x close

เจาะชีวิต 2 บุคลากรการแพทย์ ทุ่มหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์


วิชิต คำไกร
วิชิต คำไกร เจ้าของรางวัลคนดีของแผ่นดินปี 2

เพ็ญลักขณา ขำเลิศ
เพ็ญลักขณา ขำเลิศ เจ้าของรางวัลคนดีของแผ่นดินปี 2




         หลายครั้งที่รายการคนค้นฅนเคยนำเสนอเรื่องราวของบุคลากรทางการแพทย์ที่คอยดูแลช่วยเหลือชาวบ้านอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย จนได้รับการยกย่องจากผู้คนมากมาย และนี่ก็เป็นอีกครั้ง ที่ทางรายการคนค้นฅน ได้หยิบเรื่องราวของ 2 บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอุทิศตนเพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากมานำเสนอ ซึ่งความทุ่มเทและมุ่งมั่นของทั้งสองคน ก็ส่งผลให้พวกเขาได้รับรางวัลคนดีของแผ่นดินปี 2


         ณ โรงพยาบาลภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นภาพของ "เพ็ญลักขณา ขำเลิศ"พยาบาลวิชาชีพที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลแห่งนี้อยู่ในยูนิฟอร์มสีขาวของสาวพยาบาล แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เธอละทิ้งหน้าที่ เพราะเธอบอกว่า หน้าที่ของเธอไม่ใช่แค่การดูแลผู้ป่วยตามเตียงในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่เธอยังอุทิศตัวเองให้กับเตียงผู้ป่วยนับร้อยนับพันหลังคาเรือนในอำเภอภาชี ในฐานะ "พยาบาลไร้หมวก"

         "คำว่าพยาบาลมันไม่ได้อยู่ที่เครื่องแบบ แต่มันอยู่ที่หัวใจ แม้ว่าเราไม่ได้แต่งเครื่องแบบ หลังหมดเวลาราชการ พอออกไปข้างนอก ไปเจอคน เราก็อยากช่วย ก็เลยมีความรู้สึกว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องใส่หมวกเลย เพราะเราออกไปข้างนอกไม่ต้องบอกให้คนอื่นรู้หรอก"เพ็ญลักขณา ขำเลิศ หรือ พี่ติ๋ง เจ้าของรางวัลคนดีของแผ่นดินปี 2 บอกถึงแนวคิด "พยาบาลไร้หมวก" ของตัวเธอเอง



เพ็ญลักขณา ขำเลิศ  เจ้าของรางวัลคนดีของแผ่นดินปี 2


         พี่ติ๋ง เล่าให้ฟังว่า นอกจากการทำงานในโรงพยาบาลตามปกติแล้ว ตัวเธอเองยังมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยถึง 7 ตำบล 60 หมู่บ้าน ในอำเภอภาชี โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ของโรงพยาบาล เช่น แพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อดูแลชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้ป่วย

         จุดเริ่มต้นของการลงพื้นที่ของพี่ติ๋ง มาจากการที่พี่ติ๋งสังเกตเห็นว่า คนไข้ในโรงพยาบาลมีจำนวนมากจนเตียงผู้ป่วยรองรับไม่เพียงพอ และพี่ติ๋งยังสังเกตต่อไปอีกด้วยว่า คนไข้บางรายมาซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะไม่หายจากอาการความเจ็บปวดเหล่านั้น ในที่สุด พี่ติ๋งก็ตัดสินใจว่า ควรจะลงไปหาสาเหตุที่แท้จริงจากที่บ้านของผู้ป่วยเอง

         และหลังจากพี่ติ๋ง หรือหมอติ๋งที่คนไข้เรียกกัน เริ่มลงไปสำรวจถึงบ้านของผู้ป่วยแต่ละรายก็พบว่า ผู้ป่วยหลายรายไม่เข้าใจในสิ่งที่แพทย์ พยาบาลให้คำแนะนำไป ทำให้ปฏิบัติตนอย่างผิด ๆ เป็นเหตุให้อาการต่าง ๆ ไม่หาย รวมทั้งผู้ป่วยส่วนใหญ่มีฐานะยากจน จึงกลายเป็นข้อจำกัดในการรักษา เช่น แพทย์สั่งให้ทานยาหลังอาหาร 3 มื้อ แต่ด้วยฐานะของคนไข้ที่ไม่มีเงินมากนัก จึงทานอาหารได้เพียงแค่วันละมื้อเท่านั้น และเหตุนี้เองจึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาอย่างไม่ต้องสงสัย และทำให้คนไข้คนเดิมกลับมายังโรงพยาบาลอยู่เรื่อย ๆ

         พี่ติ๋ง มองว่า การที่แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ได้ลงไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วยถึงบ้าน น่าจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทำให้เธอลงพื้นที่มาตลอดสิบกว่าปี และการลงพื้นที่ของพี่ติ๋งไม่ใช่เป็นเพียงการไปเยี่ยมเยียนทั่ว ๆ ไป แต่ยังต้องพูดคุยกับผู้ป่วย และญาติ ซักถามข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อหวังให้เกิดผลในการรักษามากที่สุด



เพ็ญลักขณา ขำเลิศ  เจ้าของรางวัลคนดีของแผ่นดินปี 2


         "งานนี้เป็นงานที่ท้าทายนะ ว่าเราจะช่วยเขาได้มั้ย ใจเราอยากช่วยเขา ถ้าการช่วยของเรา มันทำให้เขารู้สึกว่า ทุกอย่างมันราบรื่นขึ้น มันก็เหมือนกับว่า สิ่งที่เราลงมาช่วย ลงมาทำ มันสำเร็จ แล้วเราก็ได้ความสุขและความผูกพันกลับไป" พี่ติ๋ง เผยความรู้สึก

         นอกจากการดูแลผู้ป่วยในและนอกโรงพยาบาลแล้ว หลายคนอาจไม่รู้อีกว่า อีกสิ่งหนึ่งที่พี่ติ๋งต้องคอยดูแลคือ สุขภาพของตัวเธอเอง หลังจากตรวจพบโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่นั่นก็ไม่ใช่เงื่อนไขที่จะทำให้เธอย่อหย่อนต่อหน้าที่การงานที่เธอต้องรับผิดชอบ กลับกัน พี่ติ๋ง ยังมองว่า การที่เธอก็มีสภาพเหมือนคนป่วยเช่นเดียวกับผู้ป่วยคนอื่น ๆ เป็นผลดีที่ทำให้เธอไม่เอ้อระเหยต้อง ไม่ต้องคอยนึกถึงตัวเองมากนัก ว่า ใครจะมาให้อะไรกับเธอ เพราะทุกวันที่ลืมตาตื่นขึ้น พี่ติ๋ง ต่างหากที่จะเป็นฝ่ายคิดว่า วันนี้จะให้อะไรกับใคร และจะสามารถช่วยเหลือใครได้บ้างมากกว่า

         "การที่เราจะเป็นพยาบาลที่จะดูแลผู้ป่วยได้ ต้องเรียนรู้ตัวเองก่อนว่าเป็นอย่างไร แล้วค่อยไปเรียนรู้ชีวิตของคนไข้ ถ้าเราเป็นพยาบาลอยู่ในโรงพยาบาล เราเห็นแต่โรคนะ แต่ถ้าเราเข้าใจมนุษย์ด้วย เข้าใจโลก เห็นชีวิตด้วย แล้วมาผสมผสานกันระหว่างวิชาการ ตัวโรค ตัวคนไข้ มันได้ผลหลายอย่าง"

         ต้องยอมรับว่า ด้วยกำลังของคนกลุ่มเล็ก ๆ ของพี่ติ๋งนั้น ไม่เพียงพอต่อการดูแลชาวบ้านนับร้อยนับพันได้อย่างทั่วถึง ทำให้พี่ติ๋งเดินหน้าคิดโครงการหนึ่งชีวิตหนึ่งตำบลคนภาชี สร้างเป็นเครือข่ายขึ้น เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของคนในโรงพยาบาลให้เห็นคุณค่าของเพื่อนมนุษย์มากขึ้น รวมทั้งโครงการดีช่วยป่วย รวยช่วยจน ที่จะนำคนที่มั่งมีลงมาหยิบยื่นช่วยเหลือคนยากไร้ เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาด ยังไม่รวมถึงโครงการจิตอาสาต่าง ๆ ที่พี่ติ๋งเริ่มเป็นต้นคิดหาอาสาสมัครมาช่วยดูแลผู้ป่วย ซึ่งอาสาสมัครแม้ว่าจะไม่ได้รับเงินตอบแทน แต่ต่างก็เข้ามาทำงานด้วยใจจริง และได้ความสุขภายในจิตใจเป็นสิ่งตอบแทนกลับไป

         "ที่พี่ทำทุกวันนี้ทำเพื่อคนไข้ ไม่ได้ทำเพื่อตอบสนองนโยบายเอาเงินมาแลกกับงาน งานที่พี่ทำคืองานที่ทำเพื่อแลกกับคน แลกกับชีวิตมนุษย์ เราต้องเป็นผู้ให้ อย่าเป็นผู้รับ เวลาที่เราเป็นข้าราชการ เราต้องนึกเสมอว่า จะทำอย่างไรที่จะมีโอกาส "ให้" ให้ประชาชนมีความสุข ให้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยเขาพ้นทุกข์ได้ มันไม่มีอะไรมากนอกจากการให้"

         และนอกจากพี่ติ๋งแล้ว ข้ามไปยังพื้นที่สุดเขตชายแดนในตำบลทับพริก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีข้าราชการไทยอีกหนึ่งรายที่ทำงานด้วยจิตใจมุ่งมั่น และให้ดูแลผู้ป่วยอย่างไม่ย่อท้อ



วิชิต คำไกร เจ้าของรางวัลคนดีของแผ่นดินปี 2


         หลังจาก "วิชิต คำไกร" เด็กชายจากครอบครัวชาวนาจังหวัดปราจีนบุรี จบการศึกษาจากวิทยาลัยสุขภาพ จังหวัดชลบุรี เขาก็ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิตด้วยการเลือกบรรจุตัวเองทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทับพริก ในฐานะ "เจ้าพนักงานสาธารณสุขอาวุโส" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "หมออนามัย" คอยทำงานดูแลชาวบ้านในพื้นที่แห่งนี้

         แม้ว่าตำบลทับพริกแห่งนี้ จะเป็นพื้นที่ติดชายแดน สภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างแร้นแค้น และยังเต็มไปด้วยปัญหาเชิงสังคมอย่างหลากหลาย ทั้งแรงงานอพยพ ยาเสพติด ปัญหาครอบครัวเด็กถูกทารุณ และโรคเอดส์ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำให้คุณหมออนามัยคนนี้เดินถอยหลังต่อความมุ่งมั่นของเขา

         ภารกิจหลักของ "หมอวิชิต" เจ้าของรางวัลคนดีของแผ่นดินปี 2 ไม่ได้แตกต่างจาก "พี่ติ๋ง" มากนัก เพราะนอกจากการทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลแล้ว หมอวิชิต ก็ยังลงพื้นที่ไปเคาะประตูดูแลผู้ป่วยถึงบ้านแทบทุกหลังคาเรือน ด้วยความรู้สึกที่ว่า ชาวบ้านเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เป็นคนในชุมชนเดียวกัน ต้องลงไปไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ 

         หากคนนอกพื้นที่ได้เห็นข้าวของที่คุณหมอนำติดตัวลงไปฝากคนไข้ทุกครั้ง อาจจะแปลกใจที่สิ่งของเหล่านั้นเป็นข้าวสาร อาหารแห้ง ไม่ใช่หยูกยาตามที่ควรจะเป็น โดยคุณหมอวิชิตให้เหตุผลว่า เพราะข้าวสารอาหารแห้งพวกนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตขอคนไข้ ส่วนหยูกยาต่าง ๆ คนไข้จะได้รับมาจากโรงพยาบาลอยู่แล้ว ส่วนพวกเขาก็เพียงแค่มาแนะนำผู้ป่วยให้ปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง



เพ็ญลักขณา ขำเลิศ  เจ้าของรางวัลคนดีของแผ่นดินปี 2


         "สิ่งที่ผู้ป่วยจะได้คือกำลังใจ มันเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพราะเราเปรียบเสมือนว่า เตียงของผู้ป่วยอยู่ที่บ้าน เราต้องมาหาพวกเขา" หมอวิชิต บอกถึงหลักการการทำงาน

         หลายคนที่ได้ยินคำว่า "ชายแดน" คงจะนึกถึงแต่ภาพของความยากลำบาก และแทบไม่มีใครอยากจะย้ายสำมะโนครัวมาอยู่ยังพื้นที่ห่างไกลเช่นนี้นัก แต่สำหรับคุณหมอวิชิตเอง เขากลับบอกว่า พลังใจที่ทำให้เขาตัดสินใจขอมาทำงานยังพื้นที่ชายแดนแห่งนี้ เพราะได้เห็นความทุกข์ยากของคนไข้ในเขตชายแดนที่ห่างไกล และคิดไปถึงตัวเองที่เป็นลูกชาวนาในพื้นที่ทุรกันดารเช่นกัน จึงตัดสินใจลงมาทำงานยังที่ตำบลทับพริก

         "เราเป็นข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงบอกว่า เมื่อจะทำงานอย่ายกเอาความขาดแคลนมาเป็นข้ออ้าง แต่ให้ทำงานท่ามกลางความขาดแคลนนั้นให้บรรลุผล เพราะฉะนั้นความขาดแคลนในพื้นที่ตำบลทับพริกอาจจะมีบ้าง แต่เราต้องแปรเปลี่ยนความขาดแคลนนั้นให้เป็นพลังในการที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็จะทำให้เรามีพลังใจในการทำงานช่วยเหลือผู้อื่น"

         และไม่เพียงแต่การดูแลรักษาคนไข้ หรือให้คำปรึกษาในทุกโมงยามเท่านั้น แต่เมื่อหมดเวลางานแล้ว คุณหมอยังผันตัวเองไปทำหน้าที่เพื่อชุมชนหลายอย่าง อย่างเช่น การลงพื้นที่ตระเวนตรวจความเรียบร้อยของหมู่บ้าน ร่วมกับผู้นำชุมชน เพื่อป้องปรามปัญหายาเสพติดในหมู่เยาวชนภายในตำบลทับพริก โดยหวังขจัดปัญหาต่าง ๆ และยกระดับชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งเป็นงานที่คุณหมอลงมาทำด้วยตัวเองด้วยจิตใจที่หวังให้ประโยชน์เกิดแก่ชาวชุมชนด้วยกัน



วิชิต คำไกร เจ้าของรางวัลคนดีของแผ่นดินปี 2


         เห็นภาพการทำงานของทั้งสองคนที่ทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้วจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมทั้ง "คุณหมอวิชิต คำไกร" และ "เพ็ญลักขณา ขำเลิศ" จึงได้รับรางวัลข้าราชการต้นแบบ คนดีของแผ่นดินจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ บนเวทีคนค้นฅนแห่งนี้

         "ดีใจที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และได้มาเป็นพยาบาล เพราะอาชีพของเราส่งเสริมให้เราทำประโยชน์เพื่อคนอื่นได้ด้วย อันนี้พี่ดีใจ" นี่คือคำพูดจากใจของพี่ติ๋ง "เพ็ญลักขณา ขำเลิศ" หลังได้รับรางวัล

         "ตำแหน่งหรือยศถาบรรดาศักดิ์ที่สูงขึ้นนั้น อาจจะไม่มีความจำเป็นกับชีวิตมากเท่าไหร่นัก แต่ความสำเร็จของงานทำให้เราภาคภูมิใจในสิ่งนั้นมากกว่า เพราะอัตลักษณ์ และคำตอบของการทำงานของผมอยู่ที่ชุมชน นั่นก็คือความอยู่ดีมีสุขของคนรากหญ้า" หมอวิชิต ทิ้งท้าย


 

เพ็ญลักขณา ขำเลิศ  -  วิชิต คำไกร เจ้าของรางวัลคนดีของแผ่นดินปี 2




เพ็ญลักขณา ขำเลิศ  -  วิชิต คำไกร เจ้าของรางวัลคนดีของแผ่นดินปี 2




เพ็ญลักขณา ขำเลิศ  -  วิชิต คำไกร เจ้าของรางวัลคนดีของแผ่นดินปี 2








ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจาะชีวิต 2 บุคลากรการแพทย์ ทุ่มหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ อัปเดตล่าสุด 31 กรกฎาคม 2554 เวลา 15:32:13 82,245 อ่าน
TOP