไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน แต่ทำให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างว่าสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ สามารถแพร่กระจายไปถึงจีนได้แล้ว

[28 มีนาคม] พบน้ำทะเลปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี 1,850 เท่า
เทปโก้ตรวจพบสารกัมมันตรังสี ไอโอดีนสูงกว่าระดับปกติถึง 1,850 เท่า ในน้ำทะเล ห่างจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 5 และ 6 ประมาณ 30 เมตร ขณะที่โฆษกรัฐบาลตำหนิเทปโก้อย่างรุนแรง ที่อ่านระดับสารกัมมันตรังสีคลาดเคลื่อน
วันนี้ (28 มีนาคม) เจ้าหน้าที่บริษัทเทปโก ผู้ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้วัดปริมาณสารกัมมันตรังสีไอโอดีนในทะเลที่อยู่ห่างเตาปฏิกรณ์หมายเลข 5 และ 6 อยู่ระหว่างปิดซ่อมแซม ขณะเกิดแผ่นดินไหวพบว่า มีปริมาณสารกัมมันตรังสี 1,850 เท่า จากระดับปกติ สูงกว่าปริมาณที่วัดได้เมื่อวันเสาร์ ที่ 26 มีนาคม ซึ่งอยู่ที่ 1,250 เท่า แต่กระแสน้ำในมหาสมุทรจะทำให้อนุภาคกัมมันตรังสีสลายตัวได้เอง อนุภาคเหล่านี้จะเจือจางไปตามกาลเวลาและถูกดูดซับโดยสาหร่ายทะเล หรือสัตว์ทะเล และยืนยันว่า ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ หรือส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของอาหารทะเล
ขณะที่ระดับสารกัมมันตรังสีในอากาศนอกเขตอพยพรอบโรงไฟฟ้า และในกรุงโตเกียวซึ่งอยู่ใต้ลงมา 240 กิโลเมตรยังอยู่ในระดับปกติ โดยเครื่องวัดค่าของรอยเตอร์เมื่อบ่ายวันที่ 27 มีนาคม ชี้ว่า ระดับสารกัมมันตรังสีโดยรอบอยู่ที่ 0.16 ไมโครซีเวิร์ต/ชั่วโมง ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติของสมาคมนิวเคลียร์โลกที่อยู่ระหวาง 0.17-0.39 ไมโครซีเวิร์ต/ชั่วโมง
ทางด้าน รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตำหนิการทำงานของเทปโก้อย่างรุนแรง หลังอ่านระดับสารกัมมันตรังสีผิดพลาดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ซึ่งเทปโก้แถลงว่า พบน้ำภายในอาคารกังหันเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี สูงกว่าปกติถึง 10 ล้านเท่า จนนำไปสู่การอพยพคนงานออกจากพื้นที่โดยด่วน ก่อนที่เทปโก้จะแก้ไขเป็น 100,000 เท่า ในเวลาต่อมา
พร้อมกันนี้ นายยูคิโอะ เอดาโนะ โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลขอสั่งการให้ เทปโก้ อย่าทำอะผิดพลาดซ้ำอีก แม้เข้าใจว่า พนักงานทุกคนเหน็ดเหนื่อย จากความพยายามยับยั้งวิกฤตินิวเคลียร์กันตลอด 24 ชั่วโมง ก็ตาม
ขณะที่บริษัทเทปโกชี้แจงว่า ความจริงแล้วระดับสารกัมมันตรังสีสูงเกินเกณฑ์ปกติ 100,000 เท่า ไม่ใช่ 10 ล้านเท่าอย่างที่แถลงข่าวไปในครั้งนั้น จึงรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะไม่ให้เกิดความผิดพลาดนำไปสู่ความตื่นตระหนกอีก ทั้งนี้คนงานกำลังหาทางกำจัดน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ไหลออกจากเตาปฏิกรณ์
ด้านเจ้าหน้าที่สำนักงานนิวเคลียร์ญี่ปุ่นกล่าวว่า ปั๊มที่มีอยู่แค่เครื่องเดียวไม่สามารถรับมือน้ำปนเปื้อนปริมาณมหาศาลได้ และกำลังจะนำปั๊มมาเพิ่มอีก 2 เครื่อง ทั้งนี้น้ำปนเปื้อนที่รั่วไหลจากเตาปฏิกรณ์ที่ 3 ทำให้คนงาน 3 คนถูกนำส่งโรงพยาบาลด้วยอาการพุพองหลังเหยียบย่ำน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ระดับสูงกว่าปกติ 10,000 เท่า
ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเผยว่า สถานการณ์โดยรวมในโรงงานนี้เมื่อวันอาทิตย์ยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยยูกิโอะ เอดาโนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า มีการคาดเดาว่าจะเกิดปัญหายุ่งยากใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว และการสะสมของน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีสูงคือตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างแน่ชัดว่าน้ำปนเปื้อนนี้รั่วออกมาจากแกนกลางเตาปฏิกรณ์
ด้านนายยูกิโอะ อามาโนะ ผู้อำนวยการทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) กล่าวเตือนว่า วิกฤตินิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ถ้าไม่ยืดเยื้อนานหลายเดือน ก็อาจกินเวลานานหลายสัปดาห์เป็นอย่างน้อย เนื่องจากโรงงานเสียหายอย่างมาก "อุบัติเหตุครั้งนี้นับว่าร้ายแรงมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานทั้งหมด และมันยังไม่จบสิ้น" เขากล่าวกับนิวยอร์กไทมส์
ทั้งนี้ วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในยูเครนระเบิดซึ่งนับว่าร้ายแรงที่สุดในโลก ยังต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะรักษาเตาปฏิกรณ์ให้เสถียรได้ และอีกหลายเดือนในการกำจัดสารกัมมันตรังสีและปิดตายโรงงาน ขณะนี้เตาปฏิกรณ์ 2 ใน 6 หน่วยของฟุกุชิมะสามารถปิดอย่างปลอดภัยแล้ว ยังเหลืออีก 4 เตาปฏิกรณ์ที่เสี่ยงอันตราย และเกิดการพวยพุ่งของไอน้ำและควันออกมาเป็นระยะ
แต่ทว่า เอ็ดวิน ไลแมน นักฟิสิกส์มองว่า ต่อให้วิกฤตินิวเคลียร์ครั้งนี้เลวร้ายถึงที่สุดแล้ว ก็อาจไม่ได้แย่อย่างที่น่าจะเป็น โดยหากหม้อปฏิกรณ์รั่วไหลจริง การปลดปล่อยสารรังสียูเรเนียมก็อาจมีเพียง 1-10% ส่วนพลูโตเนียม และไอโซโทปอื่นๆ ที่ระเหยได้น้อยกว่านั้นอาจปล่อยรังสีออกมาไม่ถึง 1%
ขณะที่เอียน ฮัตชิสัน อาจารย์ด้านนิวเคลียร์ศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ชี้ว่า ไม่ได้ประหลาดใจกับระดับสารกัมมันตรังสีในน้ำรอบ ๆ โรงไฟฟ้า เนื่องจากมีการใช้น้ำจำนวนมากในการฉีดและปั๊มเข้าสู่เตาปฏิกรณ์หลายเครื่อง เพื่อลดความร้อน
ขณะเดียวกัน นายเท็ด ฮาร์ตเวล เจ้าหน้าที่หน่วยตรวจสอบสิ่งแวดล้อมชุมชนของสหรัฐอเมริกา เผยว่า ตรวจพบสารกัมมันตรังสีในรูปไอโอดีน 131 และซีนอน 133 ที่สถานีตรวจจับสารกัมมันตรังสีบริเวณพิพิธภัณฑ์ทดสอบปรมาณูของเมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา ของสหรัฐ แต่ยังมีปริมาณที่น้อยมาก ๆ จนไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
เขาแสดงความมั่นใจว่า สารกัมมันตรังสีเหล่านี้มาจากญี่ปุ่น เพราะปกติจะไม่ค่อยตรวจพบสารกัมมันตรังสีที่เนวาดาบ่อยครั้ง และตอนนี้ก็มีแต่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และนอกจากเนวาดาที่พบรังสีแล้ว ยังมีรายงานอีกว่ามีการตรวจพบสารกัมมันตรังสีในหลายเมืองของสหรัฐ เช่น แคลิฟอร์เนีย โคโลราโด ฮาวาย และกรุงวอชิงตัน แต่ที่ตรวจพบทั้งหมดก็ยังมีปริมาณที่น้อยมาก ไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อมนุษย์
เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพของรัฐเนวาดา ยืนยันว่า สารกัมมันตรังสีที่มาจากญี่ปุ่นจะไม่เป็นอันตราย เพราะกว่าจะลอยมาได้ต้องข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกกว่า 10,000 ไมล์ และระหว่างนั้นเองก็แตกตัวและสลายไปในอากาศบ้าง จนถึงระดับที่ไม่สามารถตรวจจับได้และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์