ประวัติตะกร้อ กีฬาระดับภูมิภาคเอเชีย

          ตะกร้อ หรือ เซปักตะกร้อ เป็นกีฬาความหวังเหรียญทองของประเทศไทยในการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาค หรือทวีปเอเชียอย่างซีเกมส์ และเอเชี่ยนเกมส์ มาอย่างยาวนาน และวันนี้เราจะมารู้จักกับกฎกติกาการเล่นตะกร้อคร่าว ๆ กัน

การแข่งขันตะกร้อ
 


ประวัติเซปักตะกร้อ


          กีฬาเซปักตะกร้อ หรือ ตะกร้อ ยังไม่มีหลักฐานระบุที่แน่ชัดว่ามีจุดกำเนิดจากประเทศใด เพราะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง ไทย มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ ต่างคนต่างบอกว่าตนเองเป็นต้นกำเนิดขึ้นมาทั้งนั้น แต่สำหรับของไทย มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา นิยมเล่นกันบนลานกว้าง ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น และลูกตะกร้อทำมาจากหวาย หรือบางทีก็มีเตะตะกร้อลอดห่วง

          สำหรับตะกร้อแบบข้ามตาข่ายในปัจจุบัน ที่มีการเล่นฝั่งละ 3 คน นำมาจากประเทศมาเลเซีย คือ เซปัก รากา จาริง หรือ เซปักตะกร้อ ซึ่งดัดแปลงมาจากวอลเลย์บอล และย่อสนามให้เล็กลง โดยที่เริ่มเผยแพร่ในประเทศไทยประมาณเดือนมีนาคม - เมษายน พ.ศ. 2508 ในงานกีฬาไท

 

กติกาการเล่นตะกร้อ


สนามตะกร้อ

สนามตะกร้อ


          สนามเซปักตะกร้อ เป็นรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาว 13.4 เมตร กว้าง 6.1 เมตร เป็นพื้นพลาสติก โดยจะแบ่งเขตแดนออกเป็น 2 ส่วน เท่า ๆ กัน และในแต่ละเขตแดนจะกำหนดจุดยืนสำหรับการเริ่มต้นเสิร์ฟ 3 จุดด้วยกัน คือ จุดที่อยู่ตรงมุมที่ติดกับตาข่าย 2 จุด ขีดเส้นโค้งวงกลมเอาไว้ และจุดที่อยู่กลางแดน เยื้องไปทางด้านหลัง 1 จุด ขีดเส้นวงกลม โดยทั้ง 3 จุดนี้จะจัดเป็นรูปสามเหลี่ยมสมมาตรพอดี
 
          สำหรับมุมที่ติดกับตาข่าย 2 จุด เรียกว่า หน้าซ้าย หน้าขวา และวงกลมที่อยู่กลางเขตแดน คือ จุดเสิร์ฟ

ตาข่าย


          ตาข่ายสำหรับเซปักตะกร้อ มีไว้กั้นเขตแดนระหว่างสองฝั่ง กว้าง 70 เซนติเมตร ยาวไม่น้อยกว่า 6.1 เมตร โดยสำหรับการแข่งขันของผู้ชายสูง 1.52 เมตร และหญิง สูง 1.42 เมตร
 ลูกเซปักตะกร้อ

ลูกเซปักตะกร้อ


          ลูกเซปักตะกร้อปัจจุบันทำมาจากพลาสติก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 42-45 เซนติเมตร มีรูอยู่ตรงลูกตะกร้อรวม 12 รูด้วยกัน มีจุดตัดไขว้ 20 จุด

 ผู้เล่น

ผู้เล่น


          การเล่นตะกร้อ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ ตะกร้อปกติที่มี 3 คน และตะกร้อคู่ 2 คน กล่าวคือ เมื่อก่อนมีแต่การแข่งขันตะกร้อปกติ ทว่าเพิ่มตะกร้อแบบคู่ขึ้นมา เพราะต้องการกระจายเหรียญทองของกีฬาชนิดนี้ได้มากขึ้น

การแข่งขันตะกร้อ

วิธีการเล่น


          จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มเสิร์ฟ เตะข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง โดยที่ฝ่ายที่ได้ลูกตะกร้อต้องพยายามเตะตะกร้อให้ตกลงพื้นของอีกฝั่งให้ได้ ขณะที่ฝ่ายตั้งรับก็ต้องป้องกัน ไม่ให้ลูกตะกร้อตกลงบนแดนตัวเอง และเปลี่ยนสภาพเป็นฝ่ายบุกเพื่อทำให้ลูกตะกร้อตกลงบนแดนของอีกฝั่งให้ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ แต่ละฝ่ายจะมีโอกาสเตะลูกตะกร้อให้อยู่ในแดนตัวเองไม่เกิน 3 ครั้ง นับตั้งแต่ฝ่ายตรงข้ามเตะตะกร้อข้ามมา

          ส่วนการเสิร์ฟ ผลัดกันเสิร์ฟ ทีมละ 3 ครั้ง สลับกันไปเรื่อย ๆ

การคิดคะแนน


          1. สามารถเตะลูกตะกร้อลงบนแดนฝั่งตรงข้ามได้ ได้ 1 คะแนน (รวมการเสิร์ฟ)

          2. ฝ่ายตรงข้ามเตะลูกตะกร้อไม่ข้ามเน็ต ได้ 1 คะแนน (รวมการเสิร์ฟ)

          3. ฝ่ายตรงข้ามเตะข้ามแดนมาแล้ว แต่บอลไม่ตกในเขตแดนที่ระบุ ได้ 1 คะแนน

          การแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 ใน 5 เซต แต่ละเซต ใครทำได้ถึง 15 คะแนนก่อน ได้เซตนั้น ยกเว้น เสมอกัน 14-14  จะมีผู้ได้เซตก็ต่อเมื่อทำแต้มทิ้งขาด 2 คะแนน แต่แต้มสูงสุดทั้งหมดจะไม่เกิน 17 คะแนน

          และนี่ก็คือประวัติตระกร้อพร้อมกติกาการแข่งขันที่ควรทราบในเบื้องต้น ซึ่งกว่ากฎกติกาต่าง ๆ จะมาเป็นแบบนี้ก็ผ่านการเปลี่ยนมาหลายรอบ โดยที่ทำให้การแข่งขันสนุกขึ้น และมีโอกาสถูกดันเข้าสู่โอลิมปิกเกมส์ในอนาคตต่อไป


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก takraw.or.th/t
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติตะกร้อ กีฬาระดับภูมิภาคเอเชีย อัปเดตล่าสุด 13 มิถุนายน 2567 เวลา 17:36:00 692,735 อ่าน
TOP
x close