เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก youtube.com โพสต์โดย LadyBimbettes
หากพูดชื่อ "น้องเดียว" หรือ บัญญัติ สุวรรณแว่นทอง เชื่อว่าคนใต้หลายคนคงรู้จักเขาเป็นอย่างดี ในฐานะนายหนังตะลุงเมืองคอน ผู้สร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชม หลายปีที่ผ่านมา ลูกเด็กเล็กแดง วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ตลอดจนคนเฒ่าคนแก่ ล้วนแต่ติดใจในฝีไม้ลายมือของนายหนังตะลุงหนุ่มคนนี้เป็นอย่างมาก แต่เชื่อไหมว่า...นายหนังตะลุง ผู้เนรมิตโลกของเงาให้ผู้ชมได้มีความสุขคนนี้ จริง ๆ แล้ว เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกมืดมาตลอดกว่า 20 ปี นั่นเพราะดวงตาของเขาไม่สามารถมองเห็นอะไรได้เลย ตั้งแต่เขามีอายุเพียงแค่ 2 ขวบ
น่าพิศวงไม่น้อย ที่ผู้พิการทางสายตาอย่าง "น้องเดียว" สามารถฝึกฝนตัวเองจนกลายเป็นนายหนังตะลุงชื่อดัง ครองใจพ่อยก แม่ยก ไปทั่วภาคใต้ เขาสามารถผลักดันพรสวรรค์ของตัวเองออกมาได้อย่างไร ลองไปติดตามเรื่องราวของหนุ่มนักสู้ชีวิตคนนี้ ในรายการคนค้นฅนกันค่ะ
น้องเดียว นายหนังตะลุงชื่อดังในวัยเพียง 23 ปี ซึ่งตาบอดสนิทมาตั้งแต่ 2 ขวบ บอกว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาชอบหนังตะลุงเริ่มมาจากการที่เขาได้ฟังม้วนเทปหนังตะลุงของยาย ซึ่งมีอยู่แค่ม้วนเดียว แต่ฟังไปฟังมาหลายสิบรอบ จนหลงเสน่ห์ในศาสตร์และศิลป์ของการพากย์เสียงหนังตะลุงไปโดยไม่รู้ตัว
จากนั้น น้องเดียว ก็ได้เริ่มฝึกหัดร้องเพลงตอนอายุ 10 ขวบ มีโอกาสได้ร้องตามงานบ้าง ส่วนหนังตะลุงมาเริ่มจับจริง ๆ ตอนอายุ 15 ปี ซึ่งครั้งแรกที่ได้จับหนังตะลุง น้องเดียวบอกว่า รู้สึกชอบมาก แม้จะมองไม่เห็นความงดงามของหนังตะลุงที่ได้รับมาก็ตาม และโชคดีอย่างมากที่มีหลายคนมาช่วยสอนให้เขาหัดเชิดหนังตะลุงจนสามารถเชิดเป็น จึงได้ฝึกฝนตัวเองเรื่อยมา
กระทั่งวันหนึ่ง น้องเดียวกับเพื่อน ๆ ก็ได้ใช้หนังตะลุง 7 ตัวที่มีอยู่ เปิดการแสดงครั้งแรกแบบเล่น ๆ ตรงเพิงหน้าร้านขนมจีน ซึ่งปรากฏว่า ชาวบ้านที่มามุงดูต่างชอบอกชอบใจกันยกใหญ่ และการแสดงหนังตะลุงครั้งนั้นก็เป็นจุดเปลี่ยนให้น้องเดียวได้มีโอกาสไปแสดงพรสวรรค์ด้านนี้ตามงานต่าง ๆ ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับดีมากกลับมาทุกครั้ง นั่นเพราะเอกลักษณ์การพากย์เสียงหนังตะลุงของน้องเดียวที่สามารถพากย์ได้หลายเสียง ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้ชาย ผู้หญิง คนแก่ แถมยังหยอดมุกตลกอยู่เสมอ ก็ทำให้เขาสามารถสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมจำนวนมาก จนผู้ชมเหล่านี้ติดใจในฝีไม้ลายมือของน้องเดียว และบอกกันปากต่อปาก
เชื่อไหมว่า เมื่อหนังตะลุง "คณะน้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม" ไปเปิดการแสดงที่ไหน เราก็จะได้เห็นภาพของพ่อแม่พี่น้องพากันหอบลูกจูงหลานมาจับจองที่นั่งหน้าเวทีกันตั้งแต่หัววัน เพื่อจะได้นั่งชมการแสดงหนังตะลุงของน้องเดียวชัด ๆ แถมเมื่อการแสดงสิ้นสุดลง ก็ยังมีแม่ยก พ่อยก พี่้ป้าน้าอาที่ชื่นชอบน้องเดียว เดินตามไปส่งที่รถ และมารุมล้อมต่อคิวขอถ่ายรูปน้องเดียวเป็นจำนวนมาก ไม่แพ้ซูเปอร์สตาร์ดัง ๆ ในเมืองไทยเลยทีเดียว ซึ่งน้องเดียวบอกว่า ถึงตอนนี้คิวการแสดงหนังตะลุงของเขาเต็มไปถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2557 แล้ว
อย่างไรก็ตาม น้องเดียว ก็บอกว่า แม้จะมีงานเข้ามาเยอะ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะรวย เพราะค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งค่อนข้างสูง อีกทั้งบางงานรับไว้ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ในราคาหนึ่ง แต่เมื่อถึงวันแสดงจริง ค่าใช้จ่าย ค่ารถ ค่าน้ำมัน ฯลฯ ปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่เขาก็ไม่เรียกเก็บค่าจ้างเพิ่ม เพราะถือว่าต้องมีสัจจะ และแม้ว่าบางครั้งค่าจ้างจะได้ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่น้องเดียวก็ยืนยันว่า แสดงเต็มที่ทุกงาน ไม่มีออมมืออย่างเด็ดขาด เพราะเขาถือคติว่า ต้องทำได้ดีที่สุด และคุ้มค่ากับที่เจ้าภาพเลือกคณะของเขามาแสดง
"สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องทำให้ผู้ชมที่มาดูมีความสุขให้ได้ เพราะพวกเขาเสียสละเวลาพักผ่อนมาให้กำลังใจเรา เราจึงต้องมอบอะไรให้กับเขากลับไป จะได้ไม่เป็นการเอาเปรียบประชาชน" น้องเดียว บอก
หลายคนสงสัยว่า น้องเดียว สามารถเล่นหนังตะลุงได้อย่างไรทั้งที่ตามองไม่เห็น เขาบอกว่า ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน และความคุ้นเคย ซึ่งต้องจดจำลักษณะของหนังตะลุงแต่ละตัวให้ได้ เช่น ไม้จับอ่อนหรือแข็ง ลักษณะของหนังเป็นแบบไหน อาวุธที่ตัวละครถือ ลักษณะทรงผม ฯลฯ ซึ่งหากจำได้ก็ทำให้ทราบว่ากำลังเล่น ตัวไหนอยู่ นอกจากนั้นแล้ว เขาต้องดูสถานการณ์ด้วย ไม่ใช่เล่นไปตามบท ตามเค้าโครงเรื่องอย่างเดียว ไม่เช่นนั้นคนดูจะไม่สนุก ไม่ได้อรรถรส ดังนั้น บางครั้ง เขาก็ต้องปล่อยมุกสด ๆ ออกมาด้วย ส่วนเรื่องการฝึกเสียง เขาฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะได้ยินมาตลอด
นอกจากพรสวรรค์ด้านการพากย์เสียงหนังตะลุงที่ครองใจแฟนเพลงแล้ว น้องเดียวยังสามารถร้องเพลงได้ไพเราะ แถมยังเล่นคีย์บอร์ดได้ด้วย จึงมักจะขับกล่อมบทเพลงซึ้ง ๆ ให้ผู้ชมได้รับฟังคั่นเวลาเป็นประจำ แล้วรู้ไหมว่า บทเพลงส่วนใหญ่ที่น้องเดียวนำมาขับร้องนั้น เป็นผลงานการแต่งเพลงของ "ฉลอง ตี้กุล" ชายพิการวัย 46 ปี ที่ป่วยเป็นอัมพาต ซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่พี่ฉลองก็ตั้งใจแต่งเพลงให้น้องเดียวโดยเฉพาะ เพราะชื่นชมน้องเดียวที่แม้จะตาบอด แต่ก็ยังมีความสามารถเชิดหนังตะลุงได้ดีเยี่ยม
พี่ฉลอง เล่าว่า เขาได้ชมการแสดงของน้องเดียวในซีดี แล้วรู้สึกประทับใจมาก จึงอยากแต่งเพลงให้ โดยเขียนเนื้อเพลงในโทรศัพท์ จากนั้นก็โทรไปตามเบอร์ที่เขียนอยู่บนปกซีดีหนังตะลุง และร้องเพลงที่เขาแต่งให้น้องเดียวฟัง ปรากฏว่า น้องเดียวชอบเพลงของเขามาก จึงได้เข้ามาคุย และนำไปร้องจนออกเป็นอัลบั้มขายดิบขายดีติดอันดับในภาคใต้ ซึ่งสิ่งที่เขาทำนี้ ทำให้เขารู้สึกภูมิใจมาก และทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น ไม่ได้อยู่ลอย ๆ ไปวัน ๆ ขณะที่น้องเดียวเองก็ภูมิใจที่ได้รู้จักกับพี่ฉลอง และรับรู้ว่า พี่ฉลองลำบากกว่าเขามาก จึงตั้งใจจะดูแลพี่ฉลองให้ดีที่สุด
เมื่อถามน้องเดียวว่า อะไรคือสิ่งที่มีความสุขที่สุดในการแสดงหนังตะลุง เขาบอกว่า หากเป็นช่วงที่กำลังแสดงอยู่ เสียงหัวเราะของผู้ชมคือสิ่งที่ทำให้เขามีความสุขมากที่สุด ยิ่งคนหัวเราะมากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งมีความสุขมากที่ทำให้คนปลดทุกข์ได้ ซึ่งก็ทำให้เขามีกำลังใจตามไปด้วย และเมื่อการแสดงจบลง การที่มีคนเฒ่าคนแก่เข้ามาอวยพรด้วยความรักและความเมตตา ก็ยิ่งทำให้เขาภาคภูมิใจอย่างมากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เขามีความสุขทุกครั้ง
"ยอมรับว่าที่คนให้ความชื่นชอบเราขนาดนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคะแนนสงสาร แต่อีกส่วนคือเพราะเราประพฤติตัวในทางที่ถูกต้อง หากคนตาบอดเล่นไม่ดี คนก็ไม่ดู จริง ๆ ที่ผมภูมิใจมากก็คือ ช่วงนี้หนังตะลุงกลับมาบูมอีกครั้งหนึ่ง เมื่อก่อนหนังตะลุงซบเซามาก ไม่มีใครดูแล้ว แต่ตอนนี้หนังตะลุงมีงานทุกคณะ ผมภูมิใจมากที่ทำให้หนังตะลุงกลับมาได้ ผมพยายามทำอย่างนี้มาตั้งแต่รุ่นบรมครู แต่ก็เคยถูกต่อว่า ว่าผมทำให้หนังตะลุงเสียศูนย์ ที่นำหนังตะลุงมาประยุกต์ใหม่เป็นแบบนี้ แต่จริง ๆ ผมตั้งใจจะทำให้หนังตะลุงน่าดูกว่าเดิม มันไม่ใช่การเสียศูนย์ ผมไม่ได้ฆ่าหนังตะลุง แต่ทำให้หนังตะลุงฟื้นคืนมา" น้องเดียว ทิ้งท้าย
ไม่น่าเชื่อว่า หนังตะลุงที่ซบเซาไปช่วงหนึ่ง บัดนี้ถูกชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยฝีมือของน้องเดียว เด็กหนุ่มผู้มุ่งมั่น และหลงรักในศาสตร์หนังตะลุงเป็นชีวิตจิตใจ แม้ว่าสิ่งที่เขา "ขาด" หายไปคือ ดวงตาทั้ง 2 ข้าง แต่มาวันนี้ เขากลับ "ได้" หัวใจของคนอีกเป็นร้อยเป็นพันที่ปลาบปลื้มและชื่นชมหนุ่มพิการผู้เข้มแข็ง และมีหัวใจเกินร้อยคนนี้มาแทนที่
คลิป น้องเดียว คนเล่นเงาในโลกมืด จากรายการคนค้นฅน